ก.ล.ต.เผยยอดค้างตราสารหนี้เอกชน 3.78 ล้านล้าน. เตรียมปรับเกณฑ์คุ้มครองนักลงทุนมากขึ้น
ก.ล.ต. เผย ยอดมูลค่าคงค้างตราสารหนี้เอกชน 3.78 ล้านล้านบาท พบ 7รายยังชำระหนี้ไม่ครบ พร้อมส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทย โดยปรับเกณฑ์ให้เหมาะกับตลาด-ความต้องการผู้ลงทุน เพื่อเป็นทางเลือกสำคัญการระดมทุน คุ้มครองมากยิ่งขึ้น
นางจารุพรรณ อินทรรุ่ง ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ตลาดตราสารหนี้ถือเป็น 1 ใน 3 เสาหลักของเศรษฐกิจไทย ควบคู่กับตลาดตราสารทุนและระบบธนาคารพาณิชย์ ที่ผ่านมาตลาดตราสารหนี้มีอัตราการเติบโตมากอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 12 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศมาอยู่ที่ร้อยละ 75 ในช่วงระยะ 20 ปีที่ผ่านมา โดย ณ 30 กันยายน 2560 มียอดมูลค่าคงค้างตราสารหนี้เอกชน 3.78 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นหุ้นกู้ร้อยละ 92 และตั๋วเงินอีกร้อยละ 8
ตามข้อมูลของ ก.ล.ต.ระบุว่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 ถึงปัจจุบัน มี issuer (บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์) ผิดนัดชำระหนี้ทั้งสิ้น 10 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียน 7 บริษัท ชำระหนี้ครบแล้ว 3 บริษัท ทั้งนี้ มูลค่าผิดนัดชำระหนี้ ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2560 รวมทั้งหมดประมาณ 5,800 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.15% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ที่เสนอขายในประเทศ หากรวมมูลค่าคงค้างทั้งหมดของissuer ที่ผิดนัดชำระหนี้ประมาณ 15,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.4% ของมุลค่าคงค้างตราสารหนี้ที่เสนอขายในประเทศไทย
นางจารุพรรณ กล่าวอีกว่า ก.ล.ต. ยึดหลักสร้างความสมดุลระหว่างการอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจใช้ตราสารหนี้เป็นทางเลือกในการระดมทุนได้โดยไม่มีภาระมากจนเกินไป คู่กับการมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนในระดับที่เหมาะสม เพราะตราสารหนี้ถือเป็นทางเลือกในการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนได้ โดยความเข้มอ่อนของหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลการออกและเสนอขาย ตราสารหนี้จะแยกตามประเภทผู้ลงทุน โดยหากเสนอขายต่อผู้ลงทุนทั่วไปในวงกว้าง จะมีเกณฑ์ที่เข้มมากกว่าการเสนอขายในวงจำกัด ที่มีทั้งการเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ และการเสนอขายต่อผู้ลงทุนแบบจำกัดจำนวนผู้ลงทุนอยู่ในวงแคบ ซึ่งเกณฑ์จะมีความผ่อนปรนมากกว่า
อย่างไรก็ดี สืบเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา นางจารุพรรณ ระบุว่า มีกรณีบริษัทที่ออกตราสารหนี้บางแห่งใช้ช่องทางการระดมทุนแบบจำกัดจำนวนผู้ลงทุนไปอย่างผิดวัตถุประสงค์ คือ กระจายการขายช่องทางนี้ไปยังผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งไม่รู้จักคุ้นเคยกับบริษัท ประกอบกับผู้ลงทุนมีพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทน (search for yields) ในขณะที่บริษัทหลักทรัพย์และธนาคารพาณิชย์ที่เป็นตัวกลางในการเสนอขายตราสารหนี้เหล่านี้ก็ไม่ได้ให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนที่เพียงพอ จึงทำให้ผู้ลงทุนมองข้ามความเสี่ยงในการลงทุน ก.ล.ต. จึงอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและเพิ่มมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุนมากขึ้น อาทิ จำกัดการขายตั๋วเงิน ให้ใช้ระดมทุนเฉพาะวงจำกัดไม่ให้กระจายวงกว้าง มีการเพิ่มกลไกการคุ้มครองผู้ลงทุนมากขึ้น เช่น การขายหุ้นกู้ระยะยาวให้ผู้ลงทุนรายใหญ่ ต้องมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และมีการเปิดเผยข้อมูลที่สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้มากขึ้น เป็นต้น
ทั้งนี้ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในชั้นหลักการไปแล้วในช่วงเดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา และกำลังจะเปิดรับฟังความคิดเห็นในชั้นการยกร่างประกาศ ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้