ปธ.พูโล "กาแม ยูโซ๊ะ" เสียชีวิต - เชื่อไม่กระทบพูดคุย - "กัสตูรี" จ่อแถลง
องค์การพูโล หรือ องค์การแนวร่วมปลดปล่อยปาตานี ได้สูญเสียผู้นำอย่าง นายกาแม ยูโซ๊ะ ด้วยอาการป่วย หลังเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในประเทศมาเลเซีย
ฝ่ายความมั่นคงไทยได้ยืนยันข่าวการเสียชีวิตของ นายกาแม ยูโซ๊ะ ในวัย 69 ปีเมื่อวันพุธที่ 25 ต.ค.60 จากสาเหตุเส้นโลหิตในสมองแตก โดยผู้นำองค์การพูโลเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในโกตาบารู รัฐกลันตัน ทางตอนเหนือของมาเลเซียติดต่อกับประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. และเสียชีวิตลงในที่สุด
นายกาแม ยูโซ๊ะ ได้รับเลือกจากสมาชิกให้เป็นประธานพูโลคนใหม่ เมื่อกลางปี 2552 หลังจาก ตนกูบีรอ กอตอนีลอ ประธานพูโลคนแรกเสียชีวิตเมื่อปี 2551 โดยทางการไทยรายงานชื่อของเขาหลายชื่อ ทั้ง กาแม ยูโซ๊ะ, อาแบกาแม (แปลว่าพี่กาแม) และ กาแม ฮีเล หรือแม้แต่ กาแม ยูโซฟ โดยเชื่อเขาคือคนเดียวกับ นายนูร อับดุรเราะห์มาน ที่เปิดตัวให้สัมภาษณ์ในฐานะประธานพูโลกับสื่อตุรกีเมื่อปลายปี 2552
สำหรับประวัติของ นายนูร อับดุรเราะห์มาน หรือ นายกาแม ยูโซ๊ะ เท่าที่ได้สัมภาษณ์กับสื่อตุรกีอย่างละเอียดนั้น สรุปได้ว่าเขาเกิดที่ จ.ยะลา เมื่อปี พ.ศ.2491 เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในโรงเรียนไทย พร้อมกับเรียนปอเนาะไปด้วยตั้งแต่อายุ 7 ขวบ แต่มีความสนใจเรื่องศาสนามากเป็นพิเศษ ในช่วงเรียนอยู่มัธยมปลาย เขากับเพื่อนๆ อีกหลายคนที่เรียนด้วยกันมีแนวคิดในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสรภาพของปาตานี หลังเรียนจบมัธยมปลาย จึงเข้าร่วมกับ ตนกูบีรอ กอตอนีลอ ผู้ก่อตั้งองค์การปลอดปล่อยปาตานี หรือ PULO เพื่อเรียกร้องให้ชาวปัตตานีต่อสู้เพื่อเอกราชจากรัฐไทย
นายกาแม ยูโซ๊ะ เดินทางไปซาอุดิอาระเบีย และไปต่อยังกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของประเทศซีเรีย เพื่อศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยที่นั่น ต่อมาในปี พ.ศ.2516 เขาอ้างว่าได้เข้าร่วมฝึกอาวุธและร่วมกับนักรบปาเลสไตน์ในการต่อสู้กับทหารอิสราเอลหลายครั้ง และในปี พ.ศ.2517 ได้รับเลือกจากนักศึกษาปาตานีที่เรียนอยู่ในกรุงดามัสกัส ให้เป็นประธานนักศึกษาปาตานีที่นั่น
ปี พ.ศ.2518 ตนกูบีรอ กอตอนีลอ ได้ให้เขากลับปาตานี และจัดตั้งการชุมนุมประท้วงรัฐบาลไทย เกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารชาวมุสลิมเสียชีวิต 4 ราย ที่สะพานกอตอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ซึ่งมีการประท้วงยืดเยื้อถึง 44 วัน หลังการประท้วงเขาได้เดินทางกลับไปกรุงดามัสกัส
จากนั้นในปี พ.ศ.2520 นายกาแม ยูโซ๊ะ ได้เดินทางไปยังประเทศลิเบีย เพื่อศึกษาสาขาศาสนาที่มหาวิทยาลัยดาเวด และได้ตั้งสำนักงานขบวนการนักศึกษาปาตานีขึ้น ซึ่งเขาอ้างอีกว่ายังมีการตั้งค่ายฝึกสำหรับนักรบปาตานีด้วย ต่อมาเขาได้เดินทางไปยังประเทศอิหร่าน และตั้งสำนักงานของพูโลขึ้นที่กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ด้วยเช่นกัน แต่ภายหลังสำนักงานถูกปิดไป
ตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ นายกาแม ยูโซ๊ะ หรือ นูร อับดุรเราะห์มาน ได้พูดถึงปัญหาระหว่างปาตานีกับไทยเอาไว้อย่างน่าสนใจ
