เปิดตัว-คำให้การชัดๆ พยานปากเอก อยู่เบื้องหลังคดีที่ดินริมหาด จ.ภูเก็ต 1.2 หมื่น ล.
เปิดตัว คำให้การชัดๆ ขรก.สาว พยานปากเอก ผู้เชี่ยวชาญ แปลภาพถ่าย ปิดทองอยู่เบื้องหลัง คำพิพากษาคดีทวงคืนที่ดินสาธารณะ 178 ไร่ ริมหาด จ.ภูเก็ต 1.2 หมื่นล. จากเอกชน 6 ราย น่าเชื่อถือกว่า พ.อ. กรมแผนที่ทหาร
คดีพิพาทที่ดินริมหาดรายัน-เลพัง ม. 4 ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เนื้อที่ 178 ไร่ มูลค่าประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นเอกชน 6 ราย กับ จำเลย ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต ผู้ว่าฯ นายอำเภอถลาง เจ้าหน้าที่กรมที่ดินรวม 7 ราย ประเด็นหลักที่ศาลฎีกาใช้วินิจฉัย คือ ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ทั้งหกมีสิทธิครอบครองโดยอ้างว่าครอบครองมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับคือก่อนวันที่ 1 ธ.ค.2497 จริงหรือไม่
ในคำพิพากษาศาลฎีกาได้ระบุพยานจำเลย 2 คน คือ นายสิทธิชัย พรหมชาติ อดีตข้าราชการสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ส่วนแยกถลาง และ น.ส.รุจิรา ฉิมดี นักวิชาการแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ สำนักเทคโนโลยีทำแผนที่ กรมที่ดิน ขณะที่โจทก์มี พ.อ.ปิยะ จารุกาญจน์ หัวหน้าวิจัยและพัฒนา กรมแผนที่ทหาร ศาลได้ให้นำหนักกับคำเบิกความของ น.ส.รุจิรา ฉิมดี มีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าคำเบิกความของ พ.อ.ปิยะ จารุกาญจน์
น.ส.รุจิรา ฉิมดี ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา เมื่อเวลาประมาณ 14.50 น. วันที่ 9 พ.ย.2560 ว่า เธอขึ้นไปเบิกความเป็นพยานในคดีนี้ตั้งแต่กระบวนการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นเมื่อประมาณปี 2550 โดยทางอัยการเป็นผู้ติดต่อมายังกรมที่ดินให้หาผู้เชี่ยวชาญในการอ่านและวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ ของกรมที่ดินไปเป็นพยานคดีนี้ เธอต้องทำงานหนัก โดยยึดหลักคือทำตามหน้าที่ เป็นไปตามหลักวิชาการ โดยไม่รู้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของใครและมีมูลค่ามหาศาลหรือไม่ กระบวนการอ่าน แปล และวิเคราะห์เป็นเรื่องทางเทคนิค และความเชี่ยวชาญเฉพาะ
เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรที่คำเบิกความ ศาลเชื่อ นำไปสู่การยึดที่ดินกลับมาเป็นของรัฐ?
“รู้สึกภูมิใจอยู่ลึกๆ ที่การทำงานของเรานำไปสู่การชี้ขาดข้อขัดแย้งของชุมชน และนำทรัพยากรกลับคืนมาเป็นของสาธารณะที่ทุกคนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และต้องบอกว่าผู้อยู่เบื้องหลังด้วยคือทางทีมอัยการจำนวน 3 คน ในจำนวนนี้ 1 คนขึ้นเบิกความด้วย” เธอกล่าว
ทั้งนี้ ในคำพิพากษาได้ระบุคำเบิกความของ น.ส.รุจิราว่า พยานมาเบิกความประกอบรายงานผลการอ่าน แปล และตีความภาพถ่ายทางอากาศ บริเวณที่ดินพิพาทหมู่ที่ 4 ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ว่า พยานเป็นผู้อ่าน แปล และตีความภาพถ่ายทางอากศที่ดินพิพาท ผลปรากฎว่าที่ดินพิพาททั้งแปดแปลง บนระวางภาพถ่ายทางอากาศปี 2510 พี่นที่ส่วนใหญ่ปรากฎเป็นหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นถึง ทางทิศตะวันออกปรากฎเป็นชายหาด ป่าชายเลน และเหมืองแร่ ทิศตะวันตกปรากฎเป็นทะเล ในปี 2519 พื้นที่ส่วนใหญ่ปรากฎเป็นชายหาด ถัดจากป่าชายหาดไปทางทิศตะวันออกปรากฎเป็นหาดทราย บางส่วนมีสภาพเป็นป่าชายหาด และเหมืองแร่ ส่วนทางด้านทิศตะวันตกของป่าชายหาดปรากฎเป็นหาดทราย และหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นถึง ตามลำดับ ส่วนในปี 2538 พื้นที่ส่วนใหญ่ปรากฎการเพาะปลูกไม้ผล บางส่วนของพื้นที่เป็นหมู่บ้าน เส้นทาง และป่าชายหาด
