ถอดรหัสพฤติโกง บ้าน วัด โรงเรียน
“ไม่ใช่แค่นักการเมืองเท่านั้นที่โกง เราทุกคนก็มีส่วนคนละเล็กละน้อย เราสร้างทั้งทัศนคติและระบบที่ทำให้การโกงมันดำรงอยู่ได้ และทำได้ง่ายในสังคม”
ปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ที่ผ่านมาสังคมไทยทุ่มทรัพยากรอย่างมหาศาลในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันให้หมดไป และได้ ‘คนดี’ มาบริหารบ้านเมือง แต่กลายเป็นว่าปัญหากลับทวีความรุนแรงขึ้นในหลายมิติ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยเกี่ยวกับ ‘ธรรมาภิบาลและการลดคอร์รัปชัน’ มาอย่างต่อเนื่อง ผลการศึกษาส่วนหนึ่งได้ถูกนำเสนอผ่าน ‘ทอล์คความรู้’ ซึ่ง ผศ. ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวในงาน SHIFT HAPPENS : พลิกธุรกิจให้ทันวันพรุ่งนี้ ถึงประเด็น “เมื่อบ้าน วัด โรงเรียน หล่อหลอมความโกง” ว่าสิ่งที่เรามักให้ความสนใจคือ ‘ปริมาณ’ ของการโกง หรือหาว่า ‘ใคร’ ที่เป็นคนโกง
แต่คำถามที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ‘ทำไม’ คนในสังคมไทยถึงชอบโกง และนักการเมืองและข้าราชการ ‘เท่านั้น’ หรือเปล่าที่เป็นคนโกง
ผศ. ดร.ธานีเริ่มต้น ‘ถอดรหัสพฤติโกง’ ด้วยคำถามที่ว่า “ในสถานการณ์ที่ฝนตกและสถานการณ์ที่ฝนไม่ตก ทุกท่านคิดว่าสถานการณ์ไหนคนโกงเยอะกว่ากัน..คำตอบคือ สถานการณ์ที่ฝนตก”
ก่อนกล่าวถึงแว่นตาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ในแง่มุมที่สดใหม่และน่าสนใจว่า คำพูดหนึ่งที่เราพูดกันบ่อย ๆ ในเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมก็คือ ‘เราไม่ได้เป็นเจ้าของวิธีคิดของเรา เราเกิดมาพร้อมความว่างเปล่า แต่เราถูกหล่อหลอมบางอย่างจนมาเป็นตัวเราในทุกวันนี้’
ฉะนั้น เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและเศรษฐศาสตร์สถาบัน โดยเฉพาะอย่างหลังจึงอธิบายว่าการหล่อหลอมพฤติกรรม วิธีคิด และทัศนคติของเรามีที่มาจากสถาบันทางสังคมอะไร
คนไทยให้ความหมายและคุณค่าเกี่ยวกับเรื่อง ‘ดี’ แตกต่างกันจนกลายเป็นคนละเรื่องเดียวกัน และนี่คือสาเหตุที่พฤติกรรมการโกงถูกฝังรากลึกอยู่ในดีเอ็นเอของความเป็นไทยจนเรารู้สึกชินชาเป็นเรื่องปกติและไม่รู้ตัว
จากการสอบถามคนไทยกว่า 4,000 คน ส่วนใหญ่ตอบว่า ความดีคือ ความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่คดโกง แต่ คนดี คือคนที่กตัญญู เชื่อฟังพ่อแม่และผู้ใหญ่ กลายเป็นว่าการทำความดีกับการเป็นคนดีไม่เหมือนกัน การทำความดีพูดถึงผลประโยชน์สาธารณะ แต่คุณจะเป็นคนดีเมื่อทำประโยชน์บางอย่างให้กับคนใกล้ชิดของคุณ และบ่อยครั้งเราก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือกว่าระหว่างความดีกับคนดี เราจะเป็นแบบไหน
สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความหมายของคนดีแบบที่สังคมไทยให้คุณค่า คือ แนวคิด Familism หรือความรู้สึกของความเป็นครอบครัว ซึ่งอาจเกี่ยวพันหรือไม่เกี่ยวพันกันโดยสายเลือดก็ได้ เมื่อเรานับถือคนที่มีบุญคุณเป็นเพื่อนในกลุ่ม หรือรุ่นพี่ที่นับถือเข้ามาเสมือนเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในครอบครัว ทำให้เรารู้สึกที่จะ ‘เลือกปฏิบัติ’ ให้ความสัมพันธ์กับคนที่รู้สึกเป็นครอบครัวมากกว่า
