ประชุมโต๊ะกลมAMER7 มองทิศทางลงทุนพลังงานทางเลือกเติบโตเร็ว-เน้นเสถียรภาพ
ประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีพลังงานเอเชียครั้งที่ 7 สรุป ทิศทางลงทุนพลังงานทางเลือกยังโตก้าวกระโดด ผู้นำซาอุฯ ห่วงอนาคตหากไม่มีการลงทุนเพิ่ม ส่งผลต่อเสถียรภาพทางพลังงาน
เมื่อวันที่ 2 พ.ย.60 ในการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานเอเชีย ครั้งที่ 7 (AMER7) ซึ่งประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพ โดยมีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นเจ้าภาพร่วม ที่โรงแรมแชงกรีลา เป็นการประชุมที่รวบรวมรัฐมนตรีพลังงานเอเชีย และผู้บริหารองค์การระหว่างประเทศภายใต้หัวข้อ “Global Energy Markets in Transition: From Vision to Action” ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 – 3 พฤศจิกายน 2560
พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวในช่วงพิธีเปิดการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานเอเชีย ครั้งที่ 7 ในนามของเจ้าภาพว่า เอเชียจะเป็นภูมิภาคที่บริโภคพลังงานมากที่สุดภูมิภาคหนึ่งของโลก คิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของโลก และในขณะเดียวกันก็มีทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในปริมาณมาก ซึ่งทำให้เอเชียมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อตลาดพลังงานโลกและควรก้าวขึ้นมามีบทบาทนำในการกำหนดทิศทางพลังงานของโลก ซึ่งสอดคล้องกับการขนานนามยุคนี้ว่าเป็น “ศตวรรษของเอเชีย”
ด้านพล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของไทย ได้ให้หยิบยกประเด็นสำคัญในฐานะของประเทศเจ้าภาพว่า ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประเทศได้ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีคุณค่า ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถของประเทศไทย ในการนำวิสัยทัศน์ไปสู่การปฏิบัติ
ด้าน นาย Khalid Al-Falih รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อุตสาหกรรม และทรัพยากรแร่ของซาอุดิอาระเบีย และประธานการประชุม OPEC ได้กล่าวถึงข้อห่วงใยเกี่ยวกับความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมั่นคงด้านพลังงานของเอเชีย ซึ่งมีความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่ากลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมแล้ว หากไม่มีการลงทุนเพิ่มเติมก็อาจมีผลต่อความมั่นคงทางพลังงานได้
นอกจากนี้นาย Khalid Al-Falih ยังได้กล่าวถึงแนวทางในการพัฒนาภาคพลังงานในอนาคตต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติและมีความเสี่ยงน้อย และจะต้องคำนึงถึงการลงทุนเพิ่มเติมในเรื่องของเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก ที่มีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย
"การดำเนินการตามข้อตกลงร่วมกันของประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั้งในและนอกกลุ่ม OPEC ยังเป็นไปได้ด้วยดี โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพในตลาดน้ำมัน"
ด้านH.E. Shamshad Akhtar รองเลขาธิการและเลขาธิการบริหาร สหประชาชาติ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียแปซิฟิก กล่าวเน้นว่า เอเชียแปซิฟิกสามารถลดความเข้มการใช้พลังงานไปได้มากกว่า ร้อยละ 40 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ซึ่งแซงหน้าภูมิภาคอื่นในโลก การตัดสินใจในวันนี้ในเรื่องของการลงทุนด้านพลังงานในประเทศต่างๆ เช่นประเทศไทยนั้น จะสามารถบ่งบอกได้ว่าการเปลี่ยนผ่านพลังงานของโลกนั้นจะเร็วพอที่จะมีพลังงานใช้ได้อย่างยั่งยืนภายในปี พ.ศ. 2573 จะเป็นไปได้หรือไม่
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานด้วยว่าในการประชุมครั้งนี้มีผู้แทนจากประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคพลังงานในเอเชีย รวม 24 ประเทศ และองค์การระหว่างประเทศชั้นนำ 11 องค์การ ในการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานเอเชีย ครั้งที่ 7 นี้ ผู้นำแต่ละประเทศได้มีการอภิปรายที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับทิศทางของตลาดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงผลกระทบของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะมีผลต่ออนาคตภาคพลังงานในเอเชีย ด้วยแนวโน้มที่ดีขึ้นของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับพัฒนาการด้านตลาดน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยี โดยได้ข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้
