กคช.สังเคราะห์งานวิจัยที่อยู่อาศัยให้เป็นหมวดหมู่ ง่ายต่อการสืบค้น
การเคหะแห่งชาติร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินการศึกษา “โครงการสังเคราะห์งานวิจัยที่อยู่อาศัย และพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อจัดการเผยแพร่งานวิจัย” เพื่อจัดระบบหมวดหมู่งานวิจัยของการเคหะแห่งชาติให้เป็นระเบียบง่ายแก่การสืบค้นสำหรับผู้ปฏิบัติงานของการเคหะแห่งชาติและบุคคลภายนอกที่สนใจในงานวิจัย
ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันผลการศึกษาวิจัยด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติมีจำนวนมาก จำเป็นที่จะต้องจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึง และสะดวกต่อการเลือกใช้งานวิจัยให้ตรงกับความต้องการ จึงได้มอบหมายให้วิทยาลัยประชาคมอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินการศึกษา “โครงการสังเคราะห์งานวิจัยที่อยู่อาศัย และพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อจัดการเผยแพร่งานวิจัย” เพื่อศึกษาวิเคราะห์/สังเคราะห์เนื้อหาของงานวิจัยด้านที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ และจัดหมวดหมู่ผลงานวิจัย โดยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของงานวิจัยที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องสอดคล้องกัน ทั้งในเชิงแนวคิด/ทฤษฎี วิธีดำเนินการหรือกระบวนการดำเนินงาน ผลการศึกษา ผลสรุปและข้อเสนอแนะที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ การดำเนินภารกิจขององค์กร
สำหรับผลงานวิจัยที่นำมาจำแนกและคัดกรองจะเป็นงานวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาที่อยู่อาศัย การพัฒนาชุมชน และการพัฒนาเมือง โดยจำแนกหมวดหมู่งานวิจัยออกเป็น 3 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 การจัดจำแนกหมวดหมู่งานวิจัยตามภารกิจของหน่วยงาน จะเป็นงานวิจัยที่ตอบสนองต่อการดำเนินภารกิจ, มิติที่ 2 การจัดจำแนกหมวดหมู่งานวิจัยตามกลุ่มองค์ความรู้ จะเป็นงานวิจัยองค์ความรู้ที่มีอยู่ในเชิงวิชาการตามสาขาวิชาต่างๆ และ มิติที่ 3 การจัดจำแนกหมวดหมู่งานวิจัยตามทิศทางการพัฒนาประเทศ จะเป็นงานวิจัยที่เกี่ยวกับทิศทางด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย คุณภาพชีวิตในการอยู่อาศัย และการพัฒนาเมืองในอนาคต พร้อมทั้งได้สังเคราะห์ชุดความรู้ โดยใช้เกณฑ์ในคัดกรองงานวิจัย อาทิ เกณฑ์ด้านเวลา เกณฑ์ด้านพื้นที่ และด้านความเชื่อมโยง ซึ่งพบว่ามีผลงานวิจัยของการเคหะแห่งชาติผ่านการคัดกรองจำนวน 147 ผลงาน จากทั้งหมด 374 ผลงาน โดยจัดเป็นกลุ่ม ชุดความรู้จำนวน 19 ชุดความรู้ อาทิ กลุ่มการจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับเมืองและชนบท กลุ่มการพัฒนา ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มการบริหารการเงินสำหรับการเข้าถึงที่อยู่อาศัย เป็นต้น โดยคณะผู้วิจัยจะดำเนินการจัดทำระบบฐานข้อมูล และระบบสารสนเทศของงานวิจัยที่ได้รับการคัดกรองแล้ว เพื่อเพิ่มความสะดวกในการสืบค้นงานวิจัยของการเคหะแห่งชาติให้กับผู้ที่สนใจและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาต่อไป