ความงามในนราฯ ผ่านสายตาศิลปิน
ใครจะเชื่อว่าดินแดนที่มีแต่ข่าวคราวร้ายๆ เรื่องความรุนแรงอย่าง จ.นราธิวาส จะมี "หอศิลป์" กับงานแสดงศิลปะหลบมุมอยู่ด้วย
ที่สำคัญ "หอศิลป์" ที่ว่านี้ ไม่ใช่ของหน่วยงานรัฐ และไม่ใช่มรดกในพื้นที่ที่มีมาก่อนแล้ว แต่เป็นบ้านที่ถูกเปิดให้เป็น "หอศิลป์ร่วมสมัย" ใช้ชื่อว่า De' Lapae Art Space (เดอ ลาแป อาร์ท สเปซ)
และที่นี่เองที่ทำให้เกิดโครงการ "ศิลปินในพำนัก" หรือ Sync Artist in Residence ขึ้นในพื้นที่ ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างหอศิลป์ร่วมสมัย De' Lapae กับหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อให้ศิลปินในพื้นที่กับศิลปินต่างถิ่นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความต่างทางวัฒนธรรมในระยะเวลา 1 เดือน เพื่อนำไปสร้างสรรค์งานศิลปะ
บัดนี้ผลงานศิลปะได้ถูกรังสรรค์ขึ้นแล้วโดยศิลปิน 2 คนจาก 2 พื้นที่ และได้แสดงงานศิลปะของตนที่ได้จากการสัมผัส พบเจอเรื่องราวจริงๆ ในจังหวัดนราธิวาส แล้วกลั่นกรองออกมาเป็นชิ้นงานร่วมสมัย
ศิลปิน 2 คนนี้ หนึ่งคือ อัมรู ไทยสนิท ศิลปินชาวนราธิวาส เขาจบสาขาทัศนศิลป์ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)
สองคือ ปุญญิศา ศิลปรัศมี ศิลปินหญิงรุ่นใหม่จากกรุงเทพฯ เธอจบภาควิชาวิจิตรศิลป์ เอกประติมากรรม จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
งานของอัมรู เป็นชุดภาพ "สะท้อนร่องรอยความจริง" เป็นศิลปะสื่อผสมบนผืนผ้า เขาเล่าว่าได้รับแรงบันดาลใจจากวิถีชีวิตในนราธิวาส ได้เห็นความงามและความเรียบง่ายในแง่มุมต่างๆ จึงถ่ายภาพแล้วนำมาพิมพ์ลงบนผ้ามายัต หรือผ้าที่ใช้ห่อศพตามหลักอิสลาม โดยจัดเรียงเรื่องราวให้มีจังหวะจะโคนผ่านการใช้สีสลับขาว-ดำ และการเชื่อมโยงความประทับใจผ่านเส้นด้ายที่เย็บปักอย่างเป็นจังหวะต่อเนื่องกัน
"ทำงานในแบบที่ตัวเองอยากทำ เป็นภาพพิมพ์โฟโต้เหมือนจริง เอาภาพถ่ายมาถ่ายทอดเป็นรูปธรรมให้เข้าถึงศิลปะได้ง่ายขึ้นด้วยการเย็บผ้าต่อกัน ขยายภาพถ่ายเล็กๆ ประกอบเป็นชิ้นใหญ่ เห็นวิถีชีวิตเรียบง่าย ความงามในพื้นที่ ความเท่าเทียม มองข้ามความรุนแรง เริ่มตั้งแต่สถานที่แรกตามลำดับซึ่งเป็นสถานที่ในนราธิวาสทั้งหมด โดยใช้คำว่า 'ดำรงชีวิต' เป็นภาษายาวี เขียนซ้ำๆ กันบนภาพทั้งผืน"
เขาบอกว่า การมีอาร์ทสเปซ หรือสถานที่สำหรับแสดงงานศิลปะ ในบ้านเกิดของตนเอง ถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ และที่นี่เป็นที่แรกในนราธิวาสที่เป็นหอศิลป์ร่วมสมัย เปิดให้ชมฟรีเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงงานศิลปะ
"เพราะทุกอย่างในชีวิตคือศิลปะและจินตนาการ เราสร้างสรรค์ต่อไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด" เขาบอก
ปัจจุบันอัมรูทำงานศิลปะในบ้านเกิดที่นราธิวาส และช่วยงานติดตั้งนิทรรศการศิลปะที่ De' Lapae Art Space
ส่วน ปุญญิศา เธอเพิ่งเรียนจบปริญญาตรีเมื่อไม่นานมานี้ แล้วจึงสมัครใจเข้าร่วมโครงการศิลปินในพำนัก เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ ในสถานที่ที่เธอไม่เคยไป แม้ใครๆ จะห้าม แต่เธอไม่สนใจ และวันนี้ก็ได้จัดแสดงผลงานประติมากรรมประกอบไม้ "Area, 2017" จากการรังสรรค์ของเธอ
"การได้มาอยู่ที่นี่ 1 เดือน ได้เห็นวิถีชีวิตที่ดีงาม กลายเป็นแรงบันดาลใจให้สร้างงงานนี้ออกมา โดยใช้วัสดุจากในพื้นที่ทั้งหมด สิ่งที่ประทับใจก็คือ ได้เห็นความงดงาม ระเบียบแบบแผน และรูปทรงที่หลากหลาย โดยเฉพาะศิลปะอิสลาม มีความงามในตัว และเต็มไปด้วยศรัทธา และสิ่งนี้เองที่เชื่อมร้อยความสัมพันธ์ของคน ชุมชน และเมืองเข้าด้วยกัน พร้อมๆ กับการเคารพความแตกต่าง"
ปุญญิศา บอกว่า การมีพื้นที่ทางศิลปะใหม่ๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ ถือเป็นสิ่งดีๆ เพราะทำให้เด็กๆ ได้ซึมซับ มองเห็นความสำคัญของศิลปะ ทั้งๆ ที่การเรียนรู้หรือทำงานศิลปะ ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นศิลปินจริงๆ แต่ทุกอาชีพมีศิลปะในตัวเอง สามารถต่อยอดได้ด้วยจินตนาการ
"น่าจะมีพื้นที่ศิลปะใหม่ๆ อาจเป็นแกลเลอรี่เล็กๆ กับร้านกาแฟที่เข้าถึงง่าย เพื่อให้เชื่อมโยงกันได้ ให้รู้ว่าศิลปะสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย ทุกคนสามารถทำได้ และได้ปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น" ปุญญิศา บอก
การใช้ศิลปะถักทอความสัมพันธ์ของผู้คนเพื่อสร้างความปรองดอง ก้าวข้ามความขัดแย้ง ประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศ เพราะศิลปะไม่เคยทำร้ายใคร ศิลปะมีอยู่ในตัวทุกคน...ตั้งแต่ตื่นนอนจนหลับ และหากทำความเข้าใจศิลปะ ก็จะพบความงามของศิลปะ นี่คือ soft power ที่เป็นพลังในทางสร้างสรรค์อย่างแท้จริง
--------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1, 2, 4 หอศิลป์ร่วมสมัยในเมืองนราธิวาส
3 อัมรู กับผลงานศิลปะสื่อผสมบนผืนผ้า
5, 6 ปุญญิศา กับผลงานประติมากรรมประกอบไม้