เปิดตัว 3 จังหวัด 6 ทีม ชิงกรรมการอิสลามชายแดนใต้
ความเคลื่อนไหวเงียบๆ แต่ส่งผลสะเทือนสูงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ คือการเตรียมการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ทั้งปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในวันที่ 27 พ.ย.นี้
เป็นการดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ เช่นเดียวกับการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดอื่นๆ อีก 36 จังหวัด รวมเป็น 39 จังหวัด
"กระบวนการคัดเลือก" หรือจะเรียกว่า "เลือกตั้ง" ก็ได้ ถูกกำหนดหลักการและวิธีการไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 และกฎกระทรวงที่ออกตามมาในปี 2542
พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม หมวด 4 ว่าด้วยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มาตรา 23 สรุปความได้ว่า จังหวัดใดมีราษฎรนับถือศาสนาอิสลามและมีมัสยิด (ตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎหมายฉบับเดียวกันมาตรา 13) จำนวนไม่น้อยกว่า 3 มัสยิด ให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยประกาศให้จังหวัดนั้นมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดคณะหนึ่ง ประกอบด้วยกรรมการมีจำนวนไม่น้อยกว่า 9 คน แต่ไม่เกิน 30 คน
การคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการให้อิหม่ามประจำมัสยิดในจังหวัดนั้นเป็นผู้คัดเลือก และกระทรวงมหาดไทยต้องประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกในราชกิจานุเบกษา ซึ่งกรรมการที่ผ่านการคัดเลือกตั้ง จะไปเลือกประธาน รองประธาน และเลขานุการคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดอีกทีหนึ่ง
หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัด กำหนดไว้ในกฎกระทรวง เมื่อปี 2542 สรุปว่า เมื่อคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทยประกาศให้จังหวัดใดมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด หรือตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำจังหวัดว่างลง ให้กระทรวงมหาดไทยแจ้งให้ผู้ว่าราชการจัดให้มีการประชุมอิหม่ามประจำมัสยิดในจังหวัดนั้น เพื่อคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
ในการประชุมคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ต้องมีอิหม่ามประจำมัสยิดในจังหวัดมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนอิหม่ามประจำมัสยิดในจังหวัดนั้นเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น จึงจะเป็นองค์ประชุม และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม
ให้อิหม่ามประจำมัสยิดที่มาประชุมคนหนึ่ง มีสิทธิเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้ไม่เกินจำนวนของกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนั้น หรือไม่เกินจำนวนตำแหน่งที่ว่างลง แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อมีจำนวนเท่ากับจำนวนกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่จะทำการคัดเลือกในคราวนั้น ให้ถือว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อเหล่านั้นได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
ในกรณีที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อมีจำนวนมากกว่ากรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่จะทำการคัดเลือกในคราวนั้น ให้อิหม่ามประจำมัสยิดที่มาประชุมออกเสียงลงคะแนน
ให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดเรียงลำดับลงมาจนเท่ากับจำนวนกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่จะทำการคัดเลือก เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
ถ้ามีผู้ได้รับการคัดเลือกได้คะแนนเท่ากัน จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถเรียงลำดับได้ ให้ประธานในที่ประชุมจับสลากให้ได้ผู้ได้รับการคัดเลือกครบจำนวนกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่ต้องการ เมื่อได้ครบจำนวนแล้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัดไปยังกระทรวงมหาดไทย (จากนั้นก็ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามที่บอกไปแล้วในตอนต้น)
สำหรับคุณสมบัติของกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย คือ มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปีบริบูรณ์, เป็นมุสลิมผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด, เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในศาสนาอิสลามเป็นอย่างดี, เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามโดยเคร่งครัด, เป็นผู้มีความสัมพันธ์อันดีกับทุกศาสนา, เป็นผู้มีความเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย, ไม่เป็นผู้เคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ, ไม่เป็นผู้ทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้, ไร้ความสามารถหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
นอกจากนั้นต้องเป็น "สัปปุรุษประจำมัสยิด" ในจังหวัดนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีก่อนวันคัดเลือก (สัปปรุษประจำมัสยิด หมายถึงมุสลิมที่คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดรับเข้าเป็นสัปปุรุษ และมีชื่ออยู่ในทะเบียน เป็นมากกว่า 1 มัสยิดในเวลาเดียวกันไม่ได้) ที่สำคัญต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีก่อนวันคัดเลือก
วาระการดำรงตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด กฎหมายเขียนไว้ค่อนข้างละเอียด สรุปว่า กรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ เช่น ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับศาสนาอิสลามต่อผู้ว่าราชการจังหวัด, กำกับดูแลและตรวจตราการปฏิบัติงานของคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดในจังหวัด, ประนีประนอมหรือชี้ขาดคำร้องทุกข์ของสัปปุรุษประจำมัสยิดซึ่งเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด, ออกหนังสือรับรองการสมรสและการหย่าตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม, ประนีประนอมข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องครอบครัวและมรดกตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามเมื่อได้รับการร้องขอ เป็นต้น
จากอำนาจหน้าที่จะเห็นว่ามีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของพี่น้องมุสลิมอย่างมาก
สำหรับการเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ขณะนี้มีทีมที่เสนอตัวเป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้งหมด 6 ทีม จังหวัดที่ดุเดือดที่สุด คือ นราธิวาส มีทีมที่เสนอตัวเข้าแข่งขันถึง 3 ทีม รองลงมาคือปัตตานี 2 ทีม และยะลาเลือกเพียงกรรมการเท่านั้น เพราะประธานลงรับการคัดเลือกเพียงคนเดียว คือ นายอับดุลเราะแม เจะแซ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาอยู่ในปัจจุบัน จึงถือว่า จ.ยะลา ไม่ค่อยดุเดือด เป็นแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ
จ.ปัตตานี มี 2 ทีมได้แก่ ทีมของ นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีที่หมดวาระ กับทีมของ นายอาฮามัด แวมูซอ ผู้จัดการโรงเรียนศาสนูปถัมภ์ (ปอเนาะบานา) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก นายเด่น โต๊ะมีนา อดีตรัฐมนตรีและอดีต ส.ส.หลายสมัย
ส่วนจังหวัดที่มีการแข่งขันกันมากที่สุด คือ นราธิวาส มี 3 ทีม ได้แก่ "ทีมบาบออิง" หรือ นายซาฟีอี เจ๊ะเลาะห์ ประธานคณะกรรมการรอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสคนปัจจุบัน ต้องลุ้นว่าจะสามารถรักษาเก้าอี้ไว้ได้หรือไม่ นอกจากนั้นยังมีทีมของ นายอับดุลเราะห์มาน อับดุลสมัด หรือ "บาบอแม" อดีตประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส
และทีมที่ 3 เป็น "หน้าใหม่" แต่มาแรง เพราะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบริษัท M1 ซึ่งเป็นธุรกิจชักชวนให้เข้าร่วมลงทุน กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากพื้นที่ชายแดนใต้ โดยเฉพาะ จ.นราธิวาส และยะลา โดยทีมหน้าใหม่นี้ประกาศว่า มีอิหม่ามในนราธิวาสอยู่ในสังกัดเกือบ 200 คน
รออีกนิด อีกไม่กี่วันได้รู้กัน!
-----------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : โปสเตอร์แนะนำตัวผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในชายแดนใต้