ความสุขที่ "โรงเรียนกลางนา" และ "บ้านของพ่อ"
กลางท้องทุ่งนาตะโหมด ริมเทือกเขาบรรทัด "โรงเรียนกลางนา" ก่อกำเนิดขึ้นด้วยความตั้งใจของชุมชน เป็นโรงเรียนแห่งการเรียน เพื่อให้ลูกหลานได้เรียนรู้วิชาการและทักษะชีวิตไปพร้อมๆ กัน
กว่า 4 ปีที่ เสกศักดิ์ การวินพฤฒิ ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลตะโหมด ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อโรงเรียนแห่งนี้...โรงเรียนเทศบาลตะโหมด แห่งท้องทุ่งชุมชนตะโหมด ต.แม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง แหล่งเรียนรู้ที่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติ ทุ่งนา ภูเขา กลางชุมชนสองวัฒนธรรม พุทธและมุสลิม อุดมด้วยภูมิปัญญาและสุนทรียภาพของชีวิต
ที่นี่น้อมนำศาสตร์ของพระราชา โดยเฉพาะ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" มาใช้ตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งโรงเรียน เพื่อสร้างการเรียนรู้สู่ความยั่งยืน โดย เสกศักดิ์ บอกว่า ทุกเรื่องที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสอน ล้วนเป็นองค์รวมและเป็นเรื่องจริง
"ฐานคิดแรกคือการตีความเพื่อนำมาใส่ในหลักสูตร ต้องสามารถดึงทรัพยากรทางสังคมเข้ามารวมกันใช้เพื่อการจัดการศึกษา เป็นการศึกษาแบบไม่แยกส่วน เป็นเรื่องเดียวกัน โดยใช้เรื่องของการดำเนินชีวิตมาตั้งเป็นฐาน ไม่มีสูตรสำเร็จในการศึกษา เด็กอนุบาล 50 กว่าคนเมื่อตอนก่อตั้งยังคงเรียนต่อที่นี่ทั้งหมด ผู้ปกครองยังคาดหวังเรื่องวิชาการ บอกว่าจะไม่ไปไหน แต่ ผอ.ต้องไม่ทิ้งพวกเรา เราต้องทำให้สำเร็จก่อน แล้วมาทำเรื่องทักษะชีวิต คุณค่าความเป็นมนุษย์"
เสกศักดิ์ เล่าว่า ช่วงแรกตั้งของโรงเรียนกลางนารับเด็กวัยอนุบาล จากนั้นขยายมาเป็นชั้นประถม มีการพูดคุยกับผู้ปกครองเพื่อกำหนดแนวคิดซึ่งแน่นอนว่าพ่อแม่ผู้ปกครองยังไม่แน่ใจ ฉะนั้นเราต้องพิสูจน์ คือนักเรียนทุกคนเมื่อผ่านชั้น ป.3 ต้องอ่านออกเขียนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ผ่านไป 3 ปีเราทำได้ พัฒนาสู้กับเด็กในเมืองที่อื่นได้ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับชาติน่าพอใจ ครูอยู่ในวัยที่ต้องการถ่ายทอดความรู้ พร้อมเรียนรู้เทคโนโลยี ผู้ปกครองพอใจ นำเด็กกลับมาจากการเรียนโรงเรียนในเมืองเพื่อมาเรียนที่นี่ จึงมาเริ่มพัฒนาด้านทักษะชีวิต และสุนทรียภาพของชีวิต
การเรียนการสอนที่เน้นความสุขของเด็กๆ ครูตั้งใจและทุ่มเท ชาวบ้านในชุมชนร่วมมือร่วมใจช่วยเหลือ ผู้ปกครองต่างเห็นความสุขของลูก ความสุขกลางนาที่บ่มเพาะความพอเพียง ไม่มีปิดเทอม มาทำกิจกรรม เรียนพิเศษกันได้ตลอดเวลา ในเวลาปกติ เสกศักดิ์มักจะให้เด็กๆ อ่านหนังสือให้ฟัง เพื่อให้รู้ว่าอ่านออกได้ในระดับไหน
โรงเรียนกลางนามีครู 24 คน เป็นผู้หญิงทั้งหมด มีผู้ชาย 2 คน คือ เสกศักดิ์ และภารโรง
จุดเด่นของที่นี่ คือ โรงเรียนตั้งอยู่กลางทุ่งนา จึงได้รับการเรียกขานว่า "โรงเรียนกลางนา" ทุ่งนาแห่งนี้มีความพิเศษ ด้วยเป็นนาผืนแรกที่รับน้ำจากเทือกเขาบรรทัด แหล่งน้ำสะอาด แร่ธาตุสมบูรณ์
"จุดเด่นที่มองเห็นว่าที่นี่ทำได้ คือทุกอย่างรอบตัว ผู้เรียนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการเรียนได้ทุกอย่าง ทั้งวิชาการ สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เด็กรู้จักตัวตนของตนเอง รู้จักชุมชน เด็กที่นี่มีสุนทรียภาพ เห็นทุ่งนา เทือกเขา ทุกอย่างมีคุณค่าต่อพวกเขามาก รอบๆ นี้คือตัวอย่างที่บอกเด็กได้ในการยังชีพ ไปจนถึงการค้าขาย"
