ปฏิรูปตำรวจเคาะแล้ว ยึดอำนาจนายกฯ แต่งตั้ง ผบ.ตร.
ปฏิรูปตำรวจคืบหน้า อนุกรรมการฯ "เคาะ" แล้ว ยึดอำนาจนายกฯ แต่งตั้ง ผบ.ตร. ไปให้ ก.ตร.ทำหน้าที่ เดินหน้ารับฟังความคิดเห็น 28 พ.ย. ก่อนแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เสนอรัฐบาล 29 ธ.ค. เพื่อชงเข้า สนช.ยกเครื่อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2560 นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารกับสังคมในคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการด้านบริหารงานบุคคล ซึ่งมี พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานอนุกรรมการอีกตำแหน่งหนึ่ง ได้มีข้อยุติในเรื่องการบริหารงานบุคคลของตำรวจ โดยมีข้อเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 29 มาตราด้วยกัน และคณะอนุกรรมการด้านการรับฟังความคิดเห็น จะได้นำข้อเสนอดังกล่าวไปรับฟังที่เวทีใหญ่ ในโรงแรมเซนทารา ศูนย์ราชการ ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ เพื่อที่จะได้นำข้อเสนอแนะ และข้อท้วงติงมาเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ ก่อนที่จะเสนอให้รัฐบาลนำไปพิจารณา ในวันที่ 29 ธ.ค. 2560 ทั้งนี้ การรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องดังกล่าว เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 77
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ตามที่ได้ยกร่างขึ้นมานั้น จะมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีรองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน ส่วนกรรมการมี 2 ประเภทคือ 1 กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, ปลัดกระทรวงยุติธรรม, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 2 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน ให้ประธาน รองประธาน และกรรมการโดยตำแหน่งร่วมกันสรรหามาจากผู้มีความรู้ความสามารถ เชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ด้านยุทธศาสตร์การวางแผน กฎหมาย การพัฒนาองค์กร หรือความมั่นคง ก.ตช. จะมี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ และเลขานุการ
ส่วน คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ตามที่จะมีการแก้ไขใหม่นี้ มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ เลขาธิการ กพ. จเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจะมี 2 ประเภท คือ 1. ผู้ทรงคุณวุฒิที่เคยเป็นผู้บัญชาการ และพ้นหน้าที่มาเกินหนึ่งปีแล้ว ให้ตำรวจตั้งแต่ชั้นผู้กำกับขึ้นไปเลือกมา 6 คน (แต่ถ้ามีจำนวนรองผุ้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพิ่มขึ้น ก็ให้เลือกผู้ทรงคุณวุฒิประเภทนี้เพิ่มขึ้นอีกได้) 2. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งไม่เป็น และไม่เคยเป็นตำรวจมาก่อนจำนวน 2 คน โดยให้ประธาน, กรรมการโดยตำแหน่ง และตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ ตามข้อ 1. ร่วมกันสรรหามา กรรมการ ก.ตร.นี้ มีผู้บัญชาการ สนง.ก.ตร.เป็นเลขานุการมีอำนาจพิจารณาคัดเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนใหม่ ตามที่คนเดิมเสนอ รวมทั้งให้มีหน้าที่กำหนดมาตรฐาน หรือกำหนดการอื่นใดเพื่อคุ้มครองระบบคุณธรรม
สำหรับมาตรการการรักษาความเที่ยงธรรมในการแต่งตั้ง และและโยกย้ายตำรวจนั้น ร่างกฎหมายนี้ได้กำหนดให้ ก.ตร. ออกกฎ ตร. กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจไว้ให้ชัดเจนแน่นอน โดยอย่างน้อยต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อำนาจ หรือกระทำการโดยมิชอบ ที่เป็นการก้าวก่าย หรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ หรือกระบวนการแต่งตั้งโดยคำนึงถึงความอาวุโส ประวัติการรับราชการ ผลการปฏิบัติงาน ความประพฤติ และความรู้ความสามารถประกอบกันเพื่อให้ข้าราชการตำรวจปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระ ไม่ตกอยู่ในอาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพ และภาคภูมิใจสูงขึ้นในหน่วยงานที่สังกัด" กฎ ก.ตร.นี้ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย
ส่วนผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. นั้น ได้กำหนดว่าให้ ผบ.ตร.เสนอชื่อ จเรตำรวจแห่งชาติ หรือ รอง ผบ.ตร. ไม่เกินสามคน แต่ไม่น้อยกว่าสองคน เสนอ ก.ตร.ให้เลือกเพียงหนึ่งคน แล้วเสนอนายกรัฐมนตรีให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง หากนายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วย ให้ส่งคืนให้ ก.ตร.พิจารณาใหม่จากชื่อที่เหลือภายใน 7 วัน เพื่อเลือกเพียง 1 คน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความขึ้นกราบบังคมทูล ในกรณีการแต่งตั้งนายตำรวจตั้งแต่รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติลงมาถึงผู้บังคับการให้ ผบ.ตร.คัดเลือกรายชื่อเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชกาารตำรวจพิจารณาก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความขึ้นกราบบังคมทูล เว้นแต่การแต่งตั้งระดับรองผู้บัญชาการและผู้บังคับการ ให้นำความเห็นของผู้บัญชาการมาประกอบการพิจารณาด้วย
ส่วนการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ครั้งนี้ นายมานิจ กล่าวว่าได้กำหนดให้การแต่งตั้งข้าราชการทุกระดับมีคณะกรรมการพิจารณาทั้งระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และระดับกองบัญชาการ มีการกระจายอำนาจให้ผู้บัญชาการหน่วยที่มิได้สังกัดสำนักงาน ผบ.ตร. มีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับรองผู้บังคับการลงมา รวมทั้งการพิจารณาบำเหน็จความชอบเลื่อนเงินเดือนในรูปคณะกรรมการ และให้มีหลักประกันว่า ตำรวจจะได้รับการพิจารณาปรับปรุงอัตราค่าครองชีพ และเงินเดือนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง