"ภูเก็ต-อยุธยา"แชมป์"ก้าวหน้า" แม่ฮ่องสอน-ชายแดนใต้รั้งท้าย!
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดรายงาน "ดัชนีความก้าวหน้าของคน" เรียกย่อๆ ว่า HAI (Human Achievement Index) ประจำปี 2560 พบว่า จ.ภูเก็ต พระนครศรีอยุธยา ลำพูน นนทบุรี และกรุงเทพฯ ติดกลุ่ม 5 อันดับแรกที่มีการพัฒนาคนมากที่สุดในประเทศ ขณะที่ จ.แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ชัยนาท ปัตตานี และสระแก้ว ติดกลุ่ม 5 อันดับรั้งท้ายจาก 77 จังหวัด โดย จ.ยะลา อยู่เหนือขึ้นมาเพียง 1 อันดับ
HAI เป็นดัชนีที่สะท้อนความก้าวหน้าการพัฒนาคนในระดับจังหวัดของประเทศไทย โดยกรอบแนวคิดการพัฒนาคน ครอบคลุมเรื่องการมีสุขภาพที่ดี มีการศึกษา มีชีวิตการงาน มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่นในชุมชนที่มีความปลอดภัย มีการคมนาคมที่สะดวกปลอดภัยและเข้าถึงการสื่อสารอย่างทั่วถึง ตลอดจนมีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี
ตัวชี้วัดมี 8 ดัชนีย่อย คือ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านชีวิตการงาน ด้านรายได้ ด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม ด้านชีวิตครอบครัวและชุมชน ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร และด้านการมีส่วนร่วม
วัตถุประสงค์ที่ สศช.จัดทำ "ดัชนีความก้าวหน้าของคน" ก็เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประเมินความก้าวหน้าของคนในระดับจังหวัด เพื่อให้จังหวัดต่างๆ ได้ทราบถึงลำดับตำแหน่งความก้าวหน้าของคนในจังหวัดของตน พร้อมทั้งจุดเด่นจุดด้อยในการพัฒนาคนของจังหวัด อันจะนำไปสู่การศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพื่อจะได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคนในจังหวัดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นต่อไป
รายงานของ สศช.ระบุว่า จังหวัดที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาคนมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ จ.ภูเก็ต พระนครศรีอยุธยา ลำพูน นนทบุรี และ กรุงเทพมหานคร โดยทั้ง 5 จังหวัดมีความก้าวหน้าในการพัฒนาคนด้านชีวิตการงาน ด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม ตลอดจนด้านการคมนาคมและการสื่อสารค่อนข้างสูง รวมทั้งการพัฒนาคนด้านการศึกษา ด้านรายได้ และด้านชีวิตครอบครัวและชุมชน ก็มีความก้าวหน้าในระดับปานกลางจนถึงค่อนข้างสูง ทำให้ดัชนีรวมติดกลุ่ม 5 อันดับแรกของประเทศ
ตัวบ่งชี้ที่สำคัญก็เช่น รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนสูง จำนวนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตและมีโทรศัพท์มือถือสูงมาก หมู่บ้านมีถนนสายหลักใช้การได้ตลอดปี ไม่ประสบปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย เหล่านี้เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ในกลุ่มจังหวัดระดับท็อป 5 ของประเทศ ตัวชี้วัดด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองกลับมีความก้าวหน้าน้อยมาก โดยเฉพาะใน จ.ภูเก็ต นนทบุรี และกรุงเทพฯ พิจารณาจากอัตราการใช้สิทธิ์การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 59 และการเป็นสมาชิกกลุ่มหรือองค์กรในท้องถิ่น ยกเว้น จ.ลำพูน ที่มีความก้าวหน้าด้านนี้มากที่สุด คืออันดับ 1 ของประเทศ
