นักวิชาการเสนอนายกฯ ตั้งกองทุน-ประกันภัยน้ำท่วม แก้ระยะยาว
นักวิชาการระบุน้ำท่วมปัญหาเก่า บทเรียนมีมาก แต่ไม่เคยสรุป รัฐต้องกล้าลงทุนป้องกันล่วงหน้า หาทางออกระยะยาว ไม่ใช่แค่แก้เฉพาะหน้า เสนอปันเขตแม่น้ำลำคลองให้ชัด เข้มงวดสิ่งก่อขวางทางน้ำ เริ่มแก้ปัญหาจากฐานเดิมก่อน อย่าตำน้ำพริกละลายน้ำโครงการใหม่
วันที่ 19 พ.ย. 53 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) สำนักงานบริการวิชาการ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มก.จัดงานสัมมนา“บทเรียนจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นกับแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหา” โดย รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดี มก. กล่าวว่าเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาไทยประสบปัญหาน้ำท่วมหนักในวงกว้าง จริงๆแล้วอุทกภัยเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว เมื่อใดที่ได้รับอิทธิพลจากร่องความกดอากาศต่ำและลมมรสุมพาดผ่าน จะมีฝนตกติดต่อกันนานทำให้น้ำท่วม ดังนั้นควรมีการทบทวนปัญหาสรุปบทเรียน เพื่อนำไปสู่แนวทางป้องกันแก้ไข ร่วมมือและกำหนดทิศทางระหว่างทุกภาคส่วน
นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประธาน กล่าวว่า น้ำท่วมหนักปีนี้เกิดจากเขื่อนหลายแห่งกักเก็บน้ำไว้เกือบเต็มแล้ว แต่ยังมีฝนตกหนักลงมาอีก ทำให้ต้องเร่งระบายน้ำออกเพื่อป้องกันเขื่อนแตก ซึ่งที่นครราชสีมามีฝนตกรุนแรงติดต่อกัน 3 วัน ทำให้น้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิงและลำตะคองจำนวนมาก ที่สำคัญโครงสร้างการระบายน้ำของเขื่อนลำพระเพลิงยังแตกต่างจากที่อื่นอีกด้วย
“การระบายน้ำออกที่เขื่อนลำพระเพลิงเราควบคุมไม่ได้เลย เพราะที่ระบายน้ำล้นมีลักษณะปากระฆังหรือดอกผักบุ้ง เหมือนปากแตรและเป็นกรวยลงมา ซึ่งอยู่ใจกลางอ่าง เมื่อน้ำเต็มจะไหลงลำพระเพลิงอัตโนมัติ จากนั้นจะเข้าปักธงชัย ซึ่งอนาคตต้องปรับปรุงการระบายน้ำของเขื่อน”
นายวีระ กล่าวอีกว่า น้ำท่วมควบคุมได้ หากศึกษาภูมิประเทศให้รู้ระยะการเดินทางและปริมาณน้ำ เช่น ช่วงที่กังวลว่าน้ำจะท่วมที่อุบลราชธานี เพราะเป็นจุดรวมน้ำ 2 สาย แต่เนื่องจากแม่น้ำดังกล่าวมีความยาวและความคดเคี้ยว ต่างกันทำให้น้ำไหลมายังอุบลราชานีในเวลาต่างกัน
ด้านนายมนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า แนวทางบริหารจัดการสาธารณภัยภายใต้แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2553 – 2557 ตามมติคณะรัฐมนตรี 17 พ.ย.52 ใช้เป็นกรอบในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยแบ่ง ขอบเขตของสาธารณะภัยไว้ 14 ประเภท คือ 1.อุทกภัยและดินโคลนถล่ม 2.ภัยจากพายุหมุนเขตร้อน 3. ภัยจากอัคคีภัย 4.ภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย 5.ภัยจากการคมนาคมและขนส่ง 6.ภัยแล้ง 7.ภัยจากอากาศหนาว 8.ภัยจากไฟป่าและหมอกควัน 9.ภัยจากแผ่นดินไหว และอาคารถล่ม 10.ภัยจากคลื่นสึนามิ 11.ภัยจากโรคระบาดในมนุษย์ 12.ภัยจากโรค แมลง สัตว์ ศัตรูพืชระบาด 13.ภัยจากโรคระบาดสัตว์ และสัตว์น้ำ และ 14.ภัยจากเทคโนโลยีสารสนเทศ และแบ่งความรุนแรงและการสั่งการไว้ 4 ระดับ เริ่มจากการจัดการภายในชุมชนก่อน เพื่อให้เกิดวิธีการป้องกันและรับมืออย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
“ที่ผ่านมาเราเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน มีการอบรมการป้องกันและรับมือและมีอาสาสมัครทั่วประเทศ อย่างที่อุบลฯ พอมีข่าวน้ำจะท่วมเพราะแม่น้ำ 2 สายจะไหลมารวมกัน ก็มีการฝึกซ้อม เตรียมป้องกันเป็นอย่างดี มิเช่นนั้นอาจเกิดความสูญเสียมากกว่านี้”
นายมนตรี กล่าวอีกว่า สิ่งที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการบริหารจัดการสาธารณภัยของไทย คือรัฐต้องกล้าลงทุนด้านการป้องกันและการเตรียมความพร้อม ปีที่ผ่านมาได้งบประมาณเพียง 10% จากที่เสนอไป เมื่อเกิดเหตุการณ์แล้วจึงมีงบพิเศษเพิ่มมาอีก 300 ล้าน ซึ่งไม่สามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้มากนัก เนื่องจากทุกที่มีความต้องการเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งการบูรณาการอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพทั้งด้านทรัพยากรและข้อมูลจะทำให้การป้องกันมีความพร้อมและสูญเสียน้องลง
รศ.ชัยวัฒน์ ขยันนาวี อาจารย์ประจำภาควิชาทรัพยากรน้ำ มก. เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วยวิธีปักปันเขตแม่น้ำ ลำห้วย คลอง และคูน้ำให้ชัดเจน ใช้มาตรการผังเมืองกำหนดทางระบายน้ำหลัก
ตลอดจนการกำหนดระยะร่นการก่อสร้างที่ติดกับแม่น้ำ ลำห้วย คลอง คูระบายน้ำ และทางระบายน้ำหลัก เช่นเดียวกับระยะร่นของการปลูกสร้างอาคารติดถนน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการระบายน้ำในอนาคตและความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินประชาชน
“มีหลายวิธีที่จะป้องกันน้ำท่วมได้ คือต้องเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำทางระบายน้ำหลักโดยขุดลอก/ดาดคอนกรีต เพิ่มประสิทธิภาพการสูบน้ำออกแม่น้ำ ทะเล ผันน้ำอ้อมเมืองหรือชุมชน หรือเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำ ใช้ระบบคาดการณ์น้ำท่วม การเตือนภัย ที่มีประสิทธิภาพ และจัดตั้งกองทุนน้ำท่วม หรือประกันภัยน้ำท่วม จะนำเสนอแนวคิดทั้งหมดนี้ต่อนายกรัฐมนตรีอาทิตย์หน้า”
รศ.ชัยวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า การทำแก้มลิงที่หลายฝ่ายกำลังคิดว่าเป็นวิธีการแก้ไขที่ดี ตนมองว่าหากทำแก้มลิงขนาดเล็กกลับเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปไม่นานจะตื้นเขินเพราะตะกอนที่มาทับถม เสนอให้จัดการทางน้ำเดิมที่มีอยู่แล้วให้ดีเพื่อให้การระบายน้ำคล่องตัวได้ดีกว่าปัจจุบัน .