สะอาด โปร่งใส ภาครัฐร่วมใจ เดินหน้าสู่ไทยแลนด์ 4.0
“คนมีอำนาจมาก ก็มีการคอร์รัปชั่นมาก อย่าไปเชื่อคนดี ซื่อสัตย์จะไม่ทุจริต ผมไม่เชื่อ เพราะวันนี้อาจหลงระเริงได้ คนที่ซื่อสัตย์จริงๆ อยู่ในเชิงตะกอนแล้วเท่านั้น ดังนั้น เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องเกิดขึ้น ความชัดเจนถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด เทาๆ จะไม่มี ปัญหาเคลียร์กันได้จะไม่มี ซึ่งกฎหมายผลประโยชน์ทับซ้อน คนจึงกลัวกันมากเหลือเกิน” พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์
วันที่ 17 พฤศจิกายน สำนักงาน ป.ป.ช. จัดงานเนื่องในโอกาสวันสถาปนาสำนักงาน ป.ป.ช. ครบรอบ 18 ปี ป.ป.ช. มุ่ง มั่นสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ณ สำนักงาน ป.ป.ช. (สนามบินน้ำ) หนึ่งในกิจกรรมมีการเสวนา หัวข้อ “สะอาด โปร่งใส ภาครัฐร่วมใจ สู่ไทยแลนด์ 4.0” โดยนายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการป.ป.ช. กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยพยายามแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นมาอย่างต่อเนื่อง มีการบูรณาการให้ทุกภาคส่วนมองเห็นผลเสียของการคอร์รัปชั่น และกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศเศรษฐกิจ สังคม แทบทุกมิติ วันนี้รูปแบบการทุจริตคอร์รัปชั่นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีหลากหลายรูปแบบ สลับซับซ้อน ซึ่งส่งผลกระทบในภาพกว้างอย่างมาก ดังนั้นกลไกการแก้ไขปัญหานี้ต้องเริ่มที่ตัวบุคคล โดยปรับระบบคิดของคนในสังคมให้สามารถแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนออกจากประโยชน์ส่วนรวมได้
สร้าง Change Agent ให้ได้ 4 หมื่นคน
ด้านนางเมธินี เทพมณี เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กล่าวว่า รัฐบาลวางเป้าหมายมาหลายปีแล้วจะเป็นรัฐบาลดิจิทัล คำถามคือแล้วข้าราชการไทยจะเปลี่ยนตามทันหรือไม่ ขณะที่ประชาชนคาดหวังส่วนราชการจะบริการอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพสามารถใช้ระบบออนไลน์ในมือถือได้
นางเมธินี กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลทั่วโลก มองเห็นว่า Open Government จะเป็นแนวทางที่สร้างความเป็นธรรม และสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นมาได้ สิ่งสำคัญของการขับเคลื่อนสู่ Digital Government ของไทยนอกจากการบูรณาการระหว่างหน่วยงานแล้ว ก็คือข้าราชการไทย พนักงานของรัฐ 3 ล้านกว่าคนต้องปรับเปลี่ยนตามด้วย เป็น Change Agent และต้องพัฒนาแบบก้าวกระโดด เนื่องจากเราไม่มีเวลามากขนาดนั้น
เลขาธิการ ก.พ. กล่าวถึงการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ที่ผ่านมาจากผลการประเมิน Open Government Data Index ของประเทศไทย จัดทำโดย Open Knowledge International พบว่า เรื่องที่มีการเปิดเผยสูงสุด คือ เรื่องการจดทะเบียนบริษัท (Company Register) ของกระทรวงพาณิชย์ โดยข้อมูลถูกจัดเก็บในรูปดิจิทัล ประชาชนเข้าถึงได้ ขอข้อมูลดิจิทัลได้ และสามารถนำไปใช้ต่อได้ ขณะเดียวกันข้าราชการกระทรวงพาณิชย์จากการประเมินเข้าสู่ยุคดิจิทัล และทำงานกับดิจิทัลมีคะแนนนำกระทรวงอื่นๆ
นอกจากนี้ ผลการประเมิน Open Government Data Index ของประเทศไทย ยังพบอีกว่า ข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (Government Spending) กลายเป็นข้อมูลภาครัฐที่ถูกเปิดเผยต่ำสุด ซึ่งอาจเป็นเพราะเรากำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น มีโอกาสพัฒนาการเปิดเผยมูลให้ดีขึ้นอีก
“ข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ เป็น Big Data ของประชาชนสามารถนำไปใช้งานต่อ และตรวจสอบได้ ฉะนั้นหลักการเปิดเผย กับปกปิดอะไรเป็นหลักอะไรเป็นรองนั้นข้าราชการต้องคิดใหม่แล้ว”
เลขาธิการ ก.พ. กล่าวถึง Open Data เช่น ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ ภาษีไปไหน ประชาชนสามารถตรวจสอบเงินภาษีตรงนี้ได้ผ่านมือถือ ข้อมูลเป็นดิจิทัล ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เก็บเงิน ไม่ต้องขออนุญาต (Licence) วันนี้กรมบัญชีกลาง เป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญ ถึงแม้วันนี้เรายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่อนาคตเชื่อว่า เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูล มีการบูรณาการข้อมูลกันอย่างสมบูรณ์แบบทุกอย่างจะดีขึ้น
