สปสช.ปรับกลยุทธ์ เน้นขับเคลื่อนกลไกระดับพื้นที่เดินหน้าพัฒนาบัตรทอง
สปสช.บูรณาการกลไกกำกับคุณภาพมาตรฐานและคุ้มครองสิทธิระดับพื้นที่ ดึง อปสข. อคม.และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน มาตรา 50(5) สร้างกระบวนการทำงานใหม่ ขยายเครือข่าย หนุนเดินหน้ายุทธศาสตร์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานเปิดประชุมชี้แจงแนวทางบูรณาการกลไกเพื่อกำกับคุณภาพมาตรฐานและการคุ้มครองสิทธิระดับพื้นที่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดโดย สปสช. เพื่อร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานควบคุมกำกับคุณภาพมาตรฐานและการคุ้มครองสิทธิ์ในระดับพื้นที่เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันในปี 2561 พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานที่ผ่านมา และนำไปสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีผู้แทนในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อกำกับคุณภาพมาตรฐานและการคุ้มครองสิทธิระดับพื้นที่ฯ เข้าร่วม
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การกำกับคุณภาพมาตรฐานและการคุ้มครองสิทธิเป็นหัวใจสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดังจะเห็นได้จากเจตนารมณ์ของกฎหมาย แนวทางการทำงานกำกับคุณภาพมาตรฐานและการคุ้มครองสิทธิ มองว่ามีหลักการสำคัญ 2 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนแรกคือยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “ขารุก” โดย สปสช.กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นเป้าหมายดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยยุทธศาสตร์ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2560-2564) มี 5 ด้าน คือ 1.ความมั่นใจในการเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ 2.สร้างความมมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานและความเพียงพอของบริการ 3.สร้างความมั่นใจในประสิทธิภาพการบริหารกองทุน 4.สร้างความมั่นใจการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และ 5.สร้างมั่นใจในธรรมาภิบาล ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ”
ส่วนต่อมาคือการกำกับคุณภาพมาตรฐานและการคุ้มครองสิทธิ เรียกว่า “ขาดึง” ซึ่งการทำงานเชิงรุกจำเป็นต้องส่วนนี้เพื่อก้าวไปพร้อมกัน โดยตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 นอกจากได้ระบุถึงคุณภาพและมาตรฐานบริการสุขภาพที่คนไทยต้องได้รับอย่างเท่าเทียมแล้ว ยังเน้นการดำเนินงานที่ต้องมีส่วนร่วม ความเป็นเจ้าของระบบร่วมกันของคนไทยทุกคน ทำให้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ต่างจากกฎหมายฉบับอื่น
“พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ กำหนดให้มี สปสช. ซึ่งต้องดูว่าการทำงานของเรามีขอบเขตและบทบาทอะไร มีข้อกำหนดและหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง สปสช.เล่นเป็นพระเอกเองไม่ได้ทุกเรื่อง เป็นพระเอกขี่ม้าขาวคนเดียวไม่ได้ แต่ต้องรู้ว่าจะเล่นอย่างไรและเปิดโอกาสให้คนอื่นเข้ามีบทบาทและร่วมเล่นด้วย ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะสำเร็จได้ต้องอาศัยทุกคน ระบบออกแบบมาเช่นนั้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า กลไกการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในพื้นที่ ประกอบด้วย 2 ส่วนเช่นกัน คือ คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต (อปสข.) และคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับพื้นที่ (อคม.) ทำหน้าที่กำกับ ติดตาม และประเมินผล รวมถึงการให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานตามมาตรา 50(5) ในการจัดตั้งหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน เพื่อคุ้มครองสิทธิ์
“กลไกลเหล่านี้เป็นแขนขาของการทำงาน เป็นส่วนที่ทำให้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติบรรลุเจตนารมณ์ได้ จากเดิมเราใช้บอร์ด สปสช.เป็นกลไกหลักเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องเข้าใจและไม่มอง อปสข. อคม. และ 50(5) เป็นภาระงาน แต่ต้องดูว่าทำอย่างไรให้เกิดการบริหารจัดการ มีกระบวนการทำงานร่วมกัน เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันคิด นอกจากนี้ อคม.ยังเป็นกลไกสำคัญเพื่อกระตุ้นการพัฒนาคุณภาพในหน่วยบริการอย่างสร้างสรรค์ได้ เช่นเดียวกับมาตรา 50(5) ที่ช่วยลดเรื่องร้องเรียนและความขัดแย้งในระบบได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว