ความท้าทายของการเป็นรัฐบาลดิจิทัล -มีอะไรใหม่ในปี 2561
เรากำลังอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ อีก 5 ปี อะไรจะเกิดขึ้น ประเทศไทยพร้อม หรือไม่พร้อม หน่วยงานภาครัฐจะใช้เทคโนโลยีมาตอบโจทย์และบริการประชาชนได้อย่างไรบ้าง
“ผมฝันว่า อีก 5 ปี ไปใช้บริการหน่วยงานภาครัฐ จะไม่ขอสำเนา
ผมฝันว่า ต่อไปเราจะได้รับบริการภาครัฐจากที่ไหนก็ได้ โดยไม่ต้องเดินไปที่สำนักงานหน่วยงานภาครัฐ
ผมฝันว่าเราจะดึงข้อมูลภาครัฐที่แจ้งเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับประชาชนได้อย่างทันท่วงที”
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ (EGA) ตั้งความหวังไว้ในงานสัมมนา "Digital Government Summit 2017:เปิดเผย เชื่อมโยง เปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัล" ณ ลานอีเดน ชั้น 1 ศูนย์การค้า Central World กรุงเทพฯ จัดโดย สำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมกับยืนยันว่า เรากำลังอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ อีก 5 ปี อะไรจะเกิดขึ้น ประเทศไทยพร้อม หรือไม่พร้อม หน่วยงานภาครัฐจะใช้เทคโนโลยีมาตอบโจทย์และบริการประชาชนได้อย่างไรบ้าง
ลองมาดูความก้าวหน้าในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศ และก้าวต่อไปในปี 2561 ประชาชนจะได้อะไรจากรัฐบาลดิจิทัล
ผอ.สำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ โชว์แผนระยะ 3 ปี (2559-2561) และแผนระยะ 5 ปี (2560-2564) ซึ่งแผนระยะ 3 ปี นั้น 34 โครงการ ประกอบด้วย การบูรณาการและยกระดับโครงการพื้นฐานรัฐบาลดิจิทัล การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน การยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของภาคธุรกิจ และการยกระดับความมั่นคงและเพิ่มความปลอดภัยของประชาชน ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 12 โครงการ อาทิ พร้อมเพย์ การตั้งบริษัทในยุคนี้กรอกแค่เว็บไซต์เดียว การบูรณาการข้อมูลภัยพิบัติ เป็นต้น
การก้าวสู่รัฐบาลดิจิทัลเราต้องรู้ตัวเอง หน่วยงานภาครัฐของไทยอยู่ตรงไหน มีความพร้อมทางด้านดิจิทัลมากแค่ไหน โดยผลการสำรวจระดับความพร้อมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยในปี 2560 กว่า 200 กรม ถึงความพร้อม บุคลากรภาครัฐ การบริการออนไลน์ (800 บริการ) ระบบหลังบ้านของภาครัฐ โครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคงปลอดภัย และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ พบว่า หน่วยงานภาครัฐระดับกรมได้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 57.2 ค่าคะแนนสูงสุด คือ มิติโครงสร้างพื้นฐานที่มีความมั่นคงปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ และหน่วยงานภาครัฐระดับจังหวัด ได้ค่าคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 36.6 ค่าคะแนน สูงสุด คือ มิติการบริหารจัดการภายใต้รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
“นี่แค่ปีแรก เรายังมีเวลาอีก 4 ปีช่วยให้ภาครัฐ พร้อมเดินสู่รัฐบาลดิจิทัล สมบูรณ์แบบ” ดร.ศักดิ์ ระบุ และชี้ให้เห็นถึงความท้าทายของการเป็นรัฐบาลดิจิทัล คือข้อมูลปริมาณมากที่หลากหลายและซับซ้อน เรามีผู้รับบริการกว่า 65 ล้านคน แรงงานเพื่อนบ้าน 2-3 ล้านคน เป็นนิติบุคคลกว่า 3 ล้านองค์กร และชาวต่างชาติ หรือนักท่องเที่ยวกว่า 28 ล้านคน รวมถึงข้อมูลบ้านเราถูกจัดเก็บในหลายหน่วยงานที่มีมาตรฐานต่างกัน 20 กระทรวง 146 กรม และมากกว่า 6 พันงานบริการ
เขาเห็นว่า กฎระเบียบเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จำกัดการบูรณาการข้อมูลในเชิงปฏิบัติ ซึ่งเป็นความท้าทายที่หน่วยงานภาครัฐต้องร่วมแรงร่วมใจ เดินไปสู่รัฐบาลดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบให้ได้ โดยมีคำแค่ 3 คำเท่านั้นเอง คือ "เปิดเผย เชื่อมโยง และเปลี่ยนผ่าน"
- เปิดเผย ข้อมูลภาครัฐต้องเปิด เช่น แอปพลิเคชั่น "ภาษีไปไหน" ข้อมูลภาครัฐการจัดซื้อจัดจ้างกว่า 4 ล้านกว่าโครงการอยู่ในมือท่านแล้ว
