นายกฯชาวนาโวย รบ.ชดเชยน้ำท่วมต่ำ สปกช.แนะมาตรการช่วยเหลือระยะยาว
ผอ.สปกช.ติงระบบเตือนภัยช้า-ไร้ประสิทธิภาพ อุปนายกชาวนาโวยเงินช่วยเหลือข้าวไร่ละ 2 พันไม่พอ ต้นทุนก็ 6 พันแล้ว ดร.เพิ่มศักดิ์ ชี้ไม่ควรให้เงินผ่านกลไกรัฐ ต้องตั้ง คกก.3 ฝ่ายดูแล เอ็นจีโอด่างบบริหารน้ำปีละ 4 หมื่นล้านสร้างแต่เขื่อนซ้ำเติมน้ำท่วม เสนอตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากเงินขายข้าวรัฐ
วันที่ 3 พ.ย. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ วิภาวดี สำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชน และสังคม (สปกช.) แถลงข่าว “น้ำท่วม ทุกข์ซ้ำเกษตรกรรมไทย: ปัญหาน้ำท่วมและข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหาระยะยาว” โดยนายวิเชียร พวงลำเจียก อุปนายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่าต้นทุนการผลิตต่อไร่ของชาวนาประมาณ 5,000-6,000 บาท ดังนั้นการจ่ายชดเชยน้ำท่วมครั้งนี้เพียงร้อยละ 55 ต่อไร่หรือ 2,098 บาท จึงไม่เพียงพอ
“ที่ผ่านมาชาวนาขาดการเหลียวแล เจอโรคระบาด ขาดน้ำ ยากจน ยังประสบอุทกภัยใหญ่หลวง ขอให้รัฐบาลมีความจริงใจในการช่วยเหลือ เงินสองพันกว่าบาทช่วยแก้หนี้สินที่ชาวนาต้องแบกรับไม่ได้”
ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา ผอ.สปกช. กล่าวว่า การประสบภัยธรรมชาติเท่ากับการสูญเสียโอกาสเลี้ยงดูครอบครัว มาตรการที่รัฐยังไม่ได้พูดถึงคือการชดเชยสัตว์ปีก บางเล้าลงทุนเป็นล้านบาทหรือกลุ่มประมงที่รัฐจะช่วยเพียง 5 ไร่ ต้องพิจารณาว่าเกณฑ์ดังกล่าวคิดจากฐานอะไร ปัญหาใหญ่อีกเรื่องคือข้อมูลการเตือนภัยยังช้าและไม่เกิดประสิทธิภาพหลังจากเหตุการณ์ ต่อไปต้องจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ประธานชุมชนธรรมเกษตร กล่าวว่า เฉพาะภาคกลางเกษตรกรทำนาเฉลี่ยประมาณ 30 ไร่ ผลผลิต 15 ตัน หากขายเกวียนละ 1 หมื่นบาทจะได้ 1.5 แสนบาท แต่ต้นทุน 1.3 แสนบาท คิดเป็นไร่ละ 4 พันบาท แม้ไม่มีภัยธรรมชาติก็เหลือกำไรไม่กี่หมื่นบาท ดังนั้นความเสียหายน้ำท่วมหากคิดแค่ทุนเฉลี่ย 30 ไร่ ขาดทุนกว่า 7 หมื่น เกิดหนี้เกือบ 2 แสนบาท
“ชาวไร่ปลูกข้าวโพดเฉลี่ย 18 ไร่ ต้นทุนอิงจากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ประกาศชดเชยขาดทุนต่อไร่ 1,237 บาท 18 ไร่ ก็ 2 หมื่นกว่าบาท เช่นเดียวกับมันและเกษตรกรเลี้ยงปลา บ่อ 3 ไร่ทุนหมื่นกว่าบาท รัฐจ่ายให้ 9 พันกว่าบาท ขาดทุน”
ดร.เพิ่มศักดิ์ ยังกล่าวว่า เกณฑ์ที่รัฐบาลประกาศชดเชยปัจจุบันยังไม่ช่วยให้เกษตรกรที่ประสบภัยอยู่รอดได้ และไม่ควรให้เงินช่วยเหลือผ่านกลไกรัฐอาจไม่ถึงมือเกษตรกร เสนอให้ตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายคือรัฐ เกษตรกร องค์กรอิสระเข้ามาช่วยวางกฎเกณฑ์ และนอกจากความช่วยเหลือฉุกเฉินต้องมีมาตรการระยะยาวเพื่อพัฒนาภาคเกษตรกรรม เช่น การช่วยลดหรือแบ่งปันความเสี่ยงโดยสถาบันการเงินของรัฐ และหักรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรปละ 1.1ล้านบาทมาร้อยละ 20 เพื่อทำประกันความเสี่ยงให้เกษตรกร
ด้าน นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ มูลนิธิเพื่อบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐยังไม่ได้พูดถึงประเด็นสาเหตุของน้ำท่วม เช่น กรณีหาดใหญ่เคยประสบภัยเมื่อ 10 ปีก่อน วันนี้ยังซ้ำรอยเกิดอีก มาตรการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมาของประเทศส่วนใหญ่คือการสร้างเขื่อนโดยอ้างว่าป้องกันน้ำท่วม ทั้งที่พื้นที่ใต้เขื่อนน้ำท่วมหนักกว่าเดิม โดยเฉพาะในลุ่มน้ำชีและมูล
“งบบริหารจัดการน้ำปีละ 3-4 หมื่นล้านเป็นโครงการก่อสร้าง มีแต่ใช้ไม่เป็น อย่างเขื่อนพบว่าก่อนน้ำท่วมมีการเก็บน้ำในเขื่อนร้อยละ 90 น้ำเข้ามาเกินกว่า 3 วันเต็มเขื่อนอยู่แล้ว ไม่แน่ใจว่ามีการจัดการน้ำอย่างไรหรือไม่มีศูนย์กลางว่าน้ำเท่านี้ควรปล่อยออกจากเขื่อน ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาจัดเก็บน้ำ”
นายหาญณรงค์ กล่าวต่อว่า อีกปัญหาคือสิ่งก่อสร้างที่กีดขวางทางน้ำ เช่น ถนน เมื่อเกิดน้ำท่วมทุกครั้งต้องยกถนนให้สูงขึ้นปีละ 1 เมตร โดยไม่สนใจชุมชนรอบข้าง เสนอว่าหลังจากนี้กรมทางหลวงต้องสำรวจเส้นทางการไหลของน้ำใหม่ให้สะดวกมากกว่านี้ และแก้ปัญหาโดยสร้างเส้นทางน้ำผ่าน เช่น สะพาน ไม่ใช่แก้โดยยกถนนหรือสร้างเขื่อนแบบเดิม แต่หันมาใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น การดันน้ำออกจากลุ่มน้ำดังกรณีลุ่มน้ำท่าจีนที่ทำมาก่อนหน้านี้ และป้องกันน้ำท่วมได้ในปัจจุบัน
“เราไม่ได้มองปัญหว่าน้ำท่วมพื้นที่เดิมประจำ ต้องทำข้อมูลทั้งหมดและอาจขอให้ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ชาวบ้านยกบ้านให้พ้นน้ำ อีกกลไกหนึ่งคือกรรมการลุ่มน้ำ หรือกรมทรัพยากรน้ำแห่งชาติควรเข้ามีบทบาท สุดท้ายคือการนำวิธีบริหารจัดการน้ำแบบผสมผสานที่พูดกันมานานมาใช้” นายหาญณรงค์ กล่าว
นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า เสนอถึงสิ่งที่ยังขาดว่าให้มีมาตรการจัดการความเสี่ยงเชิงรุก 4 ประเด็น 1.กระจายภาระความเสี่ยงให้เกษตรกร รัฐบาล สถาบันการเงิน และกลุ่มธุรกิจการเกษตรที่ได้รับประโยชน์แบกรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น 2.การพัฒนาพันธุกรรมให้ต้านทานปัญหาในอนาคต เช่น พันธุ์ข้าวยืดหรือขึ้นน้ำ ซึ่งชาวบ้านทำกันเองและเก็บไว้จำนวนมากแต่ยังขาดการส่งเสริมต่อยอด 3.ประเมินปัญหาระดับท้องถิ่น ให้ชุมชนวางแผนรับมือความเสี่ยงเอง เนื่องจากแต่ละที่รุนแรงต่างกัน และ 4.การตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงระยะยาว โดยอาจใช้กำไรจากการขายข้าวในสต๊อกที่รัฐบาลเก็บไว้ หรืออาจมีมาตรการทางภาษีดึงเอาบางส่วนมาประกันความเสี่ยงด้วย
ทั้งนี้สถานการณ์อุทภัยวานนี้(2 พ.ย.) พายุดีเปรสชั่นพัดเข้าสู่ชายฝั่งบริเวณอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้ตอนนล่าง 8 จังหวัดได้รับผลกระทบอย่างหนัก ได้แก่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี สงขลา ยะลา นราธิวาส โดยเฉพาะเทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา รายงานล่าสุดจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทภกัยครั้งนี้ทั้งสิ้น 38 จังหวัด ผู้เสียชีวิต 104 ราย ส่วนสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ระบุว่าในพื้นที่ 18 จังหวัดที่มีพื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 1 แสนไร้ และหากรวมพื้นที่จังหวัดที่มีน้ำท่วม มีผู้ได้รับผลกระทบ 5 แสนครัวเรือน.
(รายละเอียดข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขและเยียวยาปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน)