ภาษาไทย มลายู อังกฤษ และจีน กับประชาคมอาเซียน (3)
สารคดีชุด "ภาษาอาเซียน" ตอนที่ 3 กัณหา แสงรายา ยังคงเจาะลึกถึงรากเหง้าและวิวัฒนาการของ "ภาษาไทย" หนึ่งในภาษาอาเซียนที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราให้ความสนใจกันไม่น้อย อีกทั้งไม่ใช่เป็นภาษาที่พูดและใช้กันเฉพาะ "คนไทย" ในประเทศไทยอย่างที่เข้าใจกันเท่านั้น ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์อันน่าตื่นตาตื่นใจนี้หลายคนที่เป็น "เจ้าของภาษา" เอง ก็อาจจะยังไม่เคยทราบ
การแผ่ขยายของ "ภาษาไทยกลาง"
ความเดิมตอนที่แล้ว ทิ้งประเด็นค้างไว้ที่การใช้ "ภาษาไทยถิ่น" ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ เช่น ไทยเหนือ ไทยใต้ ฯลฯ ซึ่งจริงๆ แล้วประเทศไทยมีความหลากหลายมากกว่านั้นอีก เพราะยังมีพวกชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ มากมายที่พูดภาษาของตน เช่น แม้ว เย้า กะเหรี่ยง มลายูถิ่นใต้ ฯลฯ และภาษาไต-ไทสาขาอื่นๆ เช่น ภูไทและแสกอีกนับแสนคน จึงไม่แปลกถ้าจะกล่าวว่า สังคมไทยเมื่อราว 50-60 ปีที่แล้ว ในระดับชาวบ้านแล้วภาษาไทย (กรุงเทพฯ) เป็น "ภาษาที่ 2" ในขณะที่ภาษาอังกฤษเป็น "ภาษาที่ 3" รัฐบาลไทย (ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ) ในยุคนั้นจึงพยายามรณรงค์ให้ส่วนภูมิภาคต่างๆ ใช้ภาษาไทยกลาง ซึ่งเป็นภาษาไทยกรุงเทพฯ แต่เดิม รวมทั้งรับเอาวัฒนธรรมจากส่วนกลางไปปฏิบัติ ซึ่งปรากฏว่าประสบความสำเร็จอย่างดี
ในราวพุทธทศวรรษที่ 2520 รัฐบาลไทยได้เริ่มใช้นโยบายส่งเสริมและสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีการเรียนการสอนภาษาไทยถิ่นต่างๆ เช่น ภาษาไทยถิ่นล้านนา ภาษาไทยถิ่นใต้ ภาษาไทยถิ่นอีสานขึ้นในมหาวิทยาลัยของรัฐ ในขณะเดียวกันภาษาไทยกลางก็นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วทั้งประเทศทั้งในส่วนราชการและเอกชน โดยอาศัยช่องทางทั้งสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ และที่สำคัญต้องนับว่าเป็นความสำเร็จของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาภาคบังคับและการศึกษานอกโรงเรียน ฯลฯ ซึ่งดูได้จากสถิติจำนวนผู้รู้หนังสือ (literate) ในประเทศไทยติดอันดับสูงที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียมาหลายปีแล้ว
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยการอพยพของประชากรรวมอยู่ด้วย เป็นที่ทราบกันว่าข้าราชการและบุคลากรจากส่วนกลางจำนวนมากถูกส่งไปประจำทำงานในส่วนภูมิภาค ทั้งในภาครัฐและเอกชน ส่วนคนต่างจังหวัดก็พากันหลั่งไหลเข้ามาศึกษา ทำงาน และตั้งหลักแหล่งในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นอย่างไม่ขาดสาย ปัจจัยอื่นๆ ซึ่งนับว่าสำคัญยิ่งก็คือบทบาทของสื่อทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ตั้งแต่วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร หนังสือเล่ม การโทรคมนาคมและการคมนาคมขนส่งที่สะดวกสบาย ล้วนเชื่อมต่อส่วนต่างๆ ของประเทศรวมเข้าไว้กับส่วนกลางที่กรุงเทพฯ จนเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้มีผลต่อการกระจายและเผยแพร่ "ภาษาไทยกรุงเทพฯ" ไปทั่วทุกซอกมุมของประเทศไทย
"ภาษาไทยกรุงเทพฯ" ในฐานะ "ภาษาราชการ" จึงกลายเป็น "ภาษากลาง" และ "ภาษามาตรฐาน" (standard language) ของประเทศไทยอย่างสมบูรณ์ในปัจจุบัน
การเปลี่ยนชื่อประเทศ
การเปลี่ยนชื่อประเทศจากประเทศสยามเป็น "ประเทศไทย" เมื่อ 24 มิถุนายน 2482 มีเหตุผลตามที่ปรากฏในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 8 พฤษภาคม 2482 ดังนี้*
"นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม (นายกรัฐมนตรี) : ข้าพเจ้าได้พิจารณาเห็นว่า เมื่อเราได้กำหนดวันที่ ๒๔ มิถุนายน เป็นวันชาติแล้ว ฉะนั้น ควรเปลี่ยนนามประเทศ 'สยาม' เป็นประเทศไทย เพราะประเทศต่างๆ เขาก็ตั้งชื่อประเทศตามเชื้อชาติของเขา เรื่องนี้ข้าพเจ้าได้ปรึกษาหลวงวิจิตรวาทการแล้ว ก็เห็นชอบด้วย…"
"หลวงวิจิตรวาทการ : นายกรัฐมนตรีได้สอบถามข้าพเจ้าว่า คำว่า 'สยาม' มาจากไหน ข้าพเจ้าได้ตรวจพบศิลาจารึกว่า เขมรมาปกครองไทย ๒ แห่ง คือที่ลพบุรี และสุโขทัย สุโขทัยนามเดิมว่าสยาม เช่น เสียมราษฎร์ เคยชุมพลที่นั่น ฝ่ายจีนไม่รู้จะเรียกไทยว่าอย่างไร จึ่งเอาเสียมกับละโว้มารวมกันเป็น 'เสียมหลอก๊ก' ภายหลังลพบุรีหายไป ชื่อจึงเหลือแต่ 'เสียมก๊ก' มาโคโปโลจดจำไปจากจีน ต่อมาขุนอินทราทิตตีเขมรได้ ได้เปลี่ยน 'สยาม' เป็น 'สุโขทัย' ฉะนั้นชื่อของประเทศไทยจึ่งไม่ใช่ 'สยาม' ตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา คำว่า 'สยาม' มาใช้ในรัชชกาลที่ ๔ ฝรั่งเรียก 'Siam' เราจึ่งใช้ว่า 'สยาม] น้ำหนักคำสยามมีน้ำหนักน้อย เมื่อได้ดูมูลเหตุแล้ว ทำให้นึกถึงคำว่า 'ไทย' ในระหว่างที่ข้าพเจ้าไปอินโดจีน ได้ไปถึงที่ๆ คนไทยอยู่ พวกนี้พูดสำเนียงไทยดีกว่าชาวเชียงใหม่ และมีจำนวนประมาณ ๖ แสนคน พวกนี้ก็เข้าใจว่าเขาเป็นไทย"
ความเห็นที่แสดงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีดังกล่าวนี้ยอมรับว่า ในประเทศไทยมีคนเชื้อชาติต่างๆ จำนวนมาก โดยมีคนเชื้อชาติไทยเป็นองค์ประกอบหลัก ดังนั้นชื่อประเทศจึงควรชื่อว่า "ประเทศไทย" จึงจะสอดคล้องกับเชื้อชาติของพลเมืองหลัก ส่วนคำ "สยาม" ไม่ใช่ชื่อไทยแต่ดั้งเดิม เป็นชื่อที่ชนชาติขอมหรือเขมรเรียกแคว้นของตน เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์รบชนะขอมชิงเมืองมาได้ก็จึงเรียกชื่อว่า "สุโขไท" (สุโขไทย) แทนชื่อ "สยาม" แต่เนื่องจากต่างชาติโดยเฉพาะจีนรู้จักชื่อเดิมคือ "สยาม" ซึ่งเป็นชื่อที่ขอมเรียกมาช้านาน จึงยังคงเรียกชื่อ "สยาม" ต่อไปตามสำเนียงจีนว่า "เสียม" ส่วนชาติอื่นๆ ก็คงเรียก เสียม, เสียน, เซียม, ไซแอม (Siam) ตามอย่างที่จีนเรียกต่อไป
