ยูนิเซฟชี้เด็ก 180 ล้านคนทั่วโลกเผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายกว่ารุ่นพ่อแม่
เนื่องในวันเด็กสากล ยูนิเซฟชี้เด็ก 180 ล้านคนทั่วโลกเผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายกว่ารุ่นพ่อแม่ ชี้ว่า เด็ก 180 ล้านคนใน 37 ประเทศมีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่อย่างแร้นแค้น ต้องออกจากโรงเรียน หรือถูกฆ่าตายอย่างทารุณ มากกว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในประเทศเหล่านี้เมื่อ 20 ปีก่อน
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 เนื่องในวันเด็กสากลซึ่งเป็นวันครบรอบของการรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ในปีนี้ยูนิเซฟได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์เด็ก โดยพบว่า แม้ประเด็นด้านความเป็นอยู่ของเด็กจะมีความก้าวหน้าดีขึ้นในทั่วโลก แต่เด็ก 1 ใน 12 คนยังคงอาศัยอยู่ในประเทศที่สถานการณ์ทุกวันนี้เลวร้ายยิ่งกว่ารุ่นพ่อแม่ของพวกเขา
ผลการวิเคราะห์บ่งชี้ว่า เด็ก 180 ล้านคนใน 37 ประเทศมีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่อย่างแร้นแค้น ต้องออกจากโรงเรียน หรือถูกฆ่าตายอย่างทารุณ มากกว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในประเทศเหล่านี้เมื่อ 20 ปีก่อน
ในโอกาสวันสิทธิเด็กสากล ประเทศไทยได้จัดเวทีสิทธิเด็กขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา มีตัวแทนเด็กและเยาวชนกว่า 200 คน จากสภาเด็กและเยาวชนและเครือข่ายเยาวชนจากทั่วประเทศได้จัดประชุมวิสามัญสภาเด็กและเยาวชน และพิธีประกาศเจตนารมณ์ยุติความรุนแรงต่อเด็กขึ้นที่รัฐสภา โดยตัวแทนเด็กทั้งหมดเข้านั่งในห้องประชุมรัฐสภาและได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงต่อเด็กในประเทศไทย พร้อมประกาศเจตนารมณ์ของเด็กและเยาวชนโดยเรียกร้องให้รัฐบาลสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนเพื่อให้พวกเขามีทักษะในการจัดการกับปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง และให้มีระบบบริการทางสังคมที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อเด็กและเยาวชน
นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประเทศไทย กล่าวว่า “ความคิดเห็นของเด็กเป็นสิ่งสำคัญ และเมื่อพวกเขาพูด เราจะต้องรับฟัง เสียงของเด็กทำให้เรารู้ว่าพวกเขาต้องการอะไร และอะไรคือปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญ นอกจากนี้ เรายังต้องทำงานร่วมกับเด็กและเยาวชน เปิดโอกาสให้พวกเขาแสดงความคิดเห็น และพัฒนาศักยภาพของพวกเขา และร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน เด็กๆ จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของพวกเขาทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก”
แม้ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าไปมากในการพัฒนาสุขภาพและความเป็นอยู่ของเด็กในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ยังคงมีปัญหาหลายด้านที่ยังคงน่ากังวล โดยเฉพาะความรุนแรงต่อเด็กซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเด็กจำนวนมากในประเทศไทย ข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุขในพ.ศ. 2558 ซึ่งรวบรวมจากศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาล พบว่า มีเด็กจำนวนเกือบ 11,000 คน หรือราว 30 คนต่อวัน เข้ารับการรักษาพยาบาลจากการถูกกระทำรุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงทางเพศ ในขณะที่ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2559 ที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ให้เห็นว่า เด็ก 3 ใน 4 คนที่มีอายุระหว่าง 1-14 ปีถูกสมาชิกครอบครัวลงโทษทางร่างกายหรือจิตใจภายในเดือนก่อนการสำรวจ
นอกจากนี้ ในเดือนพฤศจิกายน ยูนิเซฟได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนจำนวน 1,118 คนในประเทศไทยผ่านเครือข่ายยูรีพอร์ต ซึ่งพบว่า ร้อยละ 86 ของเยาวชนที่ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า พวกเขาเคยมีประสบการณ์หรือพบเห็นความรุนแรงในโรงเรียน แต่เกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 42) ไม่ได้บอกให้ใครทราบถึงเหตุการณ์ดังกล่าว
นายปุณณพัทธ์ อรุณิชย์ตระกูล ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ซึ่งยื่นประกาศเจตนารมณ์ของเด็กๆ ต่อพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “นอกจากเด็กและเยาวชนจะต้องมีทักษะในการปกป้องตนเองจากความรุนแรงแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องมีศักยภาพในการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากความรุนแรง และระบบคุ้มครองเด็กก็ต้องมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับความต้องการของเด็กๆ ด้วย”