ตะลุยตลาดชินมณี! ไขเบื้องหลังร้าน'หนูณิชย์' ป้ายนี้สำคัญไฉน-ทำอย่างไรถึงได้มา?
"...ป้าไม่ได้ไปติดต่ออะไรเขาเลย เขาเป็นฝ่ายมาติดต่อเพื่อมอบป้ายให้เอง ซึ่งนอกจากป้ายแล้ว ก็มีถุงพลาสติกใส่อาหาร หมวก และผ้ากันเปื้อน โดยให้ลงชื่อพร้อมสำเนาบัตรประชาชน ในเอกสารให้จากนั้นเขาก็ไป..."
เม็ดเงินภาษีประชาชนที่ถูกใช้จ่ายไป คุ้มค่าเกิดประโยชน์กับการลงทุนหรือไม่?
คือ ประเด็นสำคัญที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ทิ้งท้ายไว้ จากการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงิยงบประมาณจำนวนกว่า 60 ล้านบาท ของกรมการค้าภายใน ในการดำเนินงานโครงการร้านหนูณิชย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ ที่มุ่งยกระดับคุณภาพร้านอาหารริมถนน หรือ Street Food ทั้งในเรื่องของรสชาติ ราคา ให้มีคุณภาพและมาตรฐานแก่ผู้บริโภค (อ่านประกอบ : 60 ล้าน! เปิดเม็ดเงินต้นทุนล่าสุด'หนูณิชย์' นโยบายยกระดับร้าน Street Food ก.พาณิชย์)
ทั้งนี้ ในระหว่างที่รอคอยผลการตรวจสอบประเมินความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเม็ดเงินภาษีประชาชนไปกับโครงการนี้ จากหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง อย่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
สำนักข่าวอิศรา ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการมอบป้ายสัญญาลักษณ์ หนูณิชย์ ให้กับร้านอาหารริมถนน หรือ Street Food ที่บริเวณตลาดชินมณี ในซอยชินเขต 2 ซึ่งปัจจุบันมีร้านขายอาหารตามสั่งหลายแห่งติดสัญญาลักษณ์ หนูณิชย์ ไว้หน้าร้าน (ดูรูปประกอบ)
แม่ค้าร้านค้าอาหารตามสั่งที่ได้ติดป้ายสัญญาลักษณ์ หนูณิชย์ ไว้หน้าร้านรายหนึ่ง ให้ข้อมูลไว้ ก่อนหน้านี้ มีรถตู้คันหนึ่งมาจอดที่บริเวณหน้าตลาด มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ 2 คน มาติดต่อ เพื่อมอบป้ายสัญญลักษณ์หนูณิชย์ ให้
"ป้าไม่ได้ไปติดต่ออะไรเขาเลย เขาเป็นฝ่ายมาติดต่อเพื่อมอบป้ายให้เอง ซึ่งนอกจากป้ายแล้ว ก็มีถุงพลาสติกใส่อาหาร หมวก และผ้ากันเปื้อน โดยให้ลงชื่อพร้อมสำเนาบัตรประชาชน ในเอกสารให้จากนั้นเขาก็ไป"
เมื่อถามว่า รู้หรือไหมว่าหนูณิชย์ คือป้ายสัญญลักษณ์อะไร แม่ค้าร้านค้าอาหารตามสั่งรายนี้ ตอบว่า "เพิ่งรู้ว่าเป็นป้ายเกี่ยวกับโครงการธงฟ้า ซึ่งนอกจากร้านป้าแล้ว ก็มีอีกหลายร้านที่อยู่ติดๆ กัน ก็ได้รับแจกป้ายและของเหมือนกัน"
เมื่อถามว่า คนที่มาติดต่อ แจ้งหรือไม่ว่าทำไม ร้านเราถึงได้รับป้ายสัญญลักษณ์หนูณิชย์ แม่ค้าร้านค้าอาหารตามสั่งรายนี้ ตอบว่า "ไม่รู้เหมือนกัน เขามาติดต่อมอบป้ายให้ แต่เห็นบอกว่า จะให้เฉพาะร้านอาหารตามสั่งเท่านั้น เป็นพวกร้านที่ขายอาหารในราคาประมาณ 25- 30 -35 บาท ต่อจาน อะไรประมาณนี้"
เมื่อถามว่า มีการตรวจสอบเรื่องรสชาติ คุณภาพ และความสะอาดของอาหารด้วยหรือไม่ แม่ค้าร้านค้าอาหารตามสั่งรายนี้ ตอบว่า "อันนี้ไม่รู้ เขาแค่มาติดต่อว่าจะมอบให้ จากนั้นก็ให้กรอกแบบฟอร์ม สำเนาบัตรประชาชนด้วย หรือเขาอาจจะส่งคนมาสุ่มตรวจ มานั่งกินร้านเราแล้วก็ได้มั่ง"
เมื่อถามถึงคุณภาพสิ่งของที่นำมามอบให้ แม่ค้าร้านค้าอาหารตามสั่งรายเดิมยืนยันว่า "ดูแล้วก็เป็นของมีคุณภาพนะ อย่างผ้ากันเปื้อนเป็นของดีเลย ป้ายังไม่กล้าเอามาใส่เลยกลัวมันเปื้อน"
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า จากการสอบถามข้อมูลร้านขายอาหารหลายแห่ง ที่ได้รับป้ายสัญญลักษณ์ หนูณิชย์ ได้รับการยืนยันข้อมูลตรงกัน ว่า มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ มาติดต่อมอบป้ายให้เอง ไม่ได้เป็นฝ่ายไปติดต่อหรือเรียกร้องอะไรไป ขณะที่แม่ค้าบางราย ก็ยังไม่รู้ความหมายหรือความสำคัญของป้ายนี้ด้วย
ทั้งนี้ ในระหว่างสอบถามข้อมูล สำนักข่าวอิศรา ได้มีโอกาสตรวจสอบป้ายสัญญาลักษณ์ หนูณิชย์ พบว่า ทำจากวัสดุที่คล้ายกับแผ่นพลาสติก แต่มีน้ำหนักเบากว่ามาก ขณะที่ร้านค้าบางร้าน ก็ไม่ได้นำป้ายมาติดไว้หน้าร้านด้วย (ดูรูปประกอบ)
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ หนูณิชย์ http://noonid.dit.go.th/ พบว่า มีการระบุเกณฑ์พิจารณาร้านจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จเพื่อคืนความสุขทุกจานให้ประชาชน (ถูก สะอาด ดี อร่อย) ว่า
1. เป็นผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จประเภทอาหารจานเดียว หรืออาหารปรุงสำเร็จในเมนูหลัก เช่น อาหารตามสั่ง ข้าวราดแกง ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว ข้าวเหนียวหน้าหมู ฯลฯ
2. สภาพร้านเป็นสถานที่สะอาดและถูกสุขลักษณะมีที่ตั้งชัดเจน มีที่ตั้งชัดเจน (ยกเว้น รถ Food Truck)
3. ราคาจำหน่ายต้องไม่เกิน 25-35 บาท/จาน/ชาม/ถุง/ห่อ/กล่อง
4. มีการปิดป้ายราคาจำหน่ายที่ชัดเจน
5. กรณีที่เป็นรถ Food Truck ต้องเป็นรถที่ได้รับการจดทะเบียนรถถูกต้องตามกฎหมาย
6. หลักฐานที่ใช้ประกอบการรับสมัคร (ถ้ามี) ใบทะเบียนพาณิชย์ หรือ ใบอนุญาตจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ หรือ ใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหาร หรือ หนังสือรับรองการแจ้งจัดตั้งสถานที่ จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหาร
7. กรณีไม่มีหลักฐานตามข้อ 5. สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ “ร้านหนูณิชย์” ได้ ดังนี้
(1) ส่วนกลาง 3 ช่องทาง คือ
- กรมการค้าภายใน ณ สำนักจัดระบบและพัฒนามาตรฐานทางการค้า
- เจ้าหน้าที่ของกรมฯ ให้บริการถึงพื้นที่/สถานที่ตั้งร้านค้า
- ประสานผ่านสายด่วน 1569 แจ้งขอสมัครร้านหนูณิชย์
(2) สำนักงานเขต กรุงเทพมาหานคร ทั้ง 50 เขต
(3) ส่วนภูมิภาค 3 ช่องทาง คือ
- สำนักงานพาณิชย์จังหวัด (กลุ่มงานกำกับดูแลและพัฒนาเศรษฐกิจการค้า)
- เจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดให้บริการถึงพื้นที่/สถานที่ตั้งร้านค้า
- หอการค้าจังหวัด
ทั้งนี้ ร้านที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้สิทธิประโยชน์ อาทิ
1. การประชาสัมพันธ์ร้านผ่านเว็บไซต์ ดังนี้
1) www.facebook.com/noonid.moc
2) www.noonid.dit.go.th
3) application หนูณิชย์
4) เว็บไซต์ของหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์
2. วัสดุประชาสัมพันธ์ร้านอาหารหนูณิชย์ดังนี้
1) ป้ายสัญลักษณ์รับรองคุณภาพ จำนวน 1 ป้าย/ร้าน
2) ผ้ากันเปื้อนพร้อมหมวกหนูณิชย์จำนวน 2 ชุด/ร้าน
3) จาน หรือ ชาม จำนวน 1 โหล/ร้าน
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า หลักเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติทั้งหมด จะใช้สำหรับการพิจารณาร้านค้าที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ขณะที่ร้านอาหารแถวตลาดชินมณี ที่ได้รับแจกป้ายสัญญลักษณ์และอุปกรณ์ไป ไม่ได้ติดต่อเข้าสมัครเข้าร่วมโครงการแต่อย่างใด แต่มีคนไปติดต่อให้ลงชื่อในเอกสาร เพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งของที่นำไปมอบให้แทน
หรือมีใครบางกลุ่ม กำลังใช้กลยุทธ์ปั่นยอดสร้างตัวเลขร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการให้มีจำนวนมากๆ เพื่อนำไปใช้ประกอบเป็นข้อมูลยืนยันความสำเร็จของโครงการฯ นี้ เนื่องจากในขั้นตอนปฏิบัติงานที่ผ่านมามีพ่อค้าแม่ค้าสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวนน้อยไม่ถึงเกณฑ์ที่ตั้งไว้?
ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็อาจเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนได้ในระดับหนึ่งว่า งบประมาณที่ถูกใช้จ่ายไปกับโครงการนี้ ซึ่งมีที่มาจากเงินภาษีประชาชน เหมาะสมคุ้มค่าแล้วหรือไม่?