ประเด็นที่ 1 บรรดารัฐมนตรีให้ข้อสังเกตว่าเอเชียเป็นจุดสำคัญของทั้งโลกในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่มั่นคง มีราคาที่เหมาะสม และเท่าเทียมกัน การเจริญเติบโตของความต้องการและน้ำหนักทางด้านภูมิเศรษฐศาสตร์ของเอเชียโดยรวม จะช่วยลดความผันผวนในตลาดโลก และกำหนดทิศทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลก
ประเด็นที่ 2 การสร้างความแข็งแรงด้านการลงทุนร่วมกันทั้งในเทคโนโลยีใหม่และเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมในทวีปเอเชียจะเป็นตัวอย่างให้แก่ภูมิภาคอื่นในการดำเนินรอยตาม ในการสร้างความมั่นคงและการเข้าถึงพลังงาน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ตลาดพลังงานที่สุขภาพดีและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
ประเด็นที่ 3 บรรดารัฐมนตรีมีความยินดีต่อการประชุมหารือที่ได้รับการสนับสนุนโดย IEF เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานตามแต่ละเส้นทางการเปลี่ยนผ่านต่างๆ ผ่านตลาดพลังงานที่ดำเนินการได้เป็นอย่างดี เปิดเผย มีการแข่งขัน มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส พร้อมทั้งส่งเสริมความร่วมมือ การค้า และการลงทุนทั่วภูมิภาค โดยแบ่งเป็น
1.เพื่อการสร้างการเข้าถึงพลังงานให้กับผู้คนเพื่อให้มีมาตรฐานชีวิตที่สูงขึ้นและดีขึ้น
2.เพื่อการสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการลดของเสียเกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงาน
3.เพื่อการเพิ่มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG)
4.เพื่อการดำเนินการในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามข้อตกลงปารีส
ประเด็นที่ 4 บรรดารัฐมนตรีตระหนักว่าการลงทุนในภาคพลังงานในด้านพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีก้าวกระโดดจะยังคงดำเนินต่อไป ในขณะที่การลงทุนในแหล่งพลังงานที่มีอยู่แล้วและในการบูรณาการด้านโครงข่ายด้านพลังงาน ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ของการเติบโตของความต้องการและความสมดุลทางตลาดนั้นอยู่ในช่วงถดถอยลง
ประเด็นที่ 5 บรรดารัฐมนตรียังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างการเจรจาหารือในเวทีด้านพลังงานระดับสากลที่เปิดกว้างและเป็นกลาง โดยมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับองค์การระหว่างประเทศ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับประกันการลงทุนในพลังงานฟอสซิล พลังงานหมุนเวียน และพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อให้เกิดการส่งเสริมกันในตลาดพลังงานที่บูรณาการและมีความยืดหยุ่น
ประเด็นที่ 6 เพื่อก่อให้เกิดการลงทุนในระยะยาวที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนผันของรูปแบบความต้องการใช้และการจัดหา บรรดารัฐมนตรีให้มีการเปิดตลาดเพื่อรองรับเทคโนโลยีและแนวนโยบายการเปลี่ยนผ่านใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาด นักลงทุนอุตสาหกรรม และสถาบันทางการเงิน เพื่อใช้โอกาสใหม่ๆได้อย่างเต็มที่ และลดความเสี่ยงจากการลงทุนที่มีอยู่เดิม
ประเด็นที่ 7 บรรดารัฐมนตรีส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันพัฒนากรอบความร่วมมือที่บูรณาการในระดับสากลเพื่อเร่งให้เกิดผลจากการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดทั่วทุกภาคส่วนของภาคพลังงาน และใช้กรอบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของ IEF พร้อมกับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดขององค์การต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเวทีด้านธรรมาภิบาลในเอเชีย รวมถึงองค์การระหว่างประเทศ ในโครงการ G20 Energy Efficiency Leading Programme ภายใต้การรับรองจากการประชุม G20 ที่ประเทศจีนเป็นประธาน ในปี พ.ศ.2559 และข้อตกลงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มการผลิตประสิทธิภาพการพลังงานในเอเชีย รวมทั้งระดับโลก
ประเด็นที่ 8 รัฐมนตรีมอบหมายให้ IEF รับรองว่าข้อสรุปร่วมกันจะเป็นข้อมูลที่ช่วยนำทางให้การประชุมรัฐมนตรีพลังงานระหว่างประเทศ ครั้งที่ 16 ซึ่งจะจัดขึ้นโดยมีสาธารณรัฐอินเดียเป็นเจ้าภาพในเดือนเมษายน 2561 และการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานเอเชีย ครั้งที่ 8 ซึ่งจะจัดขึ้นโดยมีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นเจ้าภาพในปี 2562