ศาล เห็นว่า แม้โจทก์ทั้งหกจะมี พ.อ.ปิยะ จารุกาญจน์ หัวหน้าวิจัยและพัฒนา กรมแผนที่ทหาร เบิกความประกอบแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศว่า ในปี 2510 ที่ดินพิพาทมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัย แต่การวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศของพยานเพียงแต่เอาภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหาร ปี 2510 มาถ่ายขยายแล้วเปรียบเทียบตีความเท่านั้น แตกต่างกับวิธีวิเคราะห์ของ น.ส.รุจิรา ซึ่งเบิกความว่า พยานอ่านภาพถ่ายทางอากาศจากภาพถ่ายขนาด 9 คูณ 9 นิ้ว โดยใช้เครื่องอ่านเป็นอุปกรณ์มองภาพสามมิติ การอ่านต้องใช้ภาพถ่าย 2 ภาพ พร้อมกันซึ่งเป็นภาพถ่ายในลักษณะต่อเนื่องมีส่วนที่ทับซ้อนกัน ก่อนการอ่าน แปล และวิเคราะห์แผนที่จะต้องนำภาพถ่าย 9 คูณ 9 นิวมาสร้างระวางแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศก่อน ซึ่งได้ภาพถ่ายที่ไม่มีค่าพิกัด จึงต้องใช้พิกัดอ้างอิงจากการทำงานภาคสนามของวิศกรซึ่งเป็นช่างฝ่ายรังวัด เมื่อกำหนดค่าพิกัดแล้วนำมาปรับแก้เพื่ออ้างอิงในการสร้างภาพผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะได้ภาพถ่ายทางอากาศที่มีค่าพิกัดถูกต้อง ในกรณีที่ภาพถ่ายทางอากาศมีอัตราส่วนไม่เท่ากัน เมื่อผ่านการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์แล้วสามารถปรับเปลี่ยนขนาดให้มีอัตราส่วนเท่ากันได้ การปรับเปลี่ยนจะต้องนำแผ่นฟิล์มไปสแกนผ่านเครื่องสแกนแผ่นฟิล์มโดยเฉพาะสำหรับงานแผนที่ แล้วนำข้อมูลภาพถ่ายที่ได้จากการสแกนไปปรับแก้
เหตุที่ต้องปรับแก้เนื่องจากขณะจัดทำภาพถ่ายทางอากาศ เครื่องบินจะมีการเอียงมีผลต่อการจัดทำภาพถ่าย ทำให้มีความคลาดเคลื่อน ต้องปรับแก้ความคลาดเคลื่อนให้มีสภาพภูมิประเทศเป็นแนวราบให้มากที่สุด เพื่อให้ถูกต้องตามสภาพภูมิประเทศที่แท้จริง ในการปรับแก้แผนที่จะภาพถ่ายทางอากาศปี 2538 เป็นตัวฐาน แล้วปรับแก้ภาพถ่ายทางอากาศปีอื่นด้วยการตรึงภาพและทับซ้อนไปกับภาพถ่ายซึ่งเป็นฐานและตรึงภาพให้จุดพิกัดตรงกับแผนที่ฐาน แล้วนำไปผ่านกระบวนการอัดภาพเป็นแผนที่ซึ่งจะกำหนดค่าพิกัดด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือไว้
นอกจากนี้ยังจัดทำตารางช่างกริดเพื่อบอกระยะของแผนที่ เมื่อได้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศปี 2510 แล้ว จะจัดส่งระวางแผนที่ทางอากาศไปให้สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตทำหมายขอบเขตรูปแปลงแผนที่ หลังจากนั้นสำนักเทคโนโลยีทำแผนที่ กรมที่ดิน นำแผนที่ดังกล่าวไปสแกนก็จะได้ข้อมูลภาพเพื่อปรับแก้ให้มีค่าพิกัดนำไปทับซ้อนกับข้อมูลเดิมที่มีอยู่ซึ่งเรียกว่า ‘ดิจิไทซ์’
จะเห็นว่า วิธีการอ่าน แปล และตีความภาพถ่ายทางอากาศของ น.ส.รุจิราใช้เทคโนโลยีช่วย จึงมีความน่าเชื่อถือ ในเรื่องความถูกต้องแม่นยำมากกว่าวิธีการของ พ.อ.ปิยะ ซึ่งอาศัยความชำนาญของผู้อ่านแผนที่เพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ น.ส.รุจิรา จบการศึกษา ปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาภูมิศาสตร์ และปริญญาโทวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภูมิศาสตร์ ทำงานในตำแหน่งนักวิชาการแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ระดับชำนาญงาน ทั้งยังขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำศาลยุติธรรม ด้านการวิเคราะห์แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศ คำเบิกความจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ
ศาลฎีกาเห็นว่า ในปัญหาว่าที่ดินพิพาททั้งแปดแปลงเป็นที่ดินที่โจทก์ทั้งหกมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่ดินของรัฐนั้น พยานหลักฐานของจำเลยทั้งเจ็ดมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งหก ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาททั้งแปดแปลงยังเป็นที่ดินของรัฐ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องของโจทก์ทั้งหกมานั้นชอบแล้ว
น.ส.รุจิรารับราชการ ประมาณ 18 ปี ปัจจุบันอยู่ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย เป็นผู้ทำงานอยู่เบื้องหลัง ร่วมกับทีมอัยการในคดี
อ่านประกอบ:
ฉบับเต็ม!คำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่ดินริมหาด จ.ภูเก็ต 1.2 หมื่นล.-พ.อ.พยานเอกชน
ศาลฎีกาฯให้เอกชนรายใหญ่ออกจากพื้นที่สาธารณะริมหาด จ.ภูเก็ต มูลค่าหมื่นล.
อีกแปลงที่ดินสาธารณะ!ศาลให้เอกชนแพ้คดี -ดีเอสไอขยับยึด 178 ไร่ริมหาด จ.ภูเก็ต