'ซีอีโอซีพี'เสนอไทยยกระดับภาคเกษตรสู่ยุค 4.0 เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลก
CEO เครือซีพี ร่วมเวทีประชุม 'World Economic Forum (WEF)' เสนอแนวทางยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยต้องเปลี่ยนภาคเกษตรจากยุค 1.0 สู่ยุค 4.0 ชี้เกษตรกรทันสมัย (Smart Farmers) เป็นทางเลือกหนึ่งทำให้ประเทศหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง
เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2560 ที่ห้องพิมานแมน โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ องค์กรระดับโลก World Economic Forum หรือ WEF กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ได้ร่วมกันจัดการประชุม “Competitiveness and Inclusive Growth: Navigating towards Thailand 4.0” เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้แทนในทุกภาคส่วนเกี่ยวกับประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการในการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย เพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศในอนาคต สู่การเป็นประเทศไทย 4.0 ในการนี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับเชิญให้ร่วมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ Identifying national priorities โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.กระทรวงพาณิชย์ นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ซีอีโอ ปตท. นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ซีอีโอ ไทยเบฟ และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุญเจริญ ซีอีโอ SPCG (Solar) ดำเนินการอภิปรายโดย Justin Wood Head of Regional Strategies - Asia Pacific, Member of the Executive Committe, World Economic Forum Geneva
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอ เครือซีพี กล่าวให้ความเห็นโดยสรุปว่า 1 ในแนวทางสำคัญที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย คือการเปลี่ยนผ่านภาคเกษตรของไทยจากยุค 1.0 ไปสู่ยุค 4.0 ทั้งนี้เพราะประเทศไทยมีประชาชนที่อยู่ในภาคเกษตรกว่า 40% หากสามารถเปลี่ยนผ่านภาคเกษตรของไทยให้ก้าวสู่การเป็นเกษตรทันสมัย หรือ Smart Farmers ก็จะเป็นอีกทางหนึ่งในการทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ทำให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น
นายศุภชัย กล่าวต่อไปว่า ในฐานะภาคเอกชนได้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลชุดนี้ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทยในเรื่องที่สำคัญอีก 3 เรื่อง ได้แก่ หนึ่ง การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและการจัดทำเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) หรือ โครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น สอง การปฏิรูปการศึกษา ตามโครงการประชารัฐ รัฐบาลได้สร้างรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐเอกชน และประชาสังคมที่เรียกว่า "ประชารัฐ" หรืออีกนัยหนึ่ง คือ "PPP" (Public-Private-Partnership) ก่อให้เกิดกระบวนทัศน์ใหม่ (New Paradigm) ในการร่วมมือกันทำงาน และ สาม ความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้เครือซีพีมีความเต็มใจและพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ประเทศไทยของเรา
ในการประชุมนี้ นายนพปฎล เดชอุดม รองประธาน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมประชุมเพื่อระดมสมองในหัวข้อ Innovation Capacity ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ประเด็นหลักที่ WEF มองว่า จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย โดยนายนพปฎลและผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐและเอกชนที่ได้รับโจทย์ในประเด็นนี้ได้หารือกันเกี่ยวกับการสร้างระบบนิเวศทางนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ที่จะนำไปสู่เป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมของประเทศไทย
อนึ่ง จากการจัดอันดับตาม Global Competitiveness Index (GCI) ของ WEF ประเทศไทยได้พัฒนาความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้นในปี ค.ศ. 2017 – 2018 ดีขึ้นจากอันดับที่ 34 เมื่อปีก่อนหน้า มาอยู่ที่อันดับที่ 32 จาก 137 ประเทศทั่วโลกในปีนี้ ความสามารถทางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการเพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐในการกำกับติดตามแผนงานและโครงการการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม การเร่งรัดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการประยุกต์ใช้นวัตกรรม และการแก้ไขและปรับลดเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของภาคธุรกิจ