ก่อนก้าวสู่รัฐบาลดิจิทัล ข้อมูลภาครัฐไทย เปิดเผย....แค่ไหน? ในอันดับโลก
ข้อมูลเปิดภาครัฐ “ต้องเป็นข้อมูลของรัฐบาลที่ถูกเปิดเผยผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึง นำไปใช้ต่อ หรือแจกจ่ายได้ โดยปราศจากข้อจำกัดใดๆ”
การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government Data) เพื่อสร้างรัฐบาลแบบเปิด (Open Government) ได้กลายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับรัฐบาลยุคปัจจุบัน ซึ่งในหลายๆ ประเทศ ต่างมีนโยบายและมีแผนที่ชัดเจนในเรื่องนี้ โดยวัตถุประสงค์หลักๆ คือการสร้างสังคมที่โปร่งใส เป็นธรรม และสร้างความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล
แม้แต่องค์การสหประชาชาติก็ได้ให้นิยาม "ข้อมูลเปิดภาครัฐ" เอาไว้ว่า “ต้องเป็นข้อมูลของรัฐบาลที่ถูกเปิดเผยผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึง นำไปใช้ต่อ หรือแจกจ่ายได้ โดยปราศจากข้อจำกัดใดๆ”
สำหรับการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไทยผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น บ้านเราได้ตั้งเป้าจะเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) โดยจะมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน การทำงานแบบอัจฉริยะ นำดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือ เพื่อสร้างภาครัฐที่สะอาด โปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วม ตรวจสอบได้
และการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (open Government Data) การนำ Big Data มาใช้ประโยชน์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ทว่าในความเป็นจริงทุกวันนี้ การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐในรูปแบบที่คอมพิวเตอร์อ่านได้สะดวกยังมีน้อย ขณะที่การเข้าถึงข้อมูลก็ยังมีอุปสรรคอยู่มาก กอรปกับคนของภาครัฐยังยึดติดข้อมูลเป็นสมบัติของชาติ ข้อมูลภาครัฐอะไรควรเปิด ข้อมูลอะไรควรปิด ก็ยังคงถกเถียงกันไม่จบสิ้น
เราลองมาดูผลการประเมินการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ Open Government Data Index ของประเทศไทย ที่จัดทำโดย Open Knowledge International เขาให้คะแนนการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐไทย ทั้งด้านกฎหมาย การพยากรณ์อากาศ การปล่อยมลพิษ ผลการเลือกตั้ง งบประมาณรายจ่ายของรัฐ การจดทะเบียนบริษัท อย่างไรกันบ้าง
เริ่มจากผลการประเมินการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐทั่วโลก ปี 2015 พบว่า ไต้หวัน กลายเป็นประเทศที่ได้คะแนนการเปิดข้อมูลภาครัฐสูงสุดอันดับ 1 รองลงมา คือ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย เดนมาร์ก โคลอมเบีย และฟินแลนด์ ส่วนไทยได้คะแนนอยู่อันดับที่ 45 จาก 133 ประเทศ
และหากเทียบผลการประเมินการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐในประเทศเอเชียด้วยกัน 5 อันดับแรกที่มีคะแนนสูงสุด คือ ไต้หวัน สิงคโปร์ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ส่วนไทยอยู่อันดับ 9
ขณะที่ภาพรวมการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐไทย ก็ยังมีข้อบกพร่องหลายๆ เรื่อง โดยชุดข้อมูลที่เรามีคะแนนนำโด่ง
- ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement tenders) ได้คะแนน 100% เพราะมีการปรับปรุงทุกเดือน ชุดข้อมูลการจัดซื้อของรัฐบาลจำนวนมากได้รับการเผยแพร่ใน data.go.th
- ข้อมูลการจดทะเบียนบริษัท (Company Register) ได้คะแนน 90% โดยพบว่า ยังมีข้อมูลที่ไม่สามารถใช้งานได้เป็นจำนวนมาก
- ข้อมูลสถิติแห่งชาติ (National Statistics) ได้คะแนน 50%
- ข้อมูลงบประมาณภาครัฐ (government budget ) ได้คะแนน 45% ซึ่งยังเป็นข้อมูลที่ต้องขออนุญาต(Openly licensed) และระบบคอมพิวเตอร์ยังไม่สามารถอ่านได้
ชุดข้อมูลที่ได้คะแนนต่ำสุด
- ข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ (government spending) ได้คะแนน 10%
- ข้อมูลการถือครองที่ดิน (land ownership) ได้คะแนน 5% เพราะไม่มีข้อมูลการครอบครองที่ดินในประเทศไทย พบเพียงในรายงานการวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ระดับนานาชาติ (https://www.fig.net/resources/proceedings/fig_proceedings/fig2010/papers/ts08k/ts08k_utesnan_3966.pdf)
รวมถึงข้อมูลคุณภาพน้ำ (Water Quality) ได้คะแนน 0% เพราะต้องลงทะเบียนการเข้าถึงข้อมูล (http://wqmonline.com/)
ส่วนข้อมูลยังอยู่ระหว่างการรวบรวม ได้แก่ ข้อมูลด้านการขนส่ง (Transport Timetables) ข้อมูลด้านสุขภาพ (Health performance )
การจัดอันดับ การให้คะแนน โดยเฉพาะความเห็น (Reviewer comments) ขององค์กรระดับนานาชาติ ก็น่าจะบ่งบอกได้ถึงความพร้อมของภาครัฐไทยได้เป็นอย่างดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ความท้าทายของการเป็นรัฐบาลดิจิทัล -มีอะไรใหม่ในปี 2561
เต็มสิบ "ไกลก้อง" ให้คะแนนไม่ถึงครึ่ง ชี้ไทยยังห่างไกล คำว่า รัฐบาลดิจิทัล
ราชการไทยจะเป็นดิจิทัล 4.0 ไม่ใช่แค่เครื่องมือ แต่ต้องลงถึงระบบคิด
มุ่งสู่รบ.ดิจิทัล "วิษณุ" ยันระบบราชการที่เคยเบื่อ เอือม จะสะดวก ง่าย เร็วขึ้น