ในสมัยรัชกาลที่ 4 สยามได้มีการติดต่อกับชาติต่างๆ มากซึ่งต่างก็เรียกว่า "สยาม" พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดให้เรียกชื่อประเทศว่า "ประเทศสยาม" พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งฉายาพระองค์เองว่า "ศยามินทร์" (เจ้าแห่งศยามหรือสยาม) จนกระทั่งในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "ประเทศไทย" ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
แนวความคิดในการเปลี่ยนชื่อประเทศมาเป็นประเทศไทยเริ่มต้นจากการที่หลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากรขณะนั้นได้รับเชิญให้ไปเยือนฮานอยตามคำเชิญของ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดย์ ผู้อำนวยการ "สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ" ผู้ซื่งเป็นปราชญ์คนสำคัญด้านบุรพคดีซึ่งจัดขึ้นที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนามของฝรั่งเศส (เวลานั้น)
จากการไปประชุมครั้งนั้น หลวงวิจิตรฯ ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับคนชนชาติไทยซึ่งพูดภาษาไท(ย)จำนวนมากซึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่ในบริเวณภาคใต้ของจีนตั้งแต่ฝั่งทะเลตะวันออกเฉียงใต้ไปจนจรดภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน คือตั้งแต่เกาะไหหลำ มณฑลกวางสี ไปจนจรดมณฑลยูนนาน แม้ว่าชนชาติเหล่านั้นหลายกลุ่มเรียกชื่อชนชาติและภาษาของตนเองไปต่างๆ นานาตามแต่ภูมิหลังและท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ แต่รวมความแล้วพวกเขาถือว่าเป็นคนไตหรือคนไท ซึ่งพูดภาษาไตหรือไท (Tai-Dai languages) คือใช้ภาษาซึ่งสามารถสื่อสารกับคนไทยในประเทศไทยได้ไม่ยากเลย และในทางภาษาศาสตร์จัดว่าเป็นภาษาในตระกูลไต-ไทเช่นเดียวกัน อีกทั้งมีจำนวนพลเมืองในเวลานั้น (พ.ศ.2482) ไม่ใช่น้อย โดยประมาณมีดังนี้
คนไทยในประเทศไทย 13,000,000 คน
มณฑลกวางสี (จีน) 8,000,000 คน
กุยจิ๋ว (กุ้ยโจว) 4,000,000 คน
มณฑลยูนนาน 6,000,000 คน
มณฑลกวางตุ้ง 700,000 คน
มณฑลเสฉวน 500,000 คน
เกาะไหหลำ 300,000 คน
ในอารักขาของฝรั่งเศส (ไม่นับเขมร) 2,000,000 คน
ในปกครองของอังกฤษ 2,000,000 คน
รวม 36,500,000 คน
มีพื้นที่โดยประมาณ: เฉพาะประเทศไทยมีพื้นที่ 514,000 ตารางกิโลเมตร ถ้านับพื้นที่ที่มีคนพูดภาษาในตระกูลไต-ไททั้งสิ้นคงได้ประมาณ 9,000,000 ตารางกิโลเมตร หรือเท่ากับประเทศสหรัฐอเมริกา (ข้อมูลไม่ยืนยัน)
