3 บริษัทยาระดับโลกประกาศเจตนารมณ์ต้านโกงเข้าเป็นแนวร่วม CAC
3 บริษัทยา Astellas Pharma (Thailand), Boehringer Ingelheim (Thai) และ Novartis (Thailand) ประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมการต่อต้านคอร์รัปชันในภาคธุรกิจ กับแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต CAC
วันที่ 21 พ.ย. 2560 ดร. บัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการ แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) เปิดเผยว่า 3 บริษัทยายักษ์ใหญ่ระดับโลกที่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) ได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ CAC พร้อมกันในงานสัมมนาประจำปีของ CAC
3 บริษัทยาที่เข้ามาร่วมประกาศเจตนารมณ์กับ CAC ประกอบด้วย Astellas Pharma (Thailand), Boehringer Ingelheim (Thai) และ Novartis (Thailand)
“เท่าที่ผ่านมา บริษัทที่รวมตัวเข้ามาประกาศเจตนารมณ์กับ CAC พร้อมกันเป็นกลุ่มเช่นนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคการเงิน การที่ธุรกิจยาซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญในภาคการผลิตผนึกกำลังกันเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายธุรกิจสะอาด ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอร์รัปชัน และจับมือกันเข้ามาร่วมแบบเป็นกลุ่มเป็นก้อน ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนของ CAC สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ผมมั่นใจว่าในระยะต่อไปจะต้องมีธุรกิจอื่นๆ รวมตัวกันเข้ามาร่วมกับ CAC ในลักษณะนี้อีกมากขึ้นเรื่อยๆ และการทำธุรกิจอย่างโปร่งใสจะกลายเป็นกระแสหลักของธุรกิจไทยได้ในที่สุด” ดร. บัณฑิต กล่าว
การลงนามประกาศเจตนารมณ์ของสามบริษัทสมาชิก PReMA จัดขึ้นในงานสัมมนาประจำปีครั้งที่ 8 ของ CAC ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อ “Bright spots: จุดประกายเพื่อนำทางไปสู่สังคมที่ปราศจากการคอร์รัปชัน” ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ
ในปัจจุบัน มีจำนวนบริษัทเอกชนที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต ไม่รับ-ไม่จ่าย สินบนในการทำธุรกิจตามโครงการ CAC แล้วทั้งสิ้น 861 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้มีบริษัทที่ผ่านการรับรองว่ามีนโยบายและมีแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนดแล้ว 284 บริษัท โดย CAC กำหนดให้บริษัทที่ยื่นประกาศเจตนารมณ์ต้องดำเนินการให้ผ่านการรับรองภายใน 18 เดือน
CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจ การประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ CAC เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมต่อต้านคอร์รัปชันและการจ่ายสินบนของบริษัท ส่วนบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC หมายถึงบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC และได้ผ่านกระบวนการประเมินตนเอง ที่มีการสอบทานและลงนามรับรองโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท หรือผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก ว่าบริษัทมีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด ดังนั้น การรับรองโดยโครงการ CAC เป็นการรับรองว่าบริษัทมีนโยบาย และระบบป้องกันคอร์รัปชันและการให้สินบน ทั้งนี้ ไม่ได้รับรองพฤติกรรมของตัวบุคคลในบริษัท