ส่วนจังหวัดที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาคนน้อยที่สุด 5 อันดับ คือ จ.แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ชัยนาท ปัตตานี และ สระแก้ว โดยทั้ง 5 จังหวัดมีความก้าวหน้าในการพัฒนาคนด้านการศึกษาและด้านรายได้น้อยมาก
ตัวบ่งชี้ที่สำคัญก็เช่น จ.แม่ฮ่องสอน ประชากรมีโทรศัพท์มือถือน้อยที่สุดในประเทศ หมู่บ้านที่ถนนสายหลักใช้การได้ตลอดปีก็มีน้อยที่สุด ประชากรประสบภัยแล้งและอุทกภัยสูงมาก ครัวเรือนที่มีบ้านและที่ดินเป็นของตนเองมีน้อยมาก เป็นต้น
ส่วนจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาความไม่สงบมานานอย่าง จ.นราธิวาส และปัตตานี ตัวบ่งชี้ที่สำคัญ เช่น อัตราการเข้าเรียนระดับ ม.ปลายและอาชีวศึกษา รวมถึงคะแนนเฉลี่ยการทดสอบ O-Net ระดับ ม.ปลาย ติดอันดับน้อยที่สุด (นราธิวาส 77, ปัตตานี 76) ความไม่เสมอภาคของรายได้ ตลอดจนสัดส่วนประชากรยากจนสูงมาก ประชากรที่มีโทรศัพท์มือถือและเข้าถึงอินเทอร์เน็ตก็น้อย สัดส่วนทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์สูงมาก
ขณะที่ จ.ยะลา แม้ไม่ได้อยู่ใน 5 อันดับรั้งท้าย แต่ก็อยู่อันดับที่ 6 จากท้าย
สำหรับอีก 2 จังหวัดรั้งท้าย คือ จ.ชัยนาท ตัวบ่งชี้ที่สำคัญคือ มีสัดส่วนประชากรที่ยากจนสูง ประสบปัญหาอุทกภัยมาก และการคมนาคมขนส่งไม่ดี ส่วน จ.สระแก้ว พบปัญหาครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนเดี่ยวมีสัดส่วนสูง ประสบปัญหาภัยแล้งบ่อยครั้ง และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำ
"ดัชนีความก้าวหน้าของคน" ซึ่ง สศช.เป็นผู้จัดทำเองนั้น จัดทำ 2 ปีต่อครั้ง โดยครั้งแรกเผยแพร่เมื่อปี 58 และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ก่อนหน้านี้ทำมาแล้ว 4 ครั้งโดยสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นดีพี
เจาะรายละเอียด 3 จังหวัดใต้
เมื่อเจาะตัวบ่งชี้ความก้าวหน้าในการพัฒนาคนของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบรายละเอียดที่ระบุในรายงานดังนี้
จ.นราธิวาส มีความก้าวหน้าการพัฒนาคนในภาพรวมน้อยมาก อยู่ลำดับที่ 76 จาก 77 จังหวัด เนื่องจากการพัฒนาคนในแต่ละด้านมีความก้าวหน้าน้อยมากเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาคนด้านการศึกษา ด้านรายได้ ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร ติดอันดับ 1 ใน 5 จังหวัดที่มีความก้าวหน้าน้อยที่สุด โดยอยู่ลำดับที่ 77 ลำดับที่ 77 และลำดับที่ 75 จาก 77 จังหวัดตามลำดับ ประกอบกับการพัฒนาคนด้านสุขภาพติดลำดับ 1 ใน 10 จังหวัดที่มีความก้าวหน้าน้อยที่สุด โดยอยู่ลำดับที่ 68 จาก 77 จังหวัด
ทั้ง 4 ด้านมีตัวบ่งชี้สาคัญ คือ อัตราการเข้าเรียนรวมระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา และคะแนนเฉลี่ยการทดสอบ O-Net ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย น้อยที่สุด อยู่ลำดับที่ 77 ความไม่เสมอภาคของรายได้ มากที่สุดอยู่ลำดับที่ 77 สัดส่วนประชากรยากจนสูงมาก อยู่ลำดับที่ 76 ประชากรที่มีโทรศัพท์มือถือน้อยมาก อยู่ลำดับที่ 76 ประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตน้อยมาก อยู่ลำดับที่ 75 และทารกแรกเกิดที่มีน้าหนักต่ากว่าเกณฑ์ค่อนข้างสูง อยู่ลำดับที่ 73 จาก 77 จังหวัด
อย่างไรก็ตาม จ.นราธิวาสมีจุดเด่นในบางประเด็น เช่น ติดลำดับ 1 ใน 5 จังหวัดที่มีครัวเรือนที่มีหนี้สินเพื่อการอุปโภคบริโภคน้อยที่สุด โดยอยู่ลำดับที่ 2 จาก 77 จังหวัด ประชากรที่ใช้สิทธิ์ลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 สูงมากเป็นลำดับที่ 9 จาก 77 จังหวัด ไม่มีประชากรที่ประสบภัยแล้ง เป็นต้น
จ.ปัตตานี มีความก้าวหน้าการพัฒนาคนในภาพรวมน้อยมาก อยู่ลำดับที่ 74 จาก 77 จังหวัด เนื่องจากการพัฒนาคนในแต่ละด้านมีความก้าวหน้าน้อยมากเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะด้านการศึกษาและด้านรายได้ ติดลำดับ 1 ใน 5 จังหวัดที่มีความก้าวหน้าน้อยที่สุด โดยทั้ง 2 ด้านอยู่ลำดับที่ 76 จาก 77 จังหวัด
ตัวบ่งชี้ที่สาคัญคือ ค่าเฉลี่ยเชาวน์ปัญญา (IQ) ของเด็กนักเรียนไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 น้อยที่สุด อยู่ลำดับที่ 77 คะแนนเฉลี่ยการทดสอบ O-Net ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายน้อยมาก อยู่ลำดับที่ 76 สัดส่วนประชากรยากจนสูงมาก อยู่ลำดับที่ 75 รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนค่อนข้างต่ำมาก อยู่ลำดับที่ 70 จาก 77 จังหวัด ประกอบกับการพัฒนาคนด้านชีวิตการงานของปัตตานีติดลำดับ 1 ใน 10 จังหวัดที่มีความก้าวหน้าน้อยที่สุดอีกด้วย อัตราการว่างงานค่อนข้างสูง อยู่ลำดับที่ 73 จาก 77 จังหวัด
นอกจากนี้ ปัตตานียังมีจุดด้อยในบางประเด็น เช่น ทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ค่อนข้างสูง อยู่ลำดับที่ 72 และประชากรที่มีโทรศัพท์มือถือค่อนข้างต่ำ อยู่ลำดับที่ 73 จาก 77 จังหวัด
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาคนด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมของปัตตานีมีความก้าวหน้ามากกว่าด้านอื่น โดยอยู่ลำดับที่ 20 จาก 77 จังหวัด ไม่มีประชากรที่ประสบอุทกภัยและภัยแล้ง
จ.ยะลา มีความก้าวหน้าการพัฒนาคนทุกด้านน้อยถึงน้อยมากเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะด้านการศึกษา ติดลำดับ 1 ใน 10 ของจังหวัดที่มีความก้าวหน้าน้อยที่สุด โดยอยู่ลำดับที่ 70 จาก 77 จังหวัด มีตัวบ่งชี้ คือ คะแนนเฉลี่ยการทดสอบ O-Net ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายน้อยมาก อยู่ลำดับที่ 75 และอัตราการเข้าเรียนรวมระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษาน้อยมาก อยู่ลำดับที่ 69 จาก 77 จังหวัด รวมทั้งด้านการมีส่วนร่วม ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร และด้านชีวิตการงาน มีความก้าวหน้าน้อย อยู่ลำดับที่ 65, 64 และ 60 จาก 77 จังหวัดตามลาดับ
ตัวบ่งชี้สาคัญ คือ ครัวเรือนที่มีส่วนร่วมทำกิจกรรมสาธารณะของหมู่บ้านน้อยมาก อยู่ลำดับที่ 71 ประชากรที่มีโทรศัพท์มือถือน้อยมาก อยู่ลำดับที่ 75
อย่างไรก็ตาม จ.ยะลามีจุดเด่นในบางประเด็น เช่น ไม่มีประชากรที่ประสบอุทกภัยและภัยแล้ง ครัวเรือนที่มีหนี้สินเพื่อการอุปโภคบริโภคน้อยมาก อยู่ลำดับที่ 4 เด็กอายุ 15-17 ปีที่ทำงานน้อยมาก อยู่ลำดับที่ 6 จาก 77 จังหวัด