กสม.เผยละเมิดสิทธิชุมชนพุ่ง 500 คดี ทางออกยังไม่มี
กสม.ชี้สิทธิชุมชนคือความเป็นธรรมทางสังคม เผยคดีละเมิดชุมชนแนวโน้มสูงขึ้น ที่ดิน-เหมืองแร่-โครงการพัฒนา ทางออกชัดเจนยังไม่มี เอ็นจีโอฉะกฎหมายสิ่งแวดล้อมล้าหลัง คำตอบยังอยู่ที่ชุมชน แต่ชาวบ้านตื่นตัวน้อย นักกฎหมายแจงชุมชนมีสิทธิอยู่กับป่า รักษาวัฒนธรรม และใช้ทรัพยากรท้องถิ่น
วันที่ 23 พ.ย. 53 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดเสวนา “ความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิชุมชนในภาวะเรือนกระจก” โดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีกรณีละเมิดสิทธิชุมชนที่ร้องเรียนเข้ามายัง กสม.เฉลี่ยวันละ 1-2 กรณี โดยมีกว่า 500 คดีอยู่ระหว่างดำเนินการ อาทิ คดีที่ดิน ป่าไม้ สัมปทานเหมืองแร่ และแผนพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน โดยคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งยังหาทางออกที่ชัดเจนให้ชาวบ้านไม่ได้
“เราทำได้แค่ชะลอโครงการต่างๆที่ชาวบ้านร้องเรียนเข้ามา บางคำสั่งของ กสม.ตัดสินว่าให้ยุติโครงการ แต่ก็ยังมีการดำเนินการต่อ ต้องตามตรวจสอบ สิทธิชุมชนเป็นเรื่องเดียวกับการสร้างความเป็นธรรม เพราะทรัพยากรชุมชนเป็นมิติของชีวิตคนไทยในภาคเกษตรกรรม ซึ่งสังคมโลกก็ยอมรับเป็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร”
นพ.นิรันดร์ กล่าวอีกว่า การละเมิดสิทธิชุมชน ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มาจากหน่วยงานรัฐและแผนพัฒนาต่างๆ ตลอดจนนักธุรกิจ ที่ลืมให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชน ถึงแม้จะมีแผนสิทธิมนุษยชนระดับชาติถึง 2 ฉบับแล้ว แต่ก็เป็นแค่ตัวหนังสือที่ไม่มีชีวิตเพราะหน่วยงานต่างๆ ยังไม่สามารถดำเนินงานไปตามเป้าหมายได้ ซึ่งผู้มีอำนาจส่วนใหญ่จะใช้และถืออำนาจโดยใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง ที่สำคัญในกฎหมายยังมีมิจฉาฐิธิ ที่ให้รัฐเป็นผู้ทรงสิทธิ์ในการใช้อำนาจตัดสินในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ต่างๆ
ขณะที่ นางศยามล ไกยูรวงศ์ อนุกรรมการปฎิรูประบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ มองว่าไทยมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ล้าหลัง เพราะมีวิธีคิดแบบยุคล่าอาณานิคม ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงทั้งระบบ ปฏิรูปทั้งกระบวน ส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรมต้องมีการจัดการที่ชัดเจนว่าจะไม่กระทบสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน ทั้งนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ตื่นตัวเรื่องการรักษาสิทธิชุมชนเท่าที่ควร ต้องมีเรื่องกระทบถึงตัวเองก่อนจึงลุกขึ้นมาเรียกร้อง
“ชุมชนต้องตื่นตัว ไม่งั้นพูดเรื่องกฎหมายก็ไม่เข้าสมอง ส่วนใหญ่ชาวบ้านที่ตื่นตัวจะเป็นกลุ่มที่ถูกละเมิดสิทธิอย่างคดีโลกร้อน ชาวบ้านอ่านกฎหมายเข้าไปถึงหัวใจเลย รู้เรื่องกฏหมายที่ดิน อย่างถ้าชนเผ่าอยากรักษาทรัพยากรและวัฒนธรรม ให้รวมกลุ่มกันแล้วไปต่อรองกับ อบต.ให้ได้ ให้อำเภอเห็นชอบ คำตอบอยู่ที่พลังมวลชน ซึ่งเป็นรากฐานประชาธิปไตย”
ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายที่รับรองสิทธิชุมชนคือรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 66 ทั้งนี้สิทธิชุมชนไม่ได้อยู่แค่ในกฏหมายแต่มีมานานแล้วทั่วโลก และสิทธิทั้งหลายไม่อาจได้มาด้วยการร้องขอ สิทธิที่ไม่มีใครลุกขึ้นมาต่อสู้และปกป้องถือเป็นสิทธิที่ว่างเปล่า ชุมชนต้องทำความเข้าใจสิทธิของตน ทั้งสิทธิในการฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรมอันดีของชุมชนเองและของชาติ สิทธิที่จะใช้และได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะเจ้าของร่วมกับคนทั้งประเทศ และสิทธิในการร่วมกำหนดกับภาครัฐ ไม่ใช่ให้รัฐใช้อำนาจรัฐเพียงฝ่ายเดียว
“ตัวอย่างประเพณีดั้งเดิมชนเผ่าในแคนนาดาที่ผู้ชายต้องจับจระเข้เพื่อแสดงความเป็นหนุ่ม ไม่งั้นจะแต่งงานไม่ได้ ต่อมารัฐประกาศให้จระเข้เป็นสัตว์สงวน จึงมีปัญหาเกิดขึ้นคือเมื่อจับแล้วติดคุก เรื่องนี้ศาลตัดสินว่าชนเผ่าสามารถพิสูจน์ได้ว่าประเพณีมีมายาวนาน ขณะที่ไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าการจับจระเข้จะทำให้มันสูญพันธุ์ ฉะนั้นกฎหมายนี้ห้ามคนอื่นได้ทั้งหมด แต่ยกเว้นคนในเผ่านี้ เพราะกฎหมายมีจุดประสงค์คุ้มครองพันธุ์สัตว์ แต่ไม่ได้มุ่งทำลายจารีตประเพณี ตัวอย่างดังกล่าวสอดคล้องกับการประกาศอุทยานแห่งชาติทับซ้อนที่ดินทำกินของชาวบ้านที่อาศัยมาก่อนในประเทศไทย แต่ปัญหาคือหลายคนไม่สามารถพิสูจน์ว่าตนอยู่มาก่อนได้”
ดร.กิตติศักดิ์ ยังกล่าวว่ารัฐบาลต้องทำให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมเดินไปด้วยกันด้วยความเท่าเทียม หากภาคอุตสาหกรรมมีรายได้สูงขึ้น ก็ต้องทำให้ภาคเกษตรกรรมมีรายได้สูงขึ้นด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่มีใครอยากเป็นเกษตรกรเพราะถูกละทิ้ง ทั้งนี้โครงการพัฒนาด้านเกษตรในบ้านเราส่วนใหญ่ไม่ต่อเนื่อง เช่น โครงการผักสวนครัวรั้วกินได้ พอเปลี่ยนรัฐมนตรีก็ไม่มีใครทำต่อ.