เสียงจากคน 6 ทุ่ง : น้ำกำลังจะมาแต่หาความชัดเจนไม่ได้ในทุ่งรับน้ำ
จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครฟันธงเรื่องพื้นที่รับน้ำ เงินชดเชยเยียวยา ซ้ำร้ายข้อมูลที่ไปลงถึงพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบเต็มๆ วันนี้ดูจะยังไม่มีอะไรชัดเจน...มาฟังคำร้องทุกข์จากชาวบ้าน 6 ทุ่งรับน้ำในวันนี้
ภายหลังคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.)จัดหาพื้นที่แก้มลิงจำนวน 3.7 ล้านไร่ป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจ กรุงเทพมหานคร งบดำเนินการ 60,000 ล้านบาทใน 19 จังหวัด 609 ตำบลคือ กำแพงเพชรมีพื้นที่รับน้ำ 3 อำเภอ 5 ตำบล ฉะเชิงเทรา 2 อำเภอ 8 ตำบล ชัยนาท 4 อำเภอ 25 ตำบล นครนายก 1 อำเภอ 5 ตำบล นครปฐม 3 อำเภอ 27 ตำบล นครสวรรค์ 7 อำเภอ 39 ตำบล 3 อำเภอ ปทุมธานี 6 ตำบล พระนครศรี อยุธยา 14 อำเภอ 143 ตำบล 10 อำเภอ 61 ตำบล พิษณุโลก 6 อำเภอ 38 ตำบล ลพบุรี3 อำเภอ 34 ตำบล สมุทรปราการ 1 อำเภอ พิจิตร6 ตำบล สระบุรี 7 อำเภอ 28 ตำบล สิงห์บุรี 6 อำเภอ 43 ตำบล สุโขทัย 5 อำเภอ 7 ตำบล สุพรรณบุรี 7 อำเภอ 52 ตำบลอ่างทอง 7 อำเภอ 73 ตำบล อุตรดิตถ์ 3 อำเภอ 7 ตำบล และอุทัยธานี 1 อำเภอ 2 ตำบล
การทำโครงการพื้นที่แก้มลิงจะต้องประกาศเป็นกฎหมายตามอำนาจของนายกรัฐมนตรี เพื่อที่สามารถใช้อำนาจบังคับให้เกษตรกรพักทำการเกษตรในพื้นที่รับน้ำนอง ประชุมชี้แจงให้เกษตรกรเกิดความเข้าใจและเห็นถึงความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาที่เป็นธรรม ล่าสุดนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด 19 จังหวัดตรวจสอบพื้นที่รับน้ำนองทั้งหมดและประชาสัมพันธ์กับประชาชนเรื่องพื้นที่รับน้ำนอง อ่างเก็บน้ำ ฝายชะลอน้ำ และป่าต้นน้ำ ให้ชาวบ้านเข้าใจถึงระบบชลประทานในการป้องกันน้ำท่วม
“ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา” ได้สัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่รับน้ำนองบางส่วน เพื่อติดตามถึงการเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยที่จะมาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าว่าพวกเขาเตรียมพึ่งตนเองและรัฐบาลอย่างไร และถึงขณะนี้คนในพื้นที่มีความชัดเจนแค่ไหนในสิ่งที่พวกเขาเผชิญ “คนทุ่งรับน้ำ”
ชาวบ้านพื้นที่แก้มลิงชี้รัฐยังไม่ชี้แจงความคืบหน้าใดๆ
ประชาญ มีสี รองประธานองค์กรชุมชน ต.บางกระบือ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด ชลประทานยอมรับว่าสิงห์บุรีไม่ได้อยู่ในแผนแก้มลิงของรัฐบาล แต่ตัวเมืองสิงห์บุรีมีแม่น้ำเจ้าพระยาผ่ากลาง ปกติพื้นที่ชาวบ้านที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำจะเป็นแก้มลิงอยู่แล้วเพราะระดับตลิ่งมันต่ำ ตอนที่นายกรัฐมนตรีลงมามีการเสนอโครงการ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการป้องกัน และ โครงการบูรณซ่อมแซมแต่สิ่งที่ชาวบ้านเป็นห่วงคือ พื้นที่ใกล้เคียงคือทุ่งท่าวุ้ง ลพบุรี บางบาล อยุธยาที่ติดสิงห์บุรีที่อยู่ติดกัน อะไรคือคันกั้นน้ำระหว่างสิงห์บุรีกับลพบุรีเพราะมันเป็นผืนน้ำเดียวกัน ระดับต่างของพื้นที่เป็นระดับเดียวกันความสูงต่ำ เพราะฉะนั้นจะเป็นท่าวุ้งหรือสิงห์บุรีก็ทุ่งเดียวกัน เพราะพื้นที่มันคาบเกี่ยว แม้กระทั่งทุ่งบางบาลกับอ่างทองก็มีลักษณะคล้ายๆกัน เพราะเป็นพื้นที่เกี่ยวเนื่องกัน ไม่มีรายละเอียดเหล่นนี้ออกมาชี้แจงประชาชนแม้แต่น้อย
“ตอนนี้ภาครัฐมีหน้าที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งๆที่การจ่ายเงินชดเชยค่าน้ำท่วม 5,000 บาทปีที่ผ่านมายังไม่จบ บางคนยังไม่ได้ บางคนค่าเสียหายทั้งหลัง ได้ค่าชดเชย 2,000-3,000 ไม่เป็นไปตามความเป็นจริง ส่วนค่าชดเชยอื่นๆทั้งไร่นาสวนก็ยังไม่จบ วันนี้ยังไม่เห็นทั้งแผนตั้งรับ แผนเยียวยา ชดเชยยังไม่มี นอกเหนือจากน้ำท่วม ถ้าผลกระทบเกิดจากแก้มลิงมาถึงสิงห์บุรี ต้องคุยให้ชัดเจนเมื่อเอาน้ำเข้ามาปุ๊บน้ำจะออกเมื่อไหร่ ช่วงที่ชาวบ้านประกอบอาชีพไม่ได้ เขาจะทำอะไร การมีส่วนร่วมกับชาวบ้านเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่มีส่วนร่วมช่วงสุดท้าย คุณทำแผนเสร็จเรียบร้อย คุณค่อยมาถามชาวบ้านว่าเอาไม่เอา มันไม่ใช่ คุณต้องประชาพิจารณ์ชาวบ้านก่อน คุยต้องเปิดข้อมูล คุณต้องมาคุยกับชาวบ้านก่อนที่จะลงมือทำ” รองประธานองค์กรชุมชน ต.บางกระบือ กล่าว
อำนวย โฉมมิตร ชาวตำบลบางนา อ.มหาราช จ.อยุธยา กล่าวว่า อำเภอมหาราชเป็นเหมือนแอ่งกระทะน้ำจากที่ต่างๆจะลงมหาราชก่อนแล้วถึงจะระบายไปที่อื่น ซึ่งมีแม่น้ำคลองบางแก้วที่แยกจากเจ้าพระยาอ่างทองมาบรรจบกัน แม่น้ำสายลพบุรี ส่วนบางบาลเลยเส้นมหาราชไปแต่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสายจึงกระทบรุนแรง ปกติมหาราชท่วมสูงประมาณ 2 เมตรแต่ปีที่ผ่านมาระดับน้ำสูงกว่า 5 เมตร สำหรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมปีนี้ ยังไม่มีหน่วยงานไหนมาคุยกับชาวบ้าน รวมทั้งค่าชดเชยหรือการดำเนินการใดๆจากภาครัฐ
“แม้ยังไม่รู้ข้อมูลใดๆจากทางราชการ แต่ชาวบ้านก็เตรียมสู้ นาปีจะไม่ทำแล้ว จะปรับทำแค่นาปรัง ส่วนเรื่องค่าชดเชยเราทำประชาคมเพื่อทำข้อมูลเสนอรัฐบาล เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแบบปีที่ผ่านมา ที่การช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ใช้วิธีแบบพวกมึงพวกกู บางบ้านเสียหายน้อยได้เงินชดเชยมาก บางบ้านเสียหายมากได้เงินชดเชยน้อย มันเหมือนเป็นการเมืองเข้ามาครอบงำ ซึ่งก็ไม่รู้มีนอกมีในเรื่องงบประมาณหรือเปล่า” อำนวย โฉมมิตร กล่าว
ความกำกวมของคำว่าเยียวยาทุ่งรับน้ำ
ประมวล คล้ายทอง ผู้ใหญ่บ้านม. 2 ต.เขาแก้ว อ.ทับพระยา จ.ชัยนาท กล่าวว่า ทุ่งเชียงรากมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 50,000 ไร่ ชาวบ้านในพื้นที่ยอมรับที่จะให้มีการนำพื้นที่ไปทำทุ่งรับน้ำ แต่อยากให้ทางรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ เมื่อวิถีชีวิตชาวนาปรับเปลี่ยนไปจะทำอย่างไร ช่วงน้ำหลากชาวบ้านยอมให้เอาน้ำเข้าทุ่งได้ แต่ต้องจัดสรรน้ำให้ทำนาได้ 2 ครั้งแต่ความต้องการชาวบ้านไม่เคยมีเจ้าหน้าที่เข้ามารับฟัง รวมทั้งไม่มีความชัดเจนใดๆจากรัฐบาลในเรื่องค่าชดเชยว่าจะให้เท่าไหร่และจะดำเนินการอย่างไร
“ทุกคนยอมรับและจะปรับวิถีชีวิตช่วงไม่ได้ทำนามาหาปลาเพื่อเสริมรายได้ให้กับครัวเรือน ซึ่งเราก็ยังไม่แน่ใจว่าที่รัฐจะเข้ามาช่วยยกบ้านขึ้นหนีน้ำหรือยกระดับถนนให้สูงขึ้นให้สัญจรไปมาได้ก็ไม่รู้ว่ารัฐจะทำยังไง” ผู้ใหญ่ประมวล กล่าว
สำรวย ศรีกลัด ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีตำบลหาดทะนง อ.เมือง จ.อุทัยธานี กล่าวว่า จังหวัดอุมัยธานีพื้นที่ที่กำหนดไว้ทราบมาว่าประมาณ 26,000 ไร่ ชาวบ้านมีข้อกังวลว่าวิถีชีวิตจะเปลี่ยนไป การผันน้ำเข้ามาในพื้นที่จะมีเงื่อนไขและความชัดเจนอย่างไร เนื่องจากผลกระทบปีที่ผ่านมา อาชีพทำสวนไม้ยืนต้น เช่น สวนส้ม มะนาว ฝรั่ง มะม่วง มีความลำบากมาก ทางออกหรือการดูแลชาวบ้านในปีนี้จะมีวิธีการอย่างไร ตรงนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนจากภาครัฐ แต่ถ้าให้อุทัยธานีเป็นพื้นที่รับน้ำ แน่นอนต้องมีผลกระทบกับวิถีชีวิตดั้งเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะระยะเวลาการฟื้นฟูสวนต้องใช้เวลานาน ถ้าท่วมทุกปีเราจะทำอะไรไม่ได้เลย อีกอย่างฝั่งตรงข้ามเป็นฝั่งชัยนาทที่เขามีคันกั้นน้ำไม่ให้น้ำเข้าพื้นที่การเกษตรแต่ ฝั่งอุทัยธานีไม่มีคันกั้นและด้านหลังยังมีแม่น้ำสะแกกรังอีกหนึ่งสายที่โอบล้อมเข้ามา
“ตอนนี้นโยบายต่างๆยังไม่มีความชัดเจน ยังมีการปรับแผนกันอยู่ตลอดเวลา ทุกอย่างยังไม่นิ่ง การเกิดผลกระทบทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มานั่งเครียดว่าจะเริ่มต้นกันอย่างไรสำหรับเจ้าของสวนหลายๆสวนความรู้สึกจะไม่เหมือนชาวไร่ชาวนาที่ปลูกพืชระยะสั้นที่มีปฏิทินหลบหลีกตามฤดูกาลได้ รวมทั้งค่าชดเชยก็ยังไม่ชัด ไม่ว่าจะเป็น 3 พันหรือ 5 พันก็ยังไม่ชัด” สำรวย ศรีกลัด กล่าว
กำหนดฟลัดเวย์เลี่ยงสนามกอล์ฟเอื้อนักการเมืองผลักทุกข์ให้ชาวนา