ขณะที่เราสร้างความสัมพันธ์แบบ Familism กับคนกลุ่มหนึ่ง คนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มนั้นจะไม่มีความสำคัญกับเรา ซึ่งในทางวิชาการเรียกว่ากระบวนการ Alienation หรือการทำให้เป็นอื่น ทั้งสองกระบวนการนี้มีส่วนให้การคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นในสังคม
“แนวคิดเรื่อง Familism ช่วยให้การโกงหรือคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้ง่าย เช่น พ่ออาจยอมติดสินบนช่วยให้ลูกที่ขับรถชนคนตายพ้นจากคดีความ โดยไม่สนใจว่าจะทำลายกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ และไม่สนใจว่าความอยุติธรรมจะสร้างความเจ็บปวดให้ครอบครัวอื่นมากแค่ไหน เพียงแค่ขอให้ลูกตัวเองรอด ที่จริงแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นลูก แต่เป็นเพื่อนสนิทหรือผู้มีพระคุณก็ได้เช่นกัน”
คำถามที่ตามมาคือ การเป็นคนดีแบบไทย ๆ ถูกหล่อหลอมขึ้นมาได้อย่างไร
บ้าน โรงเรียน วัด: สถาบันที่หล่อหลอมพฤติโกง (โดยไม่รู้ตัว)
เศรษฐศาสตร์สถาบัน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับ ‘สถาบัน’ หรือกติกาในสังคมในฐานะสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมมนุษย์ บอกเอาไว้ว่าความเป็น ‘คนดี’ ถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่วัยเด็กผ่านสถาบัน ‘บ้าน’ และ ‘โรงเรียน’ ซึ่งผูกผันกับชีวิตของทุกคน
ในการสำรวจทัศนคติและค่านิยมโดย World Value Survey ในหลายประเทศทั่วโลก มีคำถามหนึ่งที่ถามว่าอะไรเป็น ‘คุณธรรมสำคัญ’ ที่ผู้คนในแต่ละประเทศจะสอนให้กับลูกของพวกเขา ผลสำรวจพบว่าในประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูง คุณธรรมที่พ่อแม่ตั้งใจจะสอนเด็ก ๆ คือ การเคารพสิทธิสาธารณะ การรับฟังความเห็นผู้อื่น และการช่วยเหลือคนแปลกหน้า
ในขณะที่คุณธรรมของประเทศไทยที่มีคนตอบมากที่สุด คือ ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ มีระเบียบวินัย และต้องเรียนหนังสือสูง ๆ นอกจากคำสอนของพ่อแม่ ‘นิทาน’ พื้นบ้านไทยที่อยู่กับเด็ก ๆ มานาน ก็ปลูกฝังชุดคุณธรรมแบบฉลาดแกมโกงให้กับเยาวชนจนกลายเป็นว่าพวกเขารู้สึกว่า นี่คือวิถีของสังคมแบบไทยๆ ตัวอย่างเช่น ศรีธนญชัย ที่สอนเรื่องของการ ‘รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี’
“เราเอาความขี้โกง ความเอาเปรียบเพื่อเอาตัวรอดไปผูกโยงกับความฉลาด เมื่อเราเห็นคนถูกโกง ถูกเอาเปรียบ หรือคนที่ซื่อตรงกลับต้องเจ็บปวด คนจำนวนมากจะรู้สึกว่าคนพวกนี้ ‘โง่’ ที่เอาตัวรอดไม่ได้ กลายเป็นว่าเรากลับเอาการเอาเปรียบ การเอาตัวรอดเป็นสิ่งที่แสดงถึงความฉลาด และเอาความซื่อตรงที่ทำให้หลายคนต้องเจ็บปวดกลายเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นคนโง่”
