คนดี คนเก่ง มีน้อย! (ว่าที่) นายก มสธ.วัย 83 ปี นั่งมาแล้ว 5 แห่ง ทรัพย์สิน 44.5 ล.
แกะรอย ‘วิจิตร ศรีสอ้าน’ ก่อนหวลคืนว่าที่เก้าอี้ใหญ่ มสธ. วัย 83 ปี นั่ง นายกสภา กก. อธิการมาแล้ว 5 แห่ง ผูกขาด วลัยลักษณ์-มรภ.เทพสตรี- เทคโนโลยีสุรนารี 6 สมัย ทรัพย์สิน 44.5 ล. สะท้อนวงการศึกษา ‘คนดี คนเก่ง’ มีน้อย?
สภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) มีมติเห็นชอบให้ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นนายกสภาแทน รศ.ดร.องค์การ อินทรัมย์พรรย์ ที่หมดวาระ ซึ่งเจ้าตัวมีหนังสือตอบกลับแสดงความประสงค์พร้อมยื่นข้อเสนอตั้งคณะกรรมการทำแผนแม่บทปฏิรูปมหาวิทยาลัย ดังนั้นหากไม่พลิกโผ มสธ. จะมี นายกสภาคนใหม่ วัย 83 ปี (เกิด 22 ธ.ค.2477) และ อาจเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยที่มีอายุมากที่สุดด้วยซ้ำ
ความจริง ศ.ดร.วิจิตร ไม่ใช่ ‘หน้าใหม่’ในแวดวงนักบริหารการศึกษา เคยดำรงตำแหน่งอธิการและนายกสภาหลายแห่งอย่างยาวนานกว่าสามทศวรรษ
สืบค้นข้อมูลพบว่า
21 พ.ค.2524 ได้รับแต่งตั้งเป็น กรรมการข้าราชการพลเรือนผู้ทรงคุณวุฒิ สมัย พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร เป็นรองนายกรัฐมนตรี (ยศในขณะนั้น)
18 ก.พ.2528 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในหลักราชการหรือการบริหารงานบุคคลในคณะกรรมการข้าราชการครู สมัยนายพิชัย รัตตกุล เป็นรองนายกฯ (พ้นตำแหน่งเนื่องจากได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา เมื่อ 25 ก.ค.2531)
7 ม.ค.2530 ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ครั้ง พล.ร.อ.สนธิ บุณยะชัย เป็นรองนายกฯ
6 ธ.ค.2533 ได้รับแต่งตั้งเป็น กรรมการสถาบันของสถาบันเทคโนโยลีการเกษตรแม่โจ้ สภาผู้ทรงคุณวุฒิ วาระที่สอง สมัยนายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ เป็นรองนายกฯ (ไม่มีข้อมูลการดำรงตำแหน่งในวาระแรก)
22 ธ.ค.2538 ได้รับแต่งตั้งเป็น อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ครั้ง พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ เป็นรองนายกฯ
22 ธ.ค.2542 ได้รับแต่งตั้งเป็น อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี วาระที่สองหรือสมัยที่สอง ยุค นายชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ
21 ม.ค.2543 ได้รับแต่งตั้งเป็น ประธานกรรมการ ในคณะกรรมการบริหารสำนักงานการปฏิรูปการศึกษา
9 ต.ค.2549-6 ก.พ.2551 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยุครัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
28 ม.ค.2551ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สมัยนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นรองนายกฯ
25 มิ.ย.2551 ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎเทพสตรี (จ.ลพบุรี)
31 มี.ค.2554 ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยสุรนารี ยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ
28 ม.ค.2554 ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ วาระที่สอง
6 ก.พ.2555 ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎเทพสตรี วาระที่สอง ยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ
31 มี.ค.2556 ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยสุรนารี วาระที่สอง ยุคนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นรองนายกฯ
13 ม.ค.2558 ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ วาระ ที่สาม ยุคนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นรองนายกฯ
31 มี.ค.2558 ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยสุรนารี วาระที่สาม ยุคนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นรองนายกฯ
31 มี.ค.2560 ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยสุรนารี วาระที่สี่ ยุค พล.อ.อ.ประจิณ จั่นตอง เป็นรองนายกฯ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/099/23.PDF
เท่ากับ
เป็นอธิการบดีมาแล้ว 2 แห่งคือ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (2 วาระ-สมัย)
เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยมาแล้ว 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (3วาระ- สมัย) ,มหาวิทยาลัยราชภัฎเทพสตรี (2 วาระ-สมัย) ,มหาวิทยาลัยสุรนารี (4 วาระ-สมัย)
เป็นกรรมการสถาบันของสถาบันเทคโนโยลีการเกษตรแม่โจ้
ขณะที่ในช่วงรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แจ้งว่ามีทรัพย์สิน 44,509,665.73 บาท หนี้สิน 5,550,000 บาท มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 44,509,665.73 บาท ตอนพ้นตำแหน่งครบ 1 ปีมีทรัพย์สิน 41,709,452.95 บาท ( 21.4 ล้านบาทเป็นเงินลงทุน) หนี้สิน 2,700,000 บาท ไม่มีคู่สมรส (หย่า)
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 39/2559 เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (12 ก.ค.2559)
กฎเหล็กข้อหนึ่งใน 15 ข้อ คือ
“ข้อ 3 เพื่อให้การดําเนินการของสถาบันอุดมศึกษามีประสิทธิภาพสูงสุด การแต่งตั้งบุคคลให้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษา หรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1) ผู้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาจะดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาในเวลาเดียวกันเกิน 3 แห่งไม่ได้
(2) ผู้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาจํานวน 2 แห่งแล้ว อาจได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษา หรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาอีกได้ไม่เกิน 1 แห่ง
(3) ผู้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาจํานวน 1 แห่งแล้ว อาจได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษา หรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาอีกได้ไม่เกิน 2 แห่ง
(4) ผู้ดํารงตําแหน่งกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาจํานวน 4 แห่งแล้ว ไม่อาจได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาหรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาในเวลาเดียวกันนั้นได้อีก
เพราะเป็นผลมาจาก ผู้ทรงคุณวุฒิ นักบริหารการศึกษา ผู้มีชื่อเสียงหลายคน เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย หรือ กรรมการสภาฯพร้อมกันหลายแห่ง บางคนพ้นจากแห่งนี้ก็ลุกไปนั่งแห่งนั้น สลับไปสลับมา นับเวลารวมๆกันมากกว่าสิบปี บางรายมีข่าวไปสร้างปัญหาในแห่งนั้นๆด้วยซ้ำ
การนั่งเก้าอี้นายกสภา ของอดีตอธิการฯยุคปี 2530 ผู้มากประสบการณ์ ไม่ต้องห้าม ไม่ฝ่ากฎเหล็ก กระนั้น ก็สะท้อนให้เห็นว่า ‘คนดี คนเก่ง’ ในแวดวงการศึกษา มีอยู่น้อยนิด จนต้องพึ่งพา ผู้บริหาร คราวปู่ คราวทวด หรือนี่?
อ่านประกอบ:
‘วิจิตร ศรีสอ้าน’ ตอบรับเป็นนายกสภา มสธ. เสนอตัว ปธ.เฉพาะกิจปฏิรูปฯ ช่วงรอแต่งตั้ง
คนเก่งมีน้อย!‘มีชัย-วิษณุ-สมบัติ-วิจิตร’ แชมป์นั่งนายกสภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง