เอ็นจีโอแนะ 3 กรมจัดการน้ำคายอำนาจให้ชุมชน ได้ผลกว่ารัฐ
เอ็นจีโอฉะระบบนิเวศน์พังเพราะรัฐ มองปัญหาระยะยาวไม่เป็น แนะชุมชน-ธุรกิจ-ประชาสังคม ร่วมกระแทก 3 กรมดูแลน้ำ คืนอำนาจชุมชนจัดการ พ่อคำเดื่อง เสนอรูปธรรมรับมือน้ำท่วมปลูกพืชทนแล้งในชุมชน
วันที่ 24 พ.ย. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดเสวนาเวทีชาวบ้าน “รู้ใช้ รู้ค่า ดิน น้ำ ป่า ยั่งยืน” โดย นายเอนก นาคะบุตร ที่ปรึกษาโครงการรักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล วิถีพอเพียง กล่าวว่า ขณะนี้ระบบนิเวศไทยล่มสลายหมดแล้วตั้งแต่ต้นน้ำ ปลายน้ำ ทะเลสาบถึงชายฝั่ง เพราะการจัดการของรัฐ ทั้งนี้จากกรณีน้ำท่วมที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่ารัฐไม่มีทางคิดระยะยาวได้ ชุมชน ภาคธุรกิจ และประชาสังคม ต้องจับมือกันกระแทกให้ั 3 กรมที่ดูแลเรื่องน้ำ คือกรมชลประทาน กรมป่าไม้ และกรมผังเมือง คายอำนาจให้ชุมชนจัดการระบบนิเวศน์เอง
“อย่างกรมผังเมืองพูดได้เลยว่าที่ผ่านมาทำไม่ได้เรื่องเลย การวางแผนตัดถนนไม่เคยสนใจทางไหลของน้ำ ระบบนิเวศเป็นปัญหาใหญ่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รรอให้ชุมชนจัดการตนเองทั้งหมดช้าไป เพราะภัยพิบัติต่างๆไม่ว่าจะเป็นโลกร้อน หรือวิกฤติธรรมชาติรอที่ไม่ได้ ชุมชนหรือรัฐไม่สามารถจัดการได้ลำพัง"
นายคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้าน กล่าวถึงรูปธรรมในชุมชนของตนว่ามีการเตรียมรับมือน้ำท่วม โดยการเปลี่ยนรูปแบบการปลูกพืชและพันธุ์ไม้ทนน้ำแทนพืชเดิม เช่น มะกอกน้ำ เนื่องจากประสบการณ์ที่ผ่านมาน้ำท่วมในพื้นที่ทุกปี ทำให้ชาวบ้านเรียนรู้และปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตใหม่
นางพยอม วุฒิสวัสดิ์ คณะกรรมการโครงการรักษ์ป่าฯ ต.ถืมตอง อ.เมือง จ.น่าน กล่าวถึงการจัดการป่าโดยชุมชนว่า ใช้องค์กรชุมชนและโครงการเดิมที่เคยทำมาก่อนเป็นตัวต่อยอด โดยยึดหลัก 3 เส้า คืออนุรักษ์ พัฒนา และการมีส่วนร่วม มีสภาประชาชนเป็นกลไกสำคัญในการรวมคน แบ่งบทบาทหน้าที่ ที่สำคัญคือทุกโครงการที่เข้ามาชุมชนต้องวิเคราะห์เป้าหมายให้แน่ชัดก่อนว่าสนองต่อความต้องการและการอนุรักษ์ป่าอย่างยั่งยืน หรืออีกนัยหนึ่งคือดูที่ตัวกระบวนการไม่ใช่งบประมาณ
ด้าน นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท.ฯ เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการรักษ์ป่าฯ ว่า กว่า 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าครัวเรือนอาสาที่เข้าร่วมโครงการฯ จาก 87 ตำบล ใน 58 จังหวัดทั่วประเทศ รวมกว่า 9,000 คน สามารถลดรายจ่ายรวมกันได้ถึง 170 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณ 34,000 บาทต่อครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 14 ต่อปี ทั้งนี้จากการเก็บข้อมูล ณ ปี 2552 และในจำนวนนี้ยังมี 2,000 คน ที่มีบทบาทเป็นแกนนำขับเคลื่อนตำบลอย่างเข้มแข็งกระทั่งเป็นต้นแบบต่องานพัฒนาระบบนิเวศชุมชนด้วย
นางสุภาพร มัตซึอิ เจ้าหน้าที่ประจำโครงการฯ .เกาะช้างใต้ อ.เกาะช้าง จ.ตราด กล่าวว่า โครงการใดก็ตามที่จะลงมายังชุมชน หากชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืร ชุมชนต้องมียุทธศาสตร์เพื่อสานงานต่อ ต้องวิเคราะห์ได้ว่ามีต้นทุนใดที่จะนำมาใช้ต่อยอดการพัฒนา ไม่ใช่มีเต่เงินลงมาให้ชุมชน.