"สังคมปาตานีกับสังคมไทยเป็นสองสังคมที่แตกต่างกัน ทั้งในแง่ศาสนา ภาษาและวัฒนธรรม คนปาตานีมีประวัติศาสตร์ที่แยกต่างหากจากประวัติศาสตร์ของคนไทย บรรพบุรุษของเราได้ก่อตั้งราชอาณาจักรอิสลามปาตานีขึ้น และอาศัยในดินแดนของตัวเองอย่างอิสระเสรี บรรพบุรุษของเราได้ต่อต้านการรุกรานของราชอาณาจักรไทยพุทธก็ด้วยจุดประสงค์ต้องการปกป้องศาสนาและวัฒนธรรมของตนไว้ ด้วยวิธีเดียวกันเราก็จะสืบทอดการต่อสู้ต่อไปเพื่อปกป้องศาสนาและวัฒนธรรมของพวกเรา"
สำหรับสาเหตุของการเปิดตัวให้สัมภาษณ์กับสื่อตุรกีนั้น เขาอ้างว่าเป็นเพราะบรรพบุรุษของเขาเป็นชาวตุรกี และหวังให้ชาวตุรกีเห็นอกเห็นใจการต่อสู้ของชาวปาตานี โดยอ้างถึงความความสัมพันธ์และความช่วยเหลือที่ตุรกีเคยให้แก่ชาวปาตานีตั้งแต่สมัยอาณาจักรออตโอมาน
อย่างไรก็ดี ในบริบทของการเป็นผู้นำองค์การพูโล ในยุคของเขา ภายหลังการสูญเสีย ตนกูบีรอ กอตอนีลอ ผู้นำคนแรก เขาก็ไม่สามารถรักษาเอกภาพของขบวนการเอาไว้ได้ เพราะเคยออกแถลงการณ์โจมตีและแย่งตำแหน่งประธานพูโลกับ นายกัสตูรี มะห์โกตา อดีตโฆษกและฝ่ายต่างประเทศของพูโล กระทั่งปัจจุบันทางการไทยเชื่อว่ากลุ่มพูโลแตกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มพูโล DSPP หรือ สภาชูรอเพื่อการนำพูโล หรือ องค์การสหปัตตานีเสรี หรือ องค์การปลดปล่อยรัฐปัตตานี มี นายกาแม ยูโซ๊ะ หรือ นูร อับดุรเราะห์มาน เป็นประธาน และมี นายลุกมาน บินลิมา หรือ มะ ปอแซ เป็นรองประธาน โดยนายลุกมานเคยร่วมคณะพูดคุยสันติภาพกับคณะพูดคุยของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556 ด้วย
2.กลุ่มพูโล P4 (พีโฟร์) หรือพูโลเก่า หรือ องค์การสหปัตตานีเสรี มี นายซัมซูดิง คาน เป็นหัวหน้า และมีกองกำลังเป็นของตัวเอง ชื่อว่า พีแอลเอ หรือ Patani Liberation Army
3.กลุ่มพูโล MKP หรือองค์การสหปัตตานีเสรี หรือกลุ่มพูโลใหม่ แตกตัวออกมาจากพูโลเก่า มี นายกัสตูรี มะห์โกตา อดีตโฆษกและฝ่ายต่างประเทศพูโลเป็นประธาน
กลุ่มพูโลทั้ง 3 กลุ่มถูกอ้างชื่อว่าเขาร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ในนามของ "มารา ปาตานี" ที่มีขึ้นในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีทางการมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก แต่โดยเนื้อแท้แล้วเชื่อกันว่า กลุ่มพูโล P4 ที่นำโดย ซัมซูดิง คาน ก็ไม่ได้ร่วมในกระบวนการพูดคุย ส่วน นายกาแม ยูโซ๊ะ นั้น ได้รับการยืนยันว่าไม่ได้ร่วมโต๊ะพูดคุย และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ มารา ปาตานี เพราะความขัดแย้งรุนแรงกับกลุ่มพูโลใหม่ แต่ก็ได้ส่งสมาชิกเข้าร่วมในกระบวนการพูดคุยด้วย
ฉะนั้นการเสียชีวิตของ นายกาแม ยูโซ๊ะ ไม่น่าจะกระทบกับแนวทางการพูดคุยระหว่าง "มารา ปาตานี" กับคณะทำงานของรัฐบาลไทยที่กำลังเร่งสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" อำเภอแรกร่วมกัน
มีรายงานว่า นายกัสตูรี มะห์โกตา ประธานพูโล MKP ได้ยอมรับข่าวการเสียชีวิตของ นายกาแม ยูโซ๊ะ ว่าเป็นความจริง และเตรียมจะออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 นายนูร อับดุรเราะห์มาน หรือ กาแม ยูโซ๊ะ ขณะให้สัมภาษณ์สื่อตุรกี
2 เว็บไซต์ที่นำเสนอบทสัมภาษณ์ของประธานพูโล
ขอบคุณ : ภาพ นายนูร อับดุรเราะห์มาน จากสื่อตุรกี
ที่มาของภาพ : http://www.worldbulletin.net/news_detail.php?id=50818
อ่านประกอบ :