พระผู้ทรงเป็นนิรันดร์ ยลนิทรรศการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ
บริเวณทับเกษตร นำสัมผัสพระสุเมรุ นิทรรศการสัมผัสเพื่อผู้พิการทางสายตาแสดงนิทรรศการสำหรับผู้พิการทางสายตา โดยจะมีพระเมรุมาศจำลอง เพื่อให้ผู้พิการได้มีโอกาสสัมผัสของจริงแทนการมองด้วยตา อาทิ เทวดา สัตว์หิมพานต์ โดยมีอาสาสมัครนำชมและจัดทำซีดีเสียงบรรยายนิทรรศการสำหรับผู้พิการทางสายตา ส่วนผู้พิการทางการได้ยินมีจิตอาสานำชมด้วยภาษามือ
รัฐบาลกำหนดเปิดให้ประชาชนเข้าชมนิทรรศการ เนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณผ่านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
การขึ้นไปชมพระเมรุมาศ และนิทรรศการโดยรอบ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณีของไทยที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอันล้ำค่าของไทยที่มีการสืบทอดและอนุรักษ์ไว้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งการจัดเป็นนิทรรศการต่าง ๆ ประกอบด้วย
1. นิทรรศการพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ ที่ใช้ในงานพระราชพิธีฯ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความงดงามตามหลักปรัชญาการสร้างตามโบราณราชประเพณีและอย่างสมพระเกียรติ
2. บริเวณพระที่นั่งทรงธรรม จัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และจิตกรรมฝาผนังโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ชื่อ “พระผู้ทรงเป็นนิรันดร์” แบ่งเป็น 5 หัวข้อ
- เมื่อเสด็จอวตาร
- รัชกาลที่ร่มเย็น
- เพ็ญพระราชธรรม
- นำพระราชไมตรี
-พระจักรีนิวัตฟ้า
รวมถึงจิตรกรรมฝาผนังโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 3 ด้านของพระที่นั่งทรงธรรม
3. บริเวณศาลาลูกขุน 6 หลัง เป็นนิทรรศการพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบ และงานบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ ประกอบด้วย 1. สมมติเทวพิมาน สถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ 2. ณ วิธานสถาปกศาลา จากแบบขยายสู่การก่อสร้าง 3. ประติมาสร้างสรรค์ งานประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ 4. สวรรค์บรรจงวาด ฉากบังเพลิงและจิตกรรมฝาผนังโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 5. ยาตรากฤษฎาธาร การบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ 6. ตระการวิจิตรศิลปกรรม งานประณีตศิลป์ในพระราชพิธี
4. บริเวณทับเกษตร นำสัมผัสพระสุเมรุ นิทรรศการสัมผัสเพื่อผู้พิการทางสายตาแสดงนิทรรศการสำหรับผู้พิการทางสายตา โดยจะมีพระเมรุมาศจำลอง เพื่อให้ผู้พิการได้มีโอกาสสัมผัสของจริงแทนการมองด้วยตา อาทิ เทวดา สัตว์หิมพานต์ โดยมีอาสาสมัครนำชมและจัดทำซีดีเสียงบรรยายนิทรรศการสำหรับผู้พิการทางสายตา ส่วนผู้พิการทางการได้ยินมีจิตอาสานำชมด้วยภาษามือ
5. ภูมิทัศน์ด้านหน้าพระเมรุมาศ สะท้อนให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 อันเนื่องมาจาก โครงการพระราชดำริ เช่น พันธุ์ข้าวพระราชทาน หญ้าแฝก ต้นยางนา มะม่วงมหาชนก กังหันชัยพัฒนา ฝายน้ำล้น ส่วนนาข้าวจะมีขอบคันนาออกแบบเชิงเป็นเลขเก้าไทย
สำหรับการเปิดให้ประชาชนเข้าชมนิทรรศการ ตั้งแต่ช่วงเวลา 07.00-22.00 น. ของทุกวัน จนถึง 30 พฤศจิกายน 60 รอบละ 5,500 คน และใช้เวลารอบละ 45 นาที – 1 ชั่วโมง คาดว่าแต่ละวันจะมีผู้เข้าชมประมาณ 100,000 คน
ทั้งนี้ ผู้ที่จะมาชมนิทรรศการต้องแต่งกายด้วยชุดสุภาพเรียบร้อย
ส่วนจุดคัดกรองมีจำนวน 5 จุด คือ บริเวณหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ ท่าช้าง หน่วยบัญชาการรักษาดินแดง (รด.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และด้านหลังกระทรวงกลาโหม
นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมจะเปิดให้ประชาชนได้เข้าชม โรงราชรถและพระยานมาศ ตลอดจนจะมีการจัดแสดงมหรสพทางด้านนอกฝั่งทิศเหนือ 2 ช่วงเวลา 18.00 – 19.30 น. และเวลา 20.00 – 22.00 น. เช่น การแสดงละครเรื่องอิเหนา พระมหาชนก พระสุธนมโนราห์ ดนตรีสากล รวมถึงการแสดงพื้นบ้าน 4 ภาค อาทิ ลิเก ทุกวันเสาร์ อาทิตย์ เวลา 19.00 – 20.00 น. การจัดแสดงโขนหน้าพระที่นั่งทรงธรรม โดยเริ่มแสดงครั้งแรกวันที่ 4 พ.ย. 60 ตอนนารายณ์ปราบนนทก ประโคมดนตรีไทยวันละ 10 วง บริเวณศาลาลูกขุน โดยสำนักการสังคีต กรมศิลปากร วิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และหน่วยงาน และศิลปินจากภาคต่าง ๆ