ส่วนการพัฒนากำลังคนภาครัฐให้เป็นดิจิทัลนั้น เลขาธิการ ก.พ. กล่าวว่า ต่อไปนี้ข้าราชต้องคิดแบบดิจิทัลแล้ว โดยสำนักงานก.พ.ตั้งเป้าสร้างข้าราชการ 4.0 อยากเห็นการให้บริการข้อมูลกับประชาชนผ่านมือถือ และเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกับการบริการที่รอไม่ได้ และไม่ใช่ปิดในเวลาราชการ ข้าราชการไทยต้องพร้อมรับมือ
“ในระยะเริ่มต้นตั้งเป้ามีข้าราชการดิจิทัลไว้ที่ 4 หมื่นคน เพื่อสร้าง Change Agent ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานในกระทรวง กรม เราพยายามสร้าง Change Agent ให้ได้ 10% ของข้าราชการทั้งหมด”
คนมีอำนาจมาก ก็มีการคอร์รัปชั่นมาก
ขณะที่พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์ กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ การใช้ดุลยพินิจเอื้อให้ประโยชน์กับตัวเองและพวกพ้อง การแก้ไขการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เชื่อว่าสามารถแก้ได้ด้วยหลักคิดของธรรมาภิบาล คือ เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้
“เจ้าหน้าที่ของรัฐต่อไปนี้ต้องเปิดเผย ผมค่อนข้างหงุดหงิดที่ป.ป.ช.ไม่ให้เปิดเผยทรัพย์สิน 14 ข้อ หนึ่งในนั้นมีเรื่องเลขทะเบียนรถ เพราะถือว่าเป็นความลับ กลัวถูกทำร้าย ซึ่งการเปิดเผยทรัพย์สินเพื่อต้องการรู้รถที่ท่านนั่งอยู่เป็นเจ้าของเองหรือไม่ หรือบริษัทส่งรถมาให้ใช้ เป็นต้น นี่คือเรื่องขัดกันของผลประโยชน์”
พลอากาศเอก วีรวิท กล่าวอีกว่า แนวคิดของธรรมาภิบาล คือร่วมกันสร้างกฎเกณฑ์ ให้เป็นบรรทัดฐานในสังคม มีระบบถ่วงดุลการใช้อำนาจของบุคคล จัดดุลยพินิจการใช้อำนาจของผู้นำ ป้องกันการทำตามอำเภอใจ
สำหรับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ..... พลอากาศเอก วีรวิท กล่าวว่า ปัจจุบันร่างกฎหมายนี้ยังไม่ได้พิจารณารายมาตรา แต่เชื่อว่า กฎหมายนี้จะเป็นหลักให้ประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐทราบว่าอะไรขาว อะไรดำ อะไรเป็นเรื่องขัดกันแห่งผลประโยชน์ส่วนบุคคล ส่วนรวม ซึ่งสาระสำคัญในร่างกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมฯ เช่น การห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนได้ส่วนเสีย ระเบียบอนุญาตให้ใช้ทรัพย์สินของทางราชการ (ยานพาหนะ เครื่องมือสื่อสาร อาคารสถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ สิ่งสาธารณูปโภค) การใช้ตำแหน่งที่ไปมีอิทธิพลต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ (การให้สัมปทาน ทำสัญญา หรือทำนิติกรรม ไม่ฟ้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ไม่บังคับทางปกครอง ไม่บังคับคดี ไม่บังคับตามคำชี้ขาด) การรับสิ่งของ ประโยชนฺ์จากการปฏิบัติหน้าที่ รวมไปถึงข้อห้ามภายใน 2 ปี หลังจากพ้นหน้าที่/เกษียณ และการรักษาความลับของทางราชการ เป็นต้น
“คนมีอำนาจมาก ก็มีการคอร์รัปชั่นมาก อย่าไปเชื่อคนดี ซื่อสัตย์จะไม่ทุจริต ผมไม่เชื่อ เพราะวันนี้อาจหลงระเริงได้ คนที่ซื่อสัตย์จริงๆ อยู่ในเชิงตะกอนแล้วเท่านั้น ดังนั้น เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องเกิดขึ้น ความชัดเจนถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด เทาๆ จะไม่มี ปัญหาเคลียร์กันได้จะไม่มี ซึ่งกฎหมายผลประโยชน์ทับซ้อน คนจึงกลัวกันมากเหลือเกิน”
พลอากาศเอก วีรวิท กล่าวด้วยว่า การใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจ ถือเป็นอันตราย เอาเปรียบผู้อื่น ที่มาผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งหากหน่วยงานบอกว่า เป็นนโยบายของหัวหน้าส่วนราชการ ถือว่า หน่วยงานนั้นไม่มีธรรมาภิบาล ส่อไปทางทุจริตทั้งนั้น ซึ่งต้องทำให้นโยบายใดๆ ก็ตามเป็นนโยบายขององค์กร ใครมาก็ยึดนโยบายตรงนี้จึงจะถูกต้อง เราไม่สามารถทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ แต่เราสามารถจัดระบบในองค์กรได้
สุดท้ายนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการทำงานข้าราชการไทยวันนี้ ต้องปรับเปลี่ยนให้ก้าวทันโลก ทำงานบูรณการทุกภาคส่วนแบบวงออเคสตร้า เชื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน
“ข้อมูลของราชการต้องเปิดเผย จริงใจให้ประชาชนตรวจสอบได้ แม้ผมจะยังไม่ค่อยเชื่อระบบราชการจะเปลี่ยนได้ แต่ผมเชื่อพลังพลเมือง การตรวจสอบของภาคพลเมือง การทำงานของภาคพลเมืองที่เข้มแข็ง”