ตามความเชื่อของผู้นำประเทศเวลานั้น คนชนชาติไทยก็คือคนที่พูดภาษาไทย (โดยกำเนิด) หรือมีพ่อแม่ที่พูดภาษาไทยโดยกำเนิด ซึ่งทำให้รู้สึกหรือน่าเชื่อว่า น่าจะเป็น "คนไทยแท้" ได้สนิทใจยิ่งขึ้น
คนไทก็มีรัฐไทนอกประเทศไทย
บางทีเราอาจจะตื่นเต้นทีเดียวเมื่อทราบว่า มีคนชนชาติไตหรือไทอีกนับสิบๆ ล้านคนซึ่งทุกคนพูดภาษาไทได้คล่องแคล่ว (ด้วยสำเนียงและศัพท์แสงที่แปลกไปบ้าง) และหลายกลุ่มมีภาษาเขียนของตัวเอง (เช่น ภาษาเขียนไทไต้คง ภาษาเขียนไทดำ ฯลฯ) ทั้งๆ ที่ไม่เคยอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาก่อน แต่ได้อาศัยอยู่ในดินแดนที่ปัจจุบันเป็นประเทศเพื่อนบ้านของเราหลายประเทศ คนชนชาติไต (ไท) เหล่านั้นตั้งรกรากหรืออาศัยอยู่ที่นั่นมาแต่ดั้งเดิมแล้ว หรือถ้าอพยพมาจากถิ่นอื่นก็ไม่ใช่เมื่อเร็วๆ นี้ หากอพยพไปอาศัยอยู่ที่นั่นนับหลายร้อยหรือพันปีขึ้นไป แต่ก็ยังเรียกตัวเองว่า "คนไท" หรือหากเรียกในชื่ออื่น ก็ยังเชื่อว่าเป็นชาติเชื้อไทเดียวกัน จากการศึกษาประวัติความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณีและภาษาล้วนมีรากเหง้าเดียวกันทั้งสิ้น
คงจะเป็นการดีไม่น้อย หากจะลองย้อนรำลึกถึงความเป็นมาของชนชาติไทยและภาษาไทให้ลึกกว่านี้ นักภาษาศาสตร์ได้แก่ ศาสตราจารย์วิลเลียม เจ.เก็ดนีย์ (William J. Gedney) ซึ่งศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ได้อาศัยทฤษฎีทางภาษาศาสตร์ที่ว่า "ภาษาเกิด ณ ที่ใด จะมีภาษาถิ่นย่อยของภาษานั้นเกิดขึ้นจำนวนมากในบริเวณเดียวกัน" เขาจึงสรุปว่า ถิ่นกำเนิดของภาษาไทน่าจะอยู่แถวเส้นเขตแดนระหว่างมณฑลกวางสีของจีนและเดียนเบียนฟู (เมืองแถงหรือแถน) ของเวียดนาม โดยท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในท้องที่ห่างกันเพียงสิบหรือยี่สิบกิโลเมตรก็มีภาษาถิ่นต่างๆ แตกต่างกันมากมาย ทางตะวันออกของแม่น้ำแดง (เวียดนามภาคเหนือ) ชาวบ้านพูดภาษาไทแตกต่างจากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง และให้เหตุผลว่า ภาษาไทในพม่า ไทย ลาว และเวียดนามเหนือเกี่ยวพันใกล้ชิดกับกลุ่มภาษาไตเหนอ (ไทเหนือ) ซึ่งประกอบด้วยภาษาถิ่นวูหมิง โพอาย และย้อยซึ่งใช้พูดกันอยู่ทางตะวันออกของจีน คือ มณฑลกวางสี มณฑลไกวเจา และภาคสุดทางทิศตะวันออกของมณฑลยูนนาน
ส่วน ศาสตราจารย์แชมเบอร์แลนด์ (James R. A. Chamberland) ได้กล่าวสรุปว่า พวกไตเริ่มอพยพจากเมืองหลวงโบราณ ณ เมืองปาถึก (Ba Thuk) ในนครเกาบัง (Cao Bang) ของเวียดนามเหนือ ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 (พ.ศ.1243-1342) ไปทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ และในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11-13 (พ.ศ.1543-1842) ได้เข้ามาอยู่ ณ ภูมิลำเนาปัจจุบันในอุษาคเนย์…จากเมืองหลวงโบราณ ด้วยสาเหตุทางการเมืองและการทหาร แชมเบอร์แลนด์ยังได้อ้างถึงบทความของศาสตราจารย์เก็ดนีย์ที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ว่า ภาษาไทดั้งเดิม (Proto-Thai) ซึ่งแตกแขนงเป็นภาษาถิ่นต่างๆ นั้นประมาณได้ว่ามีอายุไม่เกินสองพันปี
