‘อุบัติเหตุทางถนนไทย’ เผชิญวิกฤติ -แก้ปัญหาไม่จริงจัง เสี่ยงเสียชีวิตมากสุดในโลก
เปิดข้อเสนอเชิงนโยบาย ลดความเสี่ยง ‘ไทย’ วิกฤติอุบัติเหตุทางถนนสูงสุดในโลก หลังผลรายงานความปลอดภัยฯ เผยปี 59 ผู้เสียชีวิตสูง 2.2 หมื่นคน- ‘จ.ระยอง’ มากที่สุด -กทม. น้อยที่สุด
หากย้อนดูสถานการณ์การเสียชีวิตของคนไทยจากอุบัติเหตุทางถนนช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2554-2558 ซึ่งถูกรวบรวมไว้จาก 3 ฐานข้อมูล คือ ใบมรณบัตร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จะพบว่า ตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงอย่างต่อเนื่อง
จากปี พ.ศ. 2554 ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิต 23,390 คน มาลดลงเหลือ 22,841 คน ปี พ.ศ.2555, 22,438 คน ในปี พ.ศ. 2556 , 21,429 คน ในปี พ.ศ. 2557 และ 19,479 คน ในปี พ.ศ.2558 ตามลำดับ
แม้สถิติดูเหมือนแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ในปีล่าสุด (ปี พ.ศ.2559) กลับพบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตได้ก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นเป็น 22,356 คน
โดยจำนวน 22,356 คน ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ปีล่าสุดนั้น เมื่อเปรียบเทียบอัตราส่วนผู้เสียชีวิตต่อประชากร 1 แสนคน พบว่า 10 อันดับ ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ ระยอง 72.2 สระแก้ว 69.0 ชลบุรี 58.7 จันทบุรี 57.8 นครนายก 56.3 ปราจีนบุรี 55.9 สระบุรี 54.8 ลพบุรี 54.8 ประจวบคีรีขันธ์ 54.3 และเพชรบุรี 53.1
ขณะที่ 10 อันดับ ที่เสียชีวิตน้อยที่สุด ได้แก่ กทม. 14.3 ยะลา 17.2 แม่ฮ่องสอน 18.2 สตูล 18.3 อำนาจเจริญ 18.4 ปัตตานี 20.1 ศรีษะเกษ 21.8 นราธิวาส 22.4 สุโขทัย 23.0 และน่าน 23.6
ส่วน 10 จังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตต่อยานพาหนะ 1 หมื่นคัน 5 อันดับแรกมากที่สุด ได้แก่ ปทุมธานี 24.1 สมุทรปราการ 23.7 สระแก้ว 17.1 นนทบุรี 15.7 และนครนายก 11.7 และ 5 อันดับแรกต่ำที่สุด ได้แก่ กทม. 0.9 ภูเก็ต 2.9 ยะลา 3.3 สตูล 4.4 และ สุโขทัย 4.5
ข้อมูลทั้งหมดข้างต้นนำมาจากรายงานความปลอดภัยทางถนน ปี พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างแผนงานสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.) และศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) โดยได้จัดแถลงข่าวขึ้น ณ โรงแรม แกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพฯ
โดยมีกระบวนการสำรวจ จัดเก็บ และคำนวณผลจากข้อมูล จาก 3 ฐานข้อมูล เช่นเดียวกับปีก่อน และทำการเทียบกับเลขประจำตัวประชาชน ระดับอายุ ตั้งแต่แรกเกิด ถึง 100 ปีขึ้นไป รวมถึงลงลึกในรายละเอียด โดยสืบค้นข้อมูลกับหน่วยงานรัฐ ก่อนจะนำมาประมวล และวิเคราะห์ ร่วมกัน ระหว่าง นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนน
‘ปรีดา จาตุรพงศ์’ นักวิชาการสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะผู้จัดทำข้อมูล ระบุเพิ่มเติมว่า แม้ กทม. จะเป็นจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนน้อยที่สุด แต่ถือว่ายังไม่ดีพอ จากเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization ตัวย่อ WHO) กำหนดไว้ต้องต่ำกว่า 10.0
ทั้งนี้ ข้อมูลยังพบว่า จำนวน 3 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นผู้ชาย โดยช่วงวัยที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุด อันดับหนึ่งเป็นวัยรุ่นและวัยทำงาน ช่วงอายุ 15-29 ปี
ขณะที่ร้อยละ 45 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน คือ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 39 คนเดินเท้า ร้อยละ 9 และคนขี่จักรยาน ร้อยละ 1 (อ่านประกอบ:อุบัติเหตุทางถนน ปี 59 ‘ระยอง’ อันดับ 1 ตายสูงสุด ‘วัยรุ่น-คนทำงาน’ ครองแชมป์)
ด้าน ‘นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย’ ผอ.ศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์การอนามัยโลก เปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเหมือนปรอทวัดอุณหภูมิ ที่ชี้ให้เห็นว่า อุณหภูมิของไทยที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางถนนกำลังอยู่ในวิกฤติ พิสูจน์ได้จาก มีอัตราการเสียชีวิตต่อประชากร 1 แสนคน อยู่ในระดับสูง และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