ศาสตร์ของพระราชาทอดไปยังผืนนาที่ก่อเกิด "ข้าวทองคำ" ข้าวน้ำแรกจากต้นน้ำเทือกเขาบรรทัด ผลิตผลจากต้นกล้าเยาวชนโรงเรียนกลางนา
"ตอนนี้ได้หว่านข้าวพระราชทานไว้มุมหนึ่งของนา เมื่อถึงเวลาของการทำนา เป็นนาดำ เราจะลงกล้า เกี่ยวข้าว หมุนเวียนไป ที่นี่ทำนาได้ปีละ 3 รอบ มีน้ำให้ทำนาได้ตลอดทั้งปี เด็กได้เรียนรู้ทุกกระบวนการของการทำนา ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจำหน่าย ที่นี่น้ำไม่ท่วม น้ำไม่แห้ง เป็นที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำจริงๆ ไม่มีการตัดต้นไม้ข้างบนภูเขา ข้าวสังข์หยดพัทลุงเป็นข้าวที่มีค่า คุณภาพดี เด็กจะจัดการกันเอง ทำบัญชีเป็นทางการ เป็นข้าวบุญ กิโลละ 100 บาท นำรายได้มาพัฒนาโรงเรียน"
ริมนาเป็นที่ตั้งของ "บ้านของพ่อ" มาจากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านในชุมชนที่มีศรัทธาต่อพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ชาวบ้านมีหัวใจในการช่วยเหลือ เป็นแหล่งเรียนรู้และสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน ให้เด็กและชุมชนได้นำแนวคิดของพระองค์มาปรับใช้
บน "บ้านของพ่อ" เป็นที่เก็บหนังสือ ซีดี บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ท่าน ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ เพราะโรงเรียนเป็นของชุมชน
เด็กหญิงณัฐณิชา นุ่นนุ้ย นักเรียนชั้นป.4 บอกว่า พ่อให้มาเรียนเพื่อให้รู้จักรับผิดชอบ มีความสุจริต รู้สึกมีความสุขที่ได้เรียนที่นี่ ไม่เบื่อ มีกิจกรรมเยอะ มีหนังสือเยอะ
"พ่อให้มาเรียนที่นี่ตั้งแต่อนุบาล ครูสอนให้รู้จักรับผิดชอบ มีความสุจริต ปิดเทอมที่นี่มีเรียนพิเศษฟรี ครูอาสามาสอน สามารถไปปลูกผักที่บ้านได้ด้วย อยากเรียนที่นี่ต่อ"
เด็กหญิงฐิตาภา คงแคล้ว เพื่อนนักเรียนชั้นเดียวกับณัฐณิชา บอกว่า ที่นี่สอนเรื่องความพอเพียง ปลูกผัก เลี้ยงปลา ทำนาข้าว ล้อมรอบด้วยธรรมชาติ และสำรวจรอบโรงเรียน
"ที่นี่สอนดีกว่าในเมือง มีความสุขที่ได้เรียนใกล้บ้าน"
เด็กหญิงทั้งสองคนบอกว่า เมื่อในหลวงเสด็จสวรรคต รู้สึกเสียใจมาก ท่านจากไปแล้ว นับจากนี้ขอทำความดีเพื่อท่าน
ก้องเกียรติ ขุนจำนง ตัวแทนชาวบ้านที่มาช่วยเหลือโรงเรียน เป็นจิตอาสาตัวจริงของชุมชน เล่าว่า ช่วยทำทุกอย่าง เพราะที่โรงเรียนมีผู้อำนวยการเป็นผู้ชายคนเดียว ใครมีไม้หรือมีอะไรก็เอามาช่วยกัน จนเห็นเป็นรูปเป็นร่างกับ "บ้านของพ่อ" ปลื้มใจที่ได้ช่วยโรงเรียน เด็กได้มีความรู้ เรียนรู้ที่ชุมชนบ้านเกิด ไม่ต้องตื่นเช้านั่งรถไปเรียนในเมือง เพราะที่นี่มีเหมือนที่อื่น เด็กมีความรู้ มีความสุข สุขกายและสุขภาพใจก็ดีขึ้น พ่อแม่รับ-ส่งได้อย่างสบายใจ เด็กได้ช่วยเหลืองานพ่อแม่ทั้งตอนเช้าและเย็น
อาคารเรียนของที่นี่มีชั้นเดียว ทุกบริเวณคือห้องเรียน อีกไม่นานพวกเขากำลังจะมีอาคารเรียนใหม่เพื่อรองรับการขยายชั้นเรียนและพัฒนาการทางวิชาการและกิจกรรมต่างๆ
เสกศักดิ์บอกว่า สงครามการศึกษาไม่สิ้นสุด ในชั้น ป.4-ป.6 จะมีการเสริมวิชาการให้เด็กๆ ด้วย เพื่อควบคู่กันไปอย่างมีคุณภาพ ทั้งวิชาการและคุณธรรม ให้เด็กเก่ง และเรียนรู้ในที่ทางที่เหมาะสม
เป้าหมายสูงสุดที่เสกศักดิ์หวังไว้คือ ผู้เรียนมีความสุขนำทาง เมื่อมีความสุข ผลลัพธ์ที่ดีย่อมปรากฏตามมา...
------------------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง/ภาพ : เลขา เกลี้ยงเกลา