สปสช.แจงเยียวยาผู้ป่วยจิตเวชฆ่าตัวตายใน รพ. ไม่ถือเป็นมาตรฐาน-ต้องดูเป็นรายเคส
ประธานบอร์ดควบคุมคุณภาพฯ สปสช.เผยมติจ่ายเงินเยียวยาผู้ป่วยจิตเวชฆ่าตัวตายในโรงพยาบาลตามมาตรา 41 เพราะกรรมการเสียงส่วนใหญ่ใช้ดุลยพินิจว่าเป็นเรื่องสุดวิสัยของระบบ ยันไม่ถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป
นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ป่วยจิตเวชได้ฆ่าตัวตายในโรงพยาบาล และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ มีมติให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิในระบบสาธารณสุขบางรายที่มองว่าเหตุดังกล่าวเกิดจากโรคของผู้ป่วย และการจ่ายเงินเยียวยาครั้งนี้เป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ที่ขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดย นพ.ชาตรีระบุว่า กรณีนี้เป็นประเด็นที่มีความเห็นแตกต่างหลากหลาย แต่โดยกฎหมายแล้วให้เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการฯ และกรรมการเสียงส่วนใหญ่เห็นควรให้จ่ายเงินเยียวยา อย่างไรก็ดี ก็ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี ไม่ได้ถือเป็นมาตรฐานว่าจะต้องจ่ายเงินทุกรายแต่อย่างใด
นพ.ชาตรี กล่าวว่า หลักการของมาตรา 41 เป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นโดยไม่พิสูจน์ถูกผิดและต้องไม่เป็นไปตามพยาธิสภาพ หมายความว่าหากเป็นเหตุที่เกิดจากโรคหรือโดยพยาธิสภาพของผู้ป่วยจะไม่สามารถให้เงินเยียวยาตามกฎหมายได้ เช่น คนไข้เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ได้รับการรักษาด้วยวิธีต่างๆ แล้วแต่ที่สุดก็เสียชีวิตไป แบบนี้ถือเป็นพยาธิสภาพ
“กรณีที่จะจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ต้องเป็นเหตุที่เรียกว่าเหตุสุดวิสัย ไม่ว่าจะเป็นสุดวิสัยจากระบบหรือสุดวิสัยจากการรักษาพยาบาล เช่น ผู้ป่วยแพ้ยาโดยที่ทางผู้ให้การรักษาได้ระมัดระวังเต็มที่แล้วหรือด้วยสาเหตุอื่นๆ ก็ถือเป็นเหตุสุดวิสัย แต่ประเด็นที่ถกเถียงกันมากจะเป็นประเด็นก้ำกึ่งว่าเป็นพยาธิสภาพหรือเป็นเหตุสุดวิสัย เช่น ทำหมันแล้วเกิดตั้งท้องขึ้นมา ตรงนี้ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่” นพ.ชาตรี กล่าว
นพ.ชาตรี กล่าวอีกว่า ในส่วนของกรณีผู้ป่วยจิตเวชฆ่าตัวตายในโรงพยาบาลนั้น หากมองในมุมหนึ่ง ผู้ป่วยก็เจตนาฆ่าตัวตายซึ่งเป็นเหตุที่ผู้ทรงคุณวุฒิบางส่วนเห็นว่าเกิดจากพยาธิสภาพของผู้ป่วยเอง แต่อีกมุมก็อาจมองได้ว่าเมื่อไปอยู่ในโรงพยาบาลแล้วก็น่าจะมีระบบป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยฆ่าตัวตาย แต่ด้วยความที่โรงพยาบาลเองก็มีงานเยอะ บุคลากรไม่เพียงพอที่จะดูแลเป็นรายบุคคลทั้งหมด ก็อาจเกิดเหตุผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตใจอยู่แล้วไปฆ่าตัวตาย ซึ่งนี่ก็เป็นอีกมุมมองว่าเป็นเรื่องของระบบ
“ก็เป็นสิ่งที่ยังไม่สามารถบอกว่านี่คือถูก 100% หรือผิด 100% ความเห็นเรื่องนี้มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นถ้าจะตอบว่าอันไหนถูกอันไหนผิดมันก็พูดยาก ซึ่งตามกฎหมายก็ให้เป็นดุลยพินิจ ทีนี้ดุลยพินิจก็อาศัยดุลยพินิจของกรรมการเสียงข้างมากที่เห็นว่ากรณีนี้น่าจะเป็นเหตุสุดวิสัยของระบบได้ ก็เลยมีผลการพิจารณาออกมาเป็นอย่างนี้ แต่ก็เข้าใจคนที่เห็นต่างทั้งเรื่องการทำหมันและการฆ่าตัวตาย เพราะมันมีเหตุที่สามารถถกเถียงกันได้ ดังนั้นก็คงต้องดูเป็นรายกรณีไป เหตุที่เกิดมันไม่เหมือนกันหมดหรอก มันมีกรณีที่อาจใช้ดุลยพินิจไปในทางหนึ่งทางใดและบางครั้งก็ต้องอาศัยมติเสียงข้างมากของคณะกรรมการ ไม่ใช่ว่าถ้าผู้ป่วยมาฆ่าตัวตายในโรงพยาบาลแล้วต้องจ่ายเยียวยาทุกเคสเป็นมาตรฐาน ถ้าเป็นกรณีที่ได้ดูแลอย่างเต็มที่แล้วและเป็นเหตุที่ผู้ป่วยได้พยายามตั้งใจโดยหลีกเลี่ยงการดูแลที่โรงพยาบาลจัดให้อย่างเต็มที่แล้ว อันนั้นก็อาจมองได้ว่าเป็นเหตุจากพยาธิสภาพ” นพ.ชาตรี กล่าว
ขณะเดียวกัน การพิจารณาให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นก็ไม่ได้หมายความว่าทางผู้ให้บริการเป็นฝ่ายผิด เพราะอย่างที่บอกว่าหลักการของมาตรา 41 ไม่มีพิสูจน์ถูกผิด เพียงแต่ที่ยังมีข้อกังวลเกิดขึ้นเพราะมีมาตรา 42 พ่วงไปด้วยว่ากรณีที่ต้องมีผู้รับผิดชอบ สปสช.อาจจะไปไล่เบี้ยเอาจากผู้ที่ต้องรับผิดชอบก็ได้ แต่ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมายังไม่เคยมีการไล่เบี้ยเกิดขึ้นเพราะในทางปฏิบัติก็ไม่ได้พิสูจน์ถูกผิดอยู่แล้ว การจ่ายเงินเป็นเพียงการเยียวยาเบื้องต้นเท่านั้น