จึงคาดการณ์ว่า ในการจัดอันดับของ WHO ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ‘ไทย’ อาจขึ้นเป็นอันดับ 1 แทน ‘ลิเบีย’ ในฐานะประเทศที่มีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุดในโลก แม้ที่ผ่านมาจะมีมาตรการรณรงค์มากมาย แต่ต้องยอมรับว่า ผลลัพธ์ยังไม่ดีพอ
“การเสียชีวิต 2.2 หมื่นคน ในปี 2559 จากอุบัติเหตุทางถนน ไม่ใช่จำนวนน้อย เพราะถือเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่มาก นี่ยังไม่นับรวมผู้บาดเจ็บ ซึ่งคาดว่า อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างต่ำ 5 แสนล้านบาท” ผอ.ศูนย์ความร่วมมือฯ กล่าว
ส่วนปัจจัยที่เป็นอุปสรรค นพ.วิทยา มองว่า เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด กล่าวคือ มีคนทำผิดกฎหมาย แต่ไม่ได้ถูกลงโทษ จนกลายเป็นเรื่องปกติ วันหนึ่งหลายสิบล้านคน ยกตัวอย่าง กรณีสวมหมวกกันน๊อค พบว่า ปัจจุบันมีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ราว 20 ล้านคน แต่สวมหมวกกันน๊อคเพียงร้อยละ 40 เท่านั้น
ยังไม่นับรวมปัญหาอื่น ๆ เช่น ขับเกินความเร็วที่กฎหมายกำหนด เมาแล้วขับ ขับย้อนศร ขับฝ่าไฟแดง ซึ่งทั้งหมดเป็นบ่อเกิดนำมาสู่อุบัติเหตุทางถนนทั้งสิ้น
ทั้งนี้ มิใช่ว่า ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ต้องการเข้มงวดจริงจัง เเต่เมื่อทำเเล้วกลับถูกต่อต้านอย่างรุนแรง มีการต่อว่าตำหนิการทำงานของตำรวจ ทำให้ความเข้มงวดลดน้อยลง รวมถึงกำลังพลที่ทำหน้าที่ไม่เพียงพอ ขาดงบประมาณจัดซื้อเทคโนโลยีสนับสนุนการดำเนินงาน ที่สำคัญ ระบบรองรับการบังคับใช้กฎหมายล้าสมัย ทำให้ขาดประสิทธิภาพ การบังคับใช้ ไม่สามารถจัดการกับคนผิดได้ถึงที่สุด
ผอ.ศูนย์ความร่วมมือฯ ยังยกตัวอย่างอุบัติเหตุรถตู้ท่องเที่ยวชนท้ายรถสิบล้อที่จ.พระนครศรีอยุธยา จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน หนึ่งในนั้น คือ พลเมืองญี่ปุ่น 2 คน โดยคนหนึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งสื่อในญี่ปุ่นนำเสนอข่าวดังกล่าวติดต่อกันหลายวัน ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงกระบวนการดูแลนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มงวด
“ทีมฟุตบอล มีกองหน้าเก่ง ยิงเข้าประตู แต่กองหลังปรากฎว่า ไม่เอาไหน” นพ.วิทยา เปรียบเทียบให้ฟัง และว่า เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวไทย มีโปรโมชั่นที่ดี เชิญชวนให้คนเข้ามาท่องเที่ยว แต่กองหลังกลับมีปัญหา เพราะขาดกระบวนการดูแลนักท่องเที่ยวที่ดี
ปัญหาที่ว่า คือ การตรวจสอบโครงสร้างรถตู้ คุณสมบัติผู้ขับรถ การจำกัดความเร็ว การมอนิเตอร์จีพีเอส การบังคับใช้กฎหมาย
เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนที่เสี่ยงเพิ่มมากขึ้น นพ.วิทยา จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้นว่า ต้องยอมรับก่อนว่า ขณะนี้ปัญหาอุบัติภัยทางถนนของไทยอยู่ในขั้นวิกฤติ ดังนั้นทุกหน่วยงานต้องจริงจังในการดำเนินงานมากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้กฎหมาย
มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดหาอุปกรณ์สนับสนุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเร่งปรับระบบการเอาผิดกับผู้กระทำผิดถึงที่สุด
ขณะที่ภาคประชาชนและภาคประชาสังคม ต้องหันมาตระหนักเช่นกันเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว พร้อมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้น ช่วยกันสอดส่องดูแล และถ่ายทอดสู่สังคมผ่านสื่อมวลชน และติดตั้งกล้อง CCTV ในรถทุกคน เพื่อเก็บภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะนั่นคือหลักฐานสำคัญ
ที่สำคัญ ผอ.ศูนย์ความร่วมมือฯ ฝากความหวังไว้ที่สื่อมวลชนให้ช่วยกันนำเสนอข้อมูล ปัญหา ผลเสีย และผลกระทบที่เกิดจากภัยบนท้องถนน และมุ่งเน้นการรายงานข่าวเชิงวิเคราะห์ และเปิดช่องให้ประชาชนมีโอกาสเสนอข้อมูล หรือประเด็นปัญหาต่าง ๆ ได้
หากสุดท้าย ทุกฝ่ายจับมือกันและแก้ไขปัญหาอย่างถูกจุด อุบัติเหตุทางถนนของไทยจะลดลง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน .