ผ่าประเด็นร้อนแรงงาน “หลังดีเดย์ค่าจ้าง 300 บาท 1 เม.ย.”
แวดวงแรงงานขณะนี้มีหลายประเด็นต้องจับตาอย่างใกล้ชิด และที่ร้อนแรงที่สุดคือประชานิยม “การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท” ที่ดีเดย์เริ่มใช้ 1 เม.ย.55 นี้ ไปติดตามปัญหาทั้งเก่า-ใหม่ของแรงงานไทย
ประชานิยมรัฐบาล ขึ้นค่าจ้าง 300 บาทเพื่อ “เพิ่มรายได้แก่ผู้ใช้แรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”….
ย้อนกลับไปช่วงต้นของการผลักดันนโยบาย มีข้อกังวลจากภาคธุรกิจ สภาอุตสาหกรรม สภาองค์การนายจ้าง ในทิศทางเดียวกันคือ “การขึ้นค่าจ้างรวดเดียว 300 บาท จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี” เพราะธุรกิจไม่มีเวลาปรับตัว ค่าจ้างที่พุ่งพรวดเป็นต้นทุนอันใหญ่หลวงและอาจทำให้ธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีทั้งหลายอยู่ไม่ได้ และผลกระทบที่ตามมาคือ ลูกจ้างหรือแรงงานต้องตกงานตามไปด้วย
เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักเข้า รูปแบบการขึ้นค่าจ้างจึงแปรเปลี่ยนจากเดิมที่จะ “ปรับขึ้นครั้งเดียว 300 บาททั่วประเทศ” เป็นปรับขึ้น 2 ระลอก คือเพิ่ม 40% ทุกจังหวัดทั่วประเทศก่อนในวันที่ 1 เม.ย.นี้ โดยมี 7 จังหวัดที่ได้เพิ่มจนถึง 300 บาท คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ภูเก็ต ระลอก 2 คือปรับเพิ่มในจังหวัดที่รายได้ยังไม่ถึง 300 บาท โดยปรับให้ถึง 300 บาทในวันที่ 1 ม.ค. 56หลังจากนั้นจะไม่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไปอีก 3 ปี
สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้คือ ภายหลังจากการปรับขึ้นค่าจ้างไปแล้ว ผลกระทบที่ตามมาจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทั้งในแง่ของการปรับตัวของภาคธุรกิจ ผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไป
ในส่วนของภาคธุรกิจ ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เพราะแม้ว่ารัฐจะมีนโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เป็น 23% แต่กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ตรงนี้กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สำรวจความพร้อมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 512 รายใน 7 จังหวัด พบว่าที่พร้อมทำตามนโยบายมี 66.3% ไม่พร้อม 33.7% โดย 50.5% บอกว่าเนื่องจากมีกำไรน้อยอยู่แล้วจึงไม่ได้ประโยชน์นักจากมาตรการลดภาษีดังกล่าว พร้อมกับเสนอว่าอัตราภาษีที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 15-20%
พากร วังศิลาบัตร ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระบุว่า เมื่อมีการปรับขึ้นค่าจ้างตามนโยบายค่าจ้าง 300 บาท ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ จะส่งผลให้โรงงานขนาดเล็กซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมตั้งแต่ปลายปี 2554 ต้องปิดกิจการ เพราะอยุธยามีโรงงานถูกน้ำท่วมถึง 1,500 แห่งตั้งแต่ตุลาคม 2554 จนถึงปัจจุบันพบว่าโรงงานต่างๆต้องหยุดการผลิตและไม่มีรายได้มา 6 เดือนแล้ว ส่วนที่ทนอยู่ก็ต้องแบกภาระอันหนักอึ้ง ทั้งการกู้ฟื้นฟูโรงงาน การจ่ายเงินเดือนต่อเนื่องแก่แรงงานตามกฎหมาย(ช่วงหยุดการผลิต) ทั้งที่ไม่การผลิต ขาดรายได้-เพิ่มรายจ่าย และเมื่อฟื้นฟูโรงงานได้ ก็ต้องเตรียมรับภารเพิ่มค่าแรงตามที่รัฐบาลกำหนดอีก
“หากเป็นโรงงานขนาดเล็กและธุรกิจเอสเอ็มอีสายป่านทางการเงินมีน้อย ก็เชื่อว่าจะต้องหยุดกิจการแน่นอน” ประธานสภาอุตสาหกรรมพระนครศรีอยุธยา ระบุ
ส่วนของผลกระทบที่มีต่อผู้ใช้แรงงาน เมื่อแรงงานไร้ฝีมือได้รับค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาท ก็เป็นปัจจัยผลักดันให้นายจ้างต้องเพิ่มค่าแรงแก่แรงงานที่มีทักษะให้สูงขึ้นไปด้วย ฉะนั้นต้นทุนของนายจ้างจึงไม่ได้เพิ่มแค่คนที่รับค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ปรับเพิ่มในลักษณะยกแผง รวมทั้งแรงงานนอกระบบ อาทิ ลูกจ้างร้านก๋วยเตี๋ยว แรงงานในภาคเกษตร ฯลฯ ก็ต้องปรับค่าแรงต่อวันให้สูงตามขึ้นไปด้วย
แม้รายได้เพิ่ม แต่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคก็ปรับตัวขึ้นไปรอแล้วเช่นกัน โดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือนกุมภาพันธ์ 2555 เท่ากับ 113.63 สูงขึ้น 3.35% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปี 2554 และสูงขึ้น 0.37% จากมกราคม 2555 เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ เครื่องปรุง ราคาปรับขึ้นเฉลี่ย 7% ซึ่งชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) อยากให้รัฐบาลเร่งหามาตรการคุมราคาสินค้าที่แพงขึ้นอย่างเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบันหลายชนิดขึ้นราคาไปก่อนค่าจ้างแล้ว ทำให้ผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบหนัก
และที่ต้องจับตาต่อคือ หลัง 1 มกราคม 2556 หลังจากปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศแล้ว จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานและการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งกระทบการจ้างงานในท้องถิ่นโดยตรง เพราะผู้ประกอบการไม่มีความจำเป็นต้องตั้งโรงงานในจังหวัดที่ราคาค่าจ้างต่ำอีกต่อไป ประสิทธิ์ จงอัศญากุล ประธานสภานายจ้างผู้ค้าและบริการเรื่องอุปโภคบริโภค ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศ จะทำให้โรงงานต่างๆย้ายฐานผลิตมาอยู่ใกล้ๆกรุงเทพฯมากขึ้น เพื่อประหยัดต้นทุนค่าขนส่ง
“ถ้าค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศแล้ว เรื่องอะไรเขาต้องไปตั้งโรงงานอยู่ไกลๆ ย้ายมาตั้งชานเมืองจะประหยัดต้นทุนได้มากกว่า” ประสิทธิ์ กล่าว
และระยะยาวยังต้องจับตา “ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน” เพราะสังคมไทยกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดของประชากรน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้กำลังแรงงานที่เข้าสู่ภาคผลิตและภาคเกษตรน้อยลง โดยผลวิจัยของ สุวรรณา ตุลยวศินพงษ์ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2555-2558 สถาบันการศึกษาสามารถผลิตผู้ที่จบการศึกษาทุกระดับอยู่ที่ 1.5 ล้านคนต่อปี และมีความต้องการแรงงานทดแทนในแต่ละปีอยู่ที่ 1.2 ล้านคน แต่มีผู้ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานเพียง 3.6 แสนคน และมีอัตราว่างงานไม่ถึง 1% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่น้อยมาก
แนวโน้มตลาดแรงงานจึงอยู่ในภาวะตึงตัวเช่นนี้ไปตลอด ทางเลือกที่เกิดขึ้นคือ 1.นำเข้าแรงงานต่างชาติเพื่อทดแทนกำลังคนที่หายไป และ 2.นำเทคโนโลยีมาช่วยในการผลิตเพื่อให้ใช้คนได้น้อยลง อีกทางหนึ่งต้องเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีผลิตภาพสูงขึ้น นอกจากประเทศไทยจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานแล้ว แรงงานที่ผลิตออกมายังไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพราะภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ต้องการคนที่จบด้านอาชีวะศึกษา ปวช. ปวส. แต่ภาคการศึกษากลับผลิตแต่ระดับปริญญาตรี
เผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าปัญหาในภาคอุตสาหกรรมขณะนี้ เกิดจากการไม่เข้าคู่ของทักษะฝีมือ เนื่องจากตลาดขาดแคลนแรงงานฝีมือและประสบการณ์ ยิ่งแนวโน้มอนาคตที่ประชากรน้อยลงยิ่งประสบปัญหาขาดแคลนคนมาป้อนตลาดแรงงานสูงขึ้น กระทรวงแรงงานทำ “ฐานข้อมูลแรงงาน หรือธนาคารแรงงาน” ว่ามีแรงงานจำนวนเท่าไร นายจ้างต้องการแรงงานลักษณะใด-เท่าใด-พื้นที่ไหน แรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศนับแสนและกลับมาไทยแล้วอยู่ที่ใด-เป็นแรงงานทักษะ-ไร้ทักษะเท่าใด เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยจับคู่กับความต้องการของนายจ้างที่ขอให้กรมการจัดหางานหาคนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ชี้ว่านอกจากการเพิ่มคนเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยการนำผู้ว่างงาน คนพิการ มาเพิ่มทักษะ รวมไปถึงผู้ที่เกษียณอายุแต่ยังมีศักยภาพให้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน ยังต้องเพิ่มศักยภาพแรงงานที่มีอยู่เดิมให้ทำงานได้ในปริมาณและคุณภาพที่มากขึ้นด้วย
อีกประเด็นสำคัญแรงงานไทย คือ “การฉ้อโกง” หลอกลวงคนไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่คือแรงงานจากชุมชนที่ต้องการแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและอีสานซึ่งมีค่านิยมไปทำงานหาเงินในต่างประเทศ มักมีสถิติการหลอกลวงสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ล่าสุดก็มีประเด็นเกี่ยวกับการเก็บค่าหัวคิวคนงานที่ไปทำงานในอิสราเอลสูงเกินจริง ซึ่งกระทรวงแรงงานกำลังสอบสวน
ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน ระบุว่าปี 2554 ที่ผ่านมา จังหวัดที่มีคนหางานมาร้องทุกข์มากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ 1.กรุงเทพมหานคร มูลค่าความเสียหาย 45,849,948 บาท 2.ชัยภูมิ มูลค่า12,939,720 บาท 3.นครราชสีมา มูลค่า 7,752,120 บาท 4.ลำปาง มูลค่า 3,115,700 บาท และ 5.อุดรธานี มูลค่า 5,721,600 บาท ทั้งนี้สถิติย้อนหลังในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีแรงงานร้องถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศกว่า 12,000 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 755 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2550 มีคนหางานร้องทุกข์ 2,394 คน มูลค่าความเสียหาย 142,636,192 บาท ได้รับการช่วยเหลือ 2,677 คน ได้รับเงินคืน 68,240,048 บาท ปี 2551 ร้องทุกข์ 3,028 คน มูลค่าความเสียหาย 182,419,303 บาท ได้รับการช่วยเหลือ 3,033 คน ได้รับเงินคืน 59,006,281 บาท
ปี 2552 มีคนหางานร้องทุกข์ 3,040 คน มูลค่าความเสียหาย 185,988,713 บาท ได้รับการช่วยเหลือ 3,002 คน ได้รับเงินคืน 54,046,578 บาท ปี 2553 ร้องทุกข์ 2,275 คน มูลค่าความเสียหาย 126,044,651 บาท ได้รับการช่วยเหลือ 2,273 คน ได้รับเงินคืน 37,916,130 บาท และปี 2554 ร้องทุกข์ 1,781 คน มูลค่าความเสียหาย 120,016,470 บาท ได้รับการช่วยเหลือ 1,792 คน ได้รับเงินคืน 23,200,280 บาท
การหลอกลวงที่เกิดขึ้นนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากกลุ่มคนที่เรียกว่า “สายนายหน้า” ซึ่งจะเข้าไปตามชุมชนต่างๆ เพื่อชักจูงโน้มน้าวคนในชุมชนไปทำงานในต่างประเทศ หลักๆจะมีไต้หวัน เกาหลีใต้ อิสราเอล ฟินแลนด์ และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง โดยอ้างว่าจะมีรายได้สูงเท่าโน้นเท่านี้ แล้วขอเก็บเงินค่ามัดจำล่วงหน้าไปก่อน เงินล่วงหน้าที่เก็บอาจมีตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสนบาท เมื่อจ่ายแล้วก็บอกให้รอทำตั๋ว พาสปอร์ต เมื่อกำหนดการแน่ชัดจะแจ้งให้เตรียมตัวเดินทางต่อไป หากใครเจอนายหน้าตัวจริงก็โชคดีได้ไปทำงานสมใจ แต่ถ้าเจอนายหน้าหลอกๆ ก็จะจ่ายเก้อ บ้างก็ได้บินไปประเทศเป้าหมายจริง แต่ไปถึงแล้วไม่มีงานให้ทำตามสัญญา
กระทรวงแรงงานในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงได้จัดทำโครงการ “อาสาสมัครแรงงาน” โดยให้ผู้นำชุมชน อาทิ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. มาอบรมความรู้เกี่ยวกับวิธีการไปทำงานต่างประเทศที่ถูกต้องว่ามีขั้นตอนอย่างไร และให้กลับไปเผยแพร่ความรู้ในชุมชน แต่ปัญหาลักษณะนี้ก็ยังเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ
…………………
ไม่เพียงผลกระทบอันกว้างขวาง ที่ยังเถียงกันไม่จบจากนโยบายปรับค่าจ้าง 300 บาท ที่จะเริ่มเป็นรูปธรรมตั้งแต่ 1 เมษายนนี้ แต่ปัญหาจุกอกแรงงานไทยวันนี้ ทั้งเก่า-ใหม่ ยังรอการแก้ไข!