มติ ครม.สั่งโยกงบไทยเข้มแข็ง ช่วยชาวบ้านน้ำท่วม
นายกฯคอนเฟอเร้นท์อุบล-นคร สถานการณ์น้ำท่วมยังหนัก สั่งผู้ว่าฯติดตามใกล้ชิด มติ ครม.ทบทวนโครงการไทยเข้มแข็งช่วยน้ำท่วมก่อน หลังมติ ครม.ศก.สั่งจ่ายครัวละ 5,000 ชดเชยร้อยละ 55 ของต้นทุนการผลิต มท.งดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ ระดม 8 สถาบันการเงินยืดชำระหนี้-ให้กู้ดอกเบี้ยผ่อนปรน
วันที่ 2 พ.ย. ที่อาคารรัฐสภา ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประชุมผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเร้นท์ไปยัง จ.อุบลราชธานีและนครศรีธรรมราช สอบถามสถานการณ์น้ำท่วม โดยผู้ว่าราชการจังหวัด(ผวจ.)อุบลราชธานี รายงานว่าได้เตือนภัยและฝึกซ้อมการอพยพคน ซึ่งแต่ละอำเภอได้ประสานกับตำบลและหมู่บ้านในการให้ความช่วยเหลือคนไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัย
ส่วน ผวจ.นครศรีธรรมราช รายงานว่า สถานการณ์พายุดีเปรสชั่นทำให้เกิดฝนตกหนัก ได้เตรียมรับมือและอพยพคนที่อยู่บริเวณชายฝั่งทั้งหมด 6 อำเภอคือ ขนอม สิชล ท่าศาลา เมือง ปากพนัง และหัวไทร โดยพื้นที่น่าเป็นห่วงคือแหลมตะลุมพุก ได้อพยพคนมาอยู่ที่ที่ว่าการอำเภอกว่า 400 คนแล้ว และจากการสำรวจผลกระทบขณะนี้เป็นลักษณะของน้ำท่วมขัง 12 อำเภอ ซึ่งจังหวัดได้เร่งให้การช่วยเหลือในด้านต่างๆ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดอีก 1-2 วันเป็นอย่างน้อย และหากคลี่คลายแล้วอยากให้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ไปช่วยพื้นที่สงขลา ซึ่งกำลังประสบปัญหาหนัก บ้านเรือนและเส้นทางคมนาคมเสียหาย ระดับน้ำสูงโดยเฉพาะที่ อ.หาดใหญ่ อย่างไรก็ตามในการประสานช่วยเหลือเบื้องต้นได้ส่งเครื่องบินซี 130 ขนเรือ ถุงยังชีพ และอุปกรณ์ช่วยเหลือ ไปเร่งช่วยเหลือเป็นระยะๆ
หลังการประชุม ครม. นายอภิสิทธิ์ แถลงถึงแนวการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเพิ่มเติมว่า ครม.ให้แต่ละหน่วยงานทบทวนโครงการที่ได้รับอนุมัติตามกรอบโครงการไทยเข้มแข็งในวงเงินที่ยังมีอยู่โดยให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการปรับโครงการซึ่งจะมีส่วนในการช่วยเหลือและฟื้นฟูพื้นที่ซึ่งประสบอุทกภัยมาใช้ก่อน และมอบให้สำนักงบประมาณไปดูเงินเหลือจ่ายปี 2552 และ 2553 ว่าจะสามารถปรับแผนเข้ามาใช้ในโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้หรือไม่ เนื่องจากงบประมาณตามมาตรการต่างๆ ที่ได้อนุมัติไปขณะนี้จะมีจำนวนค่อนข้างมากซึ่งจะกระทบกับสถานะของงบกลางที่ใช้จ่ายในการสำรองฉุกเฉิน