บัณฑิต ประหัช ประธานประชาคมระดับตำบล ต.ชุมพล อ.องครักษ์ จ.นครนายก กล่าวว่า พื้นที่ตำบลชุมพล อ.องครักษ์ติดปทุมธานี ปีหนึ่งให้ชาวนาทำนาครั้งเดียว ฤดูน้ำหลากให้ประชาชนหยุดการทำนามีทั้งผลดีผลเสีย ถ้ามีการจ่ายค่าชดเชย คนที่เช่าที่ดินทำนาหรือเจ้าของที่นาจะเป็นผู้ได้รับก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เพราะถ้าให้เจ้าของที่นา คนที่เช่านาทำจะทำยังไง จะอยู่อย่างไรในช่วงที่น้ำท่วม ยังคงไม่มีข้อตกลงในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ก็ยังไม่เข้ามาทำความเข้าใจในรายละเอียดเหล่านี้ ส่วนเรื่องพื้นที่รับน้ำนอง ยังไม่มีใครเข้ามาทำความเข้าใจแจ้งให้ชาวบ้านทราบ รู้แต่เพียงการทำฟลัดเวย์จากคลองรังสิตตั้งแต่คลองหนึ่ง คลองสองถึงคลอง 16 ซึ่งมีการสำรวจแล้ว มีการทำแผนที่ออกมาแล้ว แต่ชาวบ้านมีข้อสงสัยว่าทำไมไม่ทำเป็นเส้นตรงไปแต่มีการกำหนดพื้นที่ให้เลี้ยวออกจากแนวสนามกอล์ฟขนาดใหญ่ที่อยู่บริเวณไปตัดที่นาชาวบ้าน
“ขณะนี้ชาวบ้านหลายคนต้องการร้องเรียนในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะรัฐทำไม่ถูกต้อง เป็นการเลือกปฏิบัติ อีกทั้งยังไม่มีการชี้แจงใดๆทั้งสิ้น พื้นที่รับน้ำจะอยู่ตรงไหน ฟลัดเวย์ทำไมกำหนดออกจากพื้นที่สนามกอล์ฟที่มีนักการเมืองบางคนมีเอี่ยว และค่าชดเชยต่างๆ ชาวบ้านไม่รู้เรื่องทั้งสิ้นเพราไม่เคยมีการทำประชาคม ผมเป็นประธานระดับตำบลผมรู้ดี” ประธานประชาคมระดับตำบล ต.ชุมพล กล่าว
ชีวิตที่ไม่โมเดลของ “บางระกำโมเดล”
สงัด มายัง ชาวบ้านบ้านตะโม่ ม.5 ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ในฐานะจังหวัดที่ถูกยกให้เป็นต้นแบบแก้ปัญหาน้ำท่วม กล่าวว่า รัฐจะใช้พื้นที่บึง 3 แห่งเป็นพื้นที่รับน้ำคือบึงจะเคร็ง บึงละมาน และบึงขี้แล้ง ซึ่งบึงจะเคร็งและบึงละมานเริ่มขุดแล้วแต่มีปัญหาที่บึงละมานเรื่องพื้นที่ทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่มีเอกสารสิทธิ์ เพราะมีการนำดินไปถมในที่ชาวบ้าน จะมีการฟ้องร้องศาล แต่รัฐบาลก็ยังไม่หยุด ไม่มีแนวทางแก้ไขชัดเจน แต่ในความเป็นจริงในพื้นที่ชาวบ้านเขาไม่กลัวน้ำท่วมแต่กลัวภัยแล้งมากกว่า
“หลังน้ำท่วมปีที่ผ่านมา ชีวิตบางระกำก็อยู่กันปกติ บอกได้เลยว่าไม่ต้องมาแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม เพราะบางระกำท่วมทุกปี ท่วมมากท่วมน้อยไม่รู้ แต่ถ้าบางระกำแล้งไม่ดีแน่ สิ่งที่ควรแก้คือแก้ปัญหาน้ำแล้งทำยังไงจะกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ ทำยังไงจะเอาแม่น้ำยมที่ไหลไปหมดเอาเก็บไว้ใช้ได้บ้าง อยากให้รัฐเข้ามาดูแล แต่ไม่อยากให้มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เพราะจะเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ ป่า วิถีชีวิต ชุมชน” สงัด มายัง กล่าว
.....................................
นั่นคือเสียงสะท้อนของคนลุ่มน้ำ วันนี้ยังคงรอความชัดเจนจากผู้มีอำนาจ เพราะหากเป็นไปตามแผนของรัฐบาลที่วางไว้ พื้นที่ทำการเกษตร วิถีชีวิตของพวกเขาย่อมเปลี่ยนไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกไม่กี่เดือนน้ำจะมา หลายคนจึงหวังว่าพวกเขาจะยังมีเวลาเตรียมตัวอยู่บ้าง..?