ขยับมาที่โรงเรียน เราคาดหวังให้โรงเรียนมีหน้าที่ให้ความรู้กับเด็ก แต่กลับเป็นอีกสถาบันหนึ่งที่หล่อหลอมแนวคิด Familism ทั้งการจ่ายเงินสินบนเพื่อให้ลูกได้เข้าโรงเรียนดี ๆ ที่สูงขึ้นกว่า 10 เท่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา และการเลือกปฏิบัติของครูที่มีต่อเด็กเก่งและไม่เก่ง ซึ่งเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ
เมื่อเด็ก ๆ ถูกหล่อหลอมด้วยการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน เขาจะรู้สึกว่าการเลือกปฏิบัติระหว่างคนเก่งและคนไม่เก่งเป็นเรื่องธรรมดา และเมื่อวันหนึ่งที่เขามีอำนาจอย่างที่ครูมี เด็ก ๆ ที่โตขึ้นก็จะ ‘เลือกปฏิบัติ’ เพราะเป็นเรื่องธรรมดา นั่นหมายความว่าเด็กจะไม่มีความรู้สึกต่อต้านการเลือกปฏิบัติเมื่อเติบโตขึ้น “นั่นหมายถึงทั้งสถาบันครอบครัวและโรงเรียน มีส่วนสนับสนุนให้เกิดความรู้สึก ‘ยอมรับ’ ความไม่เป็นธรรมและการโกงไปโดยปริยาย”
สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นในการศึกษาของนักวิจัย คือ สถานที่อย่าง ‘วัด’ กลับกลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมพฤติกรรมโกง ด้วยการเป็นที่ทิ้งความรู้สึกผิดของคนโกง การเข้าวัดทำให้พวกเขาสบายใจขึ้น ทั้งที่ไม่ได้แก้ปัญหาหรือทำให้การโกงลดลง คนแต่ละคนจะยอมรับการทำชั่วในระดับที่แตกต่างกัน บางคนหากทำดีมาเยอะอาจจะคิดว่าทำชั่วนิดหน่อยก็ไม่เป็นอะไร เพราะสามารถไป ‘ชดเชย’ ความชั่วนั้นได้ ทั้งที่เป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเรียกสิ่งนี้ว่า Moral Licensing หรือใบอนุญาตทำชั่ว
การเข้าวัดทำบุญเป็นการทำความดีในรูปแบบหนึ่ง วัดจึงกลายเป็นสถาบันที่ทำให้การโกงดำรงอยู่โดยไม่ตั้งใจ ถ้าเรามองเห็นการทำบุญในศาสนาที่สูงขึ้น ก็น่าจะกลับมาตั้งคำถามว่า สังคมนั้นคือสังคมที่ความดีเยอะ หรือความเลวเยอะกันแน่
การออกแบบทางเลือกของสังคมเพื่อตอบสนองความต้องการของทุกคน (Choice Architecture) ในสังคมไทย ถูกออกแบบมาให้การโกงเกิดขึ้นได้ง่าย เช่น ขับรถฝ่าไฟแดงหนึ่งครั้ง ตัวเลือกระหว่างการยอมจ่ายสินบนให้ตำรวจเพื่อไม่ต้องรับใบสั่ง กับการรับใบสั่งแล้วไปจ่ายที่สถานีตำรวจ รวมถึงการทำสิ่งที่ถูกต้องด้วยการแจ้งพฤติกรรมคอร์รัปชันของตำรวจที่เรียกสินบน ทั้งสองทางมีความยากง่ายที่แตกต่างกัน และเรามักจะเลือกทางเลือกที่ง่ายกว่า (นั่นคือการจ่ายเงินสินบน) เพื่อทำให้ชีวิตง่ายขึ้น
เมื่อทางเลือกที่ง่ายกว่ามารวมกับความรู้สึกที่ ‘ใครๆ ก็ทำกัน’ และการมีวัดเป็นสถานที่ให้ทำบุญเพื่อชดเชยความผิดที่ก่อ แต่ไม่ได้รู้สึกผิดจริงๆ แค่โชคร้ายที่โดนตำรวจจับได้และต้องจ่ายเงินให้ ก็ทำให้ทัศนคติเกี่ยวกับการโกงที่เกิดจากสถาบันทางสังคมต่างๆ อยู่ใน ‘ดุลยภาพ’ ที่เท่ากัน
“ไม่ใช่แค่นักการเมืองเท่านั้นที่โกง เราทุกคนก็มีส่วนคนละเล็กละน้อย เราสร้างทั้งทัศนคติและระบบที่ทำให้การโกงมันดำรงอยู่ได้ และทำได้ง่ายในสังคม”
นี่คือสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมทิ้งท้ายไว้ให้คิด...