ม็อบชนเผ่า-คนไร้สัญชาติบุกทำเนียบฯ 29 มี.ค.ทวงสัญญาปฏิบัติตามมติ ครม.ฟื้นวิถีชีวิต
เครือข่ายคนไร้สัญชาติ-ชาติพันธุ์ทั่วประเทศ รวมพลข้างทำเนียบฯ 29-30 มี.ค. ทวงปฏิบัติตามมติ ครม.ฟื้นวิถีชีวิตชนเผ่า จี้นำร่องเขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษ 8 ชุมชนชาวเล 4 ชุมชนกะเหรี่ยง แก้ด่วนที่อยู่อาศัยดินทำกิน-สุสานถูกรุกราน
เครือข่ายคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง เปิดเผยว่าวันที่ 29-30 มี.ค.55 นี้จะมีการจัดงาน “สมัชชาคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง” ที่ข้างทำเนียบรัฐบาล โดยจะมีการยื่นเสนอต่อรัฐบาลเพื่อผลักดันนโยบาย “เขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษของกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง โดยเครือข่ายฯระบุว่าเนื่องมาจากมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ปี 2553 เรื่องการแก้ปัญหาและฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและกะเหรี่ยง แต่ไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหา และไม่มีผลในทางปฏิบัติ
เครือข่ายคนฯ จึงมีข้อเสนอในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม 1.ให้มีมติ ครม.แต่งตั้ง “คณะกรรมการนโยบายแก้ปัญหาและฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทั่วประเทศ” มีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน มีคณะกรรมการจากทุกภาคส่วน คือผู้แทนชนเผ่า องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง 2.เสนอให้มีมติ ครม.จัดตั้ง “กองแก้ปัญหาและฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง” โดยจัดสรรงบประมาณอย่างน้อยปีละ 500 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งชุมชน การศึกษาวิจัย ฟื้นฟูวัฒนธรรม พัฒนาคุณภาพชีวิต/อาชีพ และแก้ปัญหาอื่นๆ โดยกองทุนอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการตามข้อ 1.
3.ให้คณะกรรมการตามข้อ 1. เร่งดำเนินการ ดังนี้ 3.1 ดำเนินการตาม มติ ครม.2553 เรื่องการแก้ปัญหาชาวเลและกะเหรี่ยง โดยเร่งประกาศพื้นที่นำร่องเขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษ ชุมชนชาวเล 8 พื้นที่ และ กะเหรี่ยง 4 พื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องที่ดินอยู่อาศัย และที่ทำกิน 3.2 สนับสนุนการศึกษาวิจัย สำรวจรวบรวมข้อมูลของพื้นที่กลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมืองทุกกลุ่มเพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาระยะยาว 3.3 สนับสนุนการศึกษาพัฒนาให้เกิดการจัดตั้งองค์กรหรือสถาบันที่ดูแลคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ตามแนวทางเขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษ ภายใน 6 เดือน 3.4 หาแนวทางแก้ปัญหาเร่งด่วน กรณีความขัดแย้งที่ดินอยู่อาศัยที่ทำกิน สัญชาติ และการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ อย่างเท่าเทียม
ทั้งนี้ข้อมูลจากเครือข่ายระบุว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมืองถึง 36 เผ่า ประชากรรวมกันมากกว่า 1,200,000 คน (จำนวนนี้เป็นผู้ไร้สัญชาติถึง 400,000 คน) เช่น ทางภาคเหนือมีปกากะญอ ขมุ มฺบีซู มลาบรี ม้ง เมี่ยน ลีซู ลาหู่ ลัวะ อาข่า ภาคอีสานมีชาวกูย ภูไท ญัฮฺกุร โส้ ภาคกลางและตะวันออก มีชาวมอญ ไททรงดำ ชอง และภาคใต้มีมอแกน มอแกลน อุรักละโว้ย มานิและมาลายู กลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่อาศัยในพื้นที่มาเป็นเวลานาน บางกลุ่มมีอายุกว่า 500 ปี มีวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่เรียบง่ายผูกพันกับธรรมชาติ ใช้ทรัพยากรแบบหาอยู่หากิน มีอัตลักษณ์และแบบแผนการดำเนินชีวิตของตนซึ่งสืบทอดสู่คนรุ่นหลัง เช่น การอาศัยหาอยู่หากินกับป่าของชนเผ่าบนที่สูงทางภาคเหนือ และการอาศัยหากินกับทะเลของกลุ่มชาวเลทางภาคใต้
ระยะที่ผ่านมาวัฒนธรรมและระบบคุณค่าดังกล่าวเริ่มอ่อนแอลง อันเป็นผลกระทบจากนโยบายและแผนพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุลในทุกรัฐบาล ทำให้กลุ่มคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองถูกละเลย ถูกแย่งชิงทรัพยากร ถูกละเมิดสิทธิชุมชน เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ถูกเอารัดเอาเปรียบ เช่น โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ การสัมปทานเหมืองแร่ การสร้างเขื่อน นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว การประกาศเขตป่าอนุรักษ์ เขตอุทยานและอื่นๆของรัฐทับที่อยู่และที่ทำกินดั้งเดิม
ซึ่งปัญหาหลักของกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมืองทั่วประเทศ คือ ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกินทั้งในป่า ในทะเล พื้นที่ศักดิ์สิทธิเพื่อประกอบพิธีกรรมและสุสานกำลังถูกรุกราน ปัญหาการไม่มีสัญชาติหรือไม่มีบัตรประชาชน เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและถูกเอาเปรียบ ถูกรีดไถ่ ขาดโอกาสด้านการศึกษา ถูกรุกรานวิถีชีวิตวัฒนธรรมจากสังคมสมัยใหม่ ถูกดำเนินคดีจากการทำกินในเขตดั้งเดิมหรืออื่นๆ รวมถึงขาดความมั่นคงด้านจิตใจเนื่องจากการถูกกดทับมายาวนานจากอคติชาติพันธุ์ของคนในสังคมที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่า ยิ่งทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง กลายเป็นกลุ่มคนยากจน .