ยึดปรัชญา 3 ประโยชน์ ชูโมเดล ‘ปลาป่น-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์’ วิถีพัฒนายั่งยืน
เปิดรายงานความยั่งยืน ปี 59 กับเเผนพัฒนาในอีก 3 ปีข้างหน้า ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ชูความสำเร็จ ยกเลิกรับซื้อปลาป่น-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากเเหล่งผลิตบุกรุกทรัพยากร 'ศุภชัย เจียรวนนท์' เผยนำพาความสำเร็จ ยึดหลัก 3 ประโยชน์ เจ้าสัวธนินทร์
อีกราว 30 ปีข้างหน้า หรือปี พ.ศ.2593 องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations:FAO) คาดการณ์ว่า ภาคการเกษตรต้องเพิ่มกำลังการผลิตอีกราวร้อยละ 60 เพื่อรองรับการเติบโตของประชากรโลกสูงถึง 9 พันล้านคน และให้พ้นจากความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตการแย่งชิงทรัพยากร
ในฐานะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจมายาวนาน มีการลงทุนใน 20 ประเทศทั่วโลก 3 บริษัทหลักในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (C.P.GROUP) ประกอบด้วย บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัทซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ประจำปี 2560 โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ นำประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในงาน CP Sustainability:Shaping The Future เมื่อเร็วๆ นี้ โดยกำหนดแนวทางภายในปี พ.ศ.2563 จะต้องนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบหลักอย่างปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต้องผ่านการประเมิน รวมถึงการจัดหาจากแหล่งผลิตต้องไม่บุกรุกทำลายป่าไม้และทรัพยากร ร้อยละ 100
ปลาป่น (ภาพประกอบ:เว็บไซต์ป่าสาละ)
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผ่านมา เครือเจริญโภคภัณฑ์ ถูกตีตราจากสังคมในแง่มีส่วนในประเด็นปัญหาด้านความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ แต่จากการขับเคลื่อนนโยบายที่เข้มข้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และปัจจุบันวัตถุดิบทั้งสองชนิดที่จัดหาและใช้ในไทยทั้งหมดล้วนมาจากแหล่งที่รับผิดชอบแล้ว
ในรายงานความยั่งยืน ประจำปี 2559 ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Finishing: IUU) ผ่านการดำเนินงานแผน 10 ประการ เช่น การลดใช้ปลาป่นในการผลิตอาหารกุ้ง วิจัยและพัฒนาวัตถุดิบทดแทนปลาป่น หรือปรับเพิ่มข้อกำหนดการรับซื้อปลาป่นเข้มงวดมากขึ้น
ทำให้ทุกวันนี้ปลาป่นที่จัดหาและใช้ในประเทศผลิตจากผลพลอยได้ (By-Product) ที่สามารถตรวจสอบที่มาย้อนกลับได้ ซึ่งแหล่งผลิตผลพลอยได้ที่กล่าวถึงนั้น หมายถึง ผลพลอยได้จากโรงงานแปรรูป เช่น โรงงานซูริมิ โรงงานผลิตทูน่ากระป๋อง โรงงานผลิตลูกชิ้นปลา และผลพลอยได้จากการทำประมง
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บ.เครือฯ
ขณะที่วัตถุดิบอีกหนึ่งชนิดที่มีการสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับ อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2559 หลังจากก่อนหน้านี้ ‘ภูเขาหัวโล้น’ จ.น่าน คือกรณีศึกษาสำคัญ และนำมาสู่การเรียกร้องไปยังบริษัทรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้สร้างระบบฯ ขึ้นมา เพื่อการจัดหาอย่างรับผิดชอบ
โดยกรณีพบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าขั้นตอนใด ปลูกในพื้นที่หวงห้าม ป่าอนุรักษ์ หรือ เอกสารสิทธิ์ผิดกฎหมาย จะไม่มีการรับซื้อ และยกเลิกการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ให้ทันที
ไม่เพียงเท่านั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังต้องพัฒนาศักยภาพเกษตรกรควบคู่ไปด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในเรื่องการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน การจัดทำแปลงเรียนรู้ ปรับปรุงอุปกรณ์ และเครื่องมือสำหรับเพาะปลูก
ปัจจุบันจึงสามารถอบรมเกษตรกรได้ 4.3 พันคน ครอบคลุม 20 จังหวัด หรือคิดเป็นพื้นที่เพาะปลูก 1.1 แสนไร่ และเกิดแปลงเรียนรู้ทั้งสิ้น 32 แปลง
ความเสื่อมโทรมของป่าน่าน
ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจในความสำเร็จที่สามารถขับเคลื่อนนโยบายรับซื้อวัตถุดิบที่ตรวจสอบย้อนกลับแหล่งผลิตได้ อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่ยกเลิกการซื้อปลาป่นจากเรือประมงเท่านั้น แต่สิ่งที่ให้ความสำคัญเพิ่มเติม คือ การบริหารจัดการไม่ให้มีการใช้แรงงานทาส
“การบริหารจัดการไม่ให้เกิดแรงงานทาสนั้น เครือฯ ได้ทำงานร่วมกับเอ็นจีโอในภาคใต้ ซึ่งในที่สุดแล้ว ทำให้เกิดการตระหนักรู้ การผลักดันกฎระเบียบ และความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม”
นายศุภชัย ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงการตรวจสอบย้อนกลับการจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้ทำอย่างจริงจัง แต่ยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งนี้ แต่เดิม เครือฯ จะรับซื้อโดยคำนึงถึงคุณภาพวัตถุดิบเท่านั้น แต่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นอนาคตของโลก ทำให้ต้องพัฒนาระบบ
จ.น่าน คือพื้นที่ประสบความสำเร็จ เกษตรกรเข้าสู่โครงการฟื้นฟูป่า แผน 5 ปี โดยส่งเสริมให้ปลูกพืชทดแทน เช่น กาแฟ แต่หลายคนยังไม่เชื่อ อย่างไรก็ดี ต้องทำอย่างต่อเนื่อง อย่างมุ่งมั่น และตั้งใจ
“นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือฯ ได้ประกาศปรัชญาความยั่งยืนออกมา โดยยึดหลัก 3 ประโยชน์ คือ ก่อนอื่นควรคำนึงถึงการทำประโยชน์แก่ประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ ประโยชน์ต่อประชาชนในทุกประเทศที่เข้าไปลงทุน และสุดท้าย จึงเป็นประโยชน์ต่อองค์กรรวมถึงบุคลากรขององค์กร มิเช่นนั้น การลงทุนจะไม่ยั่งยืน” นายศุภชัย กล่าว
พร้อมกันนี้เครือซีพี ประกาศตั้ง กองทุนซีพีเพื่อพัฒนาสังคม (CP Social Impact Fund) โดยเงินกองทุนตั้งต้นในระยะ 5 ปี (2561-2565) เงินกองทุนตั้งต้นอยู่ที่ประมาณ 1-2 พันล้านบาท เพื่อเข้าไปสนับสนุนเงินลงทุนและหรือร่วมลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคม โดย 3 ปีที่ผ่านมาใช้งบไปแล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท
นั่นคือบางส่วนของแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอีก 3 ปีข้างหน้า ของเครือเจริญโภคภัณฑ์
ท้ายที่สุด จะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนไปตลอดนั้น ต้องไม่เกิดจากการขับเคลื่อนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ เพื่ออนาคตความหวั่นใจที่ว่า “วิกฤตแย่งชิงทรัพยากร” จะหมดไป .