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า เฉพาะมาตรการช่วยเหลือประชาชน 5,000 บาทต่อครัวเรือนกับมาตรการชดเชยภาคเกษตรจะใช้งบประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งงบกลางทั้งปีมีอยู่แค่ 47,000 ล้านบาท ทั้งนี้ในแต่ละปีจะมีงบสำรองเพียง 40,000-50,000 ล้านบาท และไม่เคยมีว่าผ่านไปเพียง 1-2 เดือนงบหายไปเกือบครึ่งแล้ว จึงต้องปรับแผนงบประมาณให้มากที่สุด เพราะความเสียหายมากกว่าที่ได้อนุมัติงบประมาณไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ครม.เศรษฐกิจได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ให้ช่วยเหลือค่าเสียหายด้านที่พักอาศัยและทรัพย์สินที่ประสบอุทกภัย กรณีบ้านเสียหายทั้งหลังชดเชย 30,000 บาท กรณีเสียหายบางส่วนจ่ายตามจริงไม่เกิน 20,000 บาท หากต้องสร้างให้ทั้งหลังจ่าย 100,000 บาท ส่วนมาตรการจ่ายเงินชดเชย 5,000 บาทต่อครัวเรือน ธนาคารออมสินได้รับมอบหมายให้เป็นผู้โอนเงิน หลังจากได้รับข้อมูลรายชื่อผู้เข้าข่ายรับมอบเงินจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละจังหวัดภายใน 1 สัปดาห์ โดยประชาชนที่มีบัญชีออมสินอยู่แล้วจะจ่ายผ่านบัญชีทันที แต่หากไม่มีจะจ่ายเป็นเงินสด ทั้งนี้ ยอดผู้ประสบภัยที่เข้าข่ายได้รับชดเชย ณ วันที่ 31 ต.ค. มีทั้งสิ้น 6.3 แสนครัวเรือน
ที่ประชุมยังเห็นชอบเงินช่วยเหลือสถานศึกษาประสบอุทกภัย ทั้งกรณีที่เป็นค่าแบบเรียน อุปกรณ์การเรียนรวม 136 ล้านบาท โดยให้กระทรวงศึกษาธิการประสานกับสำนักงบประมาณเพื่อดูในรายละเอียดต่อไป สำหรับแนวทางการฟื้นฟูให้แต่ละจังหวัดประเมินความเสียหายและความต้องการ รวมไปถึงแผนบูรณะจะต้องเสนอเข้ามาที่ คอช.พิจารณาภายวันที่ 3 พ.ย. และจะเริ่มกระบวนการฟื้นฟูเต็มที่ที่ จ.นครราชสีมาเป็นอันดับแรก ภายใต้โครงการบิ๊กคลีนนิ่งเดย์วันที่ 5 พ.ย.
ส่วนมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรและประชาชนทั่วไปหลังน้ำลด เตรียมจ่ายชดเชยร้อยละ 55 ของต้นทุนการผลิตเป็น 2 กรณี คือกรณีพืชเสียหาย เช่น ข้าว จะได้รับเงินชดเชย 2,098 บาทต่อไร่ พืชไร่ 2,921 บาทต่อไร่ พืชสวน 4,908 บาทต่อไร่ กรณีด้านประมงและปศุสัตว์ ช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินปี 2552 เช่น ด้านการประมง ปลาจะได้เงินชดเชย 3,406 บาทต่อไร่ รายละไม่เกิน 5 ไร่ กุ้ง หอย ปูและหอย 9,098 บาทต่อไร่ รายละไม่เกิน 5 ไร่ ส่วนวัวควายชดเชยตามเกณฑ์เดิมคือวัวตาย 10 ตัวจะได้เงินช่วยเหลือ 2 ตัว ส่วนอีก 8 ตัวจ่ายให้ครึ่งหนึ่ง โดยขณะนี้พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 8,840,000 ไร่ ซึ่งรัฐบาลเตรียมจ่ายเงินให้เกษตรกรภายใน 3 เดือน
ส่วนของมาตรการภาษี กระทรวงมหาดไทย สั่งยกเว้นหรือลดภาษีบำรุงท้องที่ปี 2553 ที่กำหนดชำระในเดือน เม.ย. 54 ให้แก่ผู้ประสบภัยโดยมีหลักเกณฑ์คือเสียหายเกินกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนที่ดินที่ใช้เพาะปลูก ยกเว้นภาษีให้ทั้งหมด เสียหายเกินกว่า 1 ใน 3 แต่ไม่เกิน 2 ใน 3 ของจำนวนที่ดินที่ใช้เพาะปลูก จะลดภาษีตามส่วนที่เสียหาย โดยขอให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านสำรวจพื้นที่เพาะปลูกในตำบล หมู่บ้านว่ามีความเสียหายหรือไม่