เมื่อไม่กี่ปีมานี้เรายังเห็นพวกชนชาติไต (ไท) เหล่านั้นซึ่งยังไม่ได้อพยพไปไหนยังคงเกาะกลุ่มร่วมกันเป็นสังคมใหญ่ รักษาและปกป้องตนเองในลักษณะสังคมการเมืองและสังคมวัฒนธรรมของตน เช่น ชนชาติไต (ไท) ที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ใน "เขตปกครองตนเองจ้วง-กวางสี" (The Quangxi-Zhuang Autonomous Region) และโดยเฉพาะใน "เขตปกครองตนเองชนชาติไตและจิ่งโปแห่งเต้อหง" (Dehong Dai and Jingpo Nationality Autonomous Region) ซึ่งแต่เดิมเป็น "แคว้นสิบสองปันนา" ของชนชาติไตลื้อและอื่นๆ มีเมืองเชียงรุ้งเป็นเมืองหลวง มีความใกล้ชิดกับแคว้นล้านนาซึ่งมีเชียงใหม่เป็นเมืองหลวงมานานนับพันปี ปัจจุบันอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างมีความสุข
ทางด้านภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนามก็มีพวกชนชาติไทอาศัยอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า "แคว้นสิบสองจุไท" ซึ่งนับตั้งแต่อดีตได้ก่อตั้งเขตปกครองในลักษณะรัฐเจ้าฟ้าหรือนครรัฐซึ่งเป็นอิสระแก่กัน โดยมีเมืองหลวงขึ้นอยู่กับรัฐเจ้าฟ้าที่เป็นใหญ่ในแต่ละยุคสมัย ไทยรัตนโกสินทร์เคยพยายามจะผนวกรัฐเจ้าฟ้าเหล่านี้เข้ามาไว้ในราชอาณาจักร ต่อมาเวียดนามสามารถรวบรวมรัฐเจ้าฟ้าเหล่านี้รวมกับพวกชนชาติแม้วตั้งเป็น "เขตปกครองตนเองไท-แม้ว" (Khu Tu Tri Thai-Mèo) และต่อมาได้รวมกับชนชาติส่วนน้อยอื่นๆ ตั้งเป็น "เขตปกครองตนเองภาคตะวันตกเฉียงเหนือ" ซึ่งเพิ่งเลิกไปตั้งแต่เวียดนาม (เหนือ) สามารถยึดกรุงไซ่ง่อนเมืองหลวงของเวียดนามใต้ได้สำเร็จเมื่อ พ.ศ.2518 โดยเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้ได้รวมดินแดนกัน ตั้งเป็นประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (The Socialist Republic of Vietnam) เขตปกครองตนเองของชนชาติส่วนน้อยจึงถูกยกเลิกไป แต่ก็ยังแต่งตั้งคนไทเป็นหัวหน้าคณะกรรมการประจำจังหวัด มีตำแหน่งเรียกเป็นทางการว่า Bí Thù Tinh Uy Dàng Công Viêt Nam
------------------------------(โปรดอ่านต่อตอนจบ)-------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บริเวณที่ตั้งเมืองไท-ไตต่างๆ ในแคว้นสิบสองจุไท (เวียดนามตอนเหนือ)
http://www.thummada.com/cgi-bin/iB315/ikonboard.pl?act=ST;f=13;t=2152;&#top
2 จอมพล ป. พิบูลสงคราม
3 เขตปกครองพิเศษกวางสี-จ้วง (Guangxi Zhuang Autonomous State) ของคนเชื้อสายไต-ไท พูดภาษาไท-จ้วง ซึ่ง 90% ของคนเชื้อสายไต-ไทในสาธารณรัฐประชาชนจีน อาศัยอยู่ในเขตปกครองพิเศษนี้