- เชื่อมโยง หากฐานข้อมูลภาครัฐไม่เชื่อมโยงก็ไม่สามารถให้บริการดิจิทัลได้ ทั้งทะเบียนบบ้าน บัตรประชาชน ใบขับขี่รถยนต์ เป็นต้น ฉะนั้นอนาคตเราจะลดการใช้กระดาษมากที่สุด
"เรามีบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดมา 10 กว่าปีไม่เคยใช้ให้สมความว่า สมาร์ท ปีที่ผ่านมาเราได้เริ่มแสดงให้เห็นว่า ทำอย่างไรให้บัตรประชาชนสมาร์ท คือการไม่ต้องขอสำเนาแล้ว"
- เปลี่ยนผ่าน การให้บริการภาครัฐต้องเปลี่ยนวิธี เช่น จากต้องวาดรูปแผนที่บ้านเวลาไปติดต่อกับหน่วยงานราชการ อนาคตอาจแค่กด GPS ตำแหน่งบ้านของประชาชนลงในระบบภาครัฐ นี่คือการเปลี่ยนวิธีคิดการให้บริการประชาชน
"เรากำลังก้าวสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ด้วยบริการภาครัฐ เช่น พร้อมเพย์ บัตรแมงมุม ระบบคิวอาร์โค้ด QR Code โอนเงินข้ามธนาคาร,ลดการใช้กระดาษ (Less Paper), มีบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด, การบริการภาครัฐ แบบ One Stop Service, ระบบคำขอแบบ Single Form ,ติดต่อราชการได้แบบเบ็ดเสร็จ ครบวงจร ณ จุดเดียวไม่ต้องวิ่งทั่วเมืองอีกแล้ว ,ระบบกรอกข้อมูลที่ภาครัฐมีอยู่แล้ว ให้โดยอัตโนมัติ สะดวก ไม่ผิดพลาด, ส่งเอกสารประกอบเพียงชุดเดียวแล้วหน่วยงานแชร์กันไม่ขอซ้ำ, ติดตามผลการพิจารณาได้ตลอด 24 ชั่วโมง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่มีการดึงเรื่อง และใบอนุญาตดิจิทัลมีผลทางกฎหมาย เหมือนเอกสารกระดาษ น้ำท่วม ไม่หาย เป็นต้น"
ผอ.สำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ ได้เน้นย้ำเรื่องการลดการใช้กระดาษ (Less Paper) ปัจจุบันมีเกือบ 50 บริการภาครัฐไม่ขอสำเนาแล้ว หวังว่าภายใน 5 ปีสำเนาจะน้อยลง หรือหมดไป โดย 10 อันดับแรกที่มีการขอสำเนา คือบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส พาสปอร์ต สำรวจดูแล้วภาครัฐมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว ติดที่การเชื่อมฐานข้อมูลนั่นเอง
"ภายใน 5 ปี บัตรประชาชนบัตรเดียวทำธุรกรรมได้ทุกที่ โดยไม่ต้องใช้สำเนา"
สำหรับปี 2561 รัฐบาลได้สั่งการให้ สำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ (EGA) บูรณาการข้อมูล Big Data ข้อมูลภาครัฐ ฉะนั้นปีหน้าจะเป็นปีของข้อมูลภาครัฐ The Year of Data
เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม เป็นปีของข้อมูลภาครัฐ ยกตัวอย่าง การลงทะเบียนคนจนการตรวจสอบ คนมีรายได้น้อย ซึ่งต้องตรวจสอบประวัติจากหลายๆ แหล่ง หากเรานำฐานข้อมูลจากเครดิตบูโรไปตรวจสอบกับฐานข้อมูล 11 ล้านคนของกรมบัญชีกลางที่มีคนมาลงทะเบียนคนจน ซึ่งสามารถจะบอกได้เลยว่า คนๆ นั้นหากมีข้อมูลในฐานของเครดิตบูโร ก็ไม่ใช่ผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากการขอทำบัตรเครดิตต้องมีเงินเดือนประมาณ 15,000 บาท
นี่คือตัวอย่างความสำคัญของข้อมูล
ฉะนั้น ปี 2561 สำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ เตรียมประกาศชุดข้อมูลแห่งชาติ Nation Data Set 300-500 ชุดข้อมูล รวมถึงต่อไปในอนาคตการจัดสรรงบประมาณภาครัฐก็จะเปลี่ยนไปจากวิธีหารเฉลี่ย มาจัดสรรงบประมาณให้ตรงจุด
โดยมีแผนในอนาคต รองรับหลังเกิดปีแห่งข้อมูล ดังนี้
- ระบบ Government AI หรือระบบรัฐบาลอัจฉริยะ Government Chatbot ยกตัวอย่าง ปี 2559 สปสช.มีประชาชนโทรมาสอบถามข้อมูลเรื่องสิทธิกว่า 8 แสนครั้ง ดังนั้นอนาคตการสอบถามหน่วยงานภาครัฐท่านจะคุยกับ AI
- ระบบ Government IoT Network หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงสรรพสิ่งของภาครัฐ
- ระบบ Blockchain as Government Data Infrastructure นำร่องในระบบสาธารณสุข
และระบบ Government Data Lake
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เต็มสิบ "ไกลก้อง" ให้คะแนนไม่ถึงครึ่ง ชี้ไทยยังห่างไกล คำว่า รัฐบาลดิจิทัล
ราชการไทยจะเป็นดิจิทัล 4.0 ไม่ใช่แค่เครื่องมือ แต่ต้องลงถึงระบบคิด
มุ่งสู่รบ.ดิจิทัล "วิษณุ" ยันระบบราชการที่เคยเบื่อ เอือม จะสะดวก ง่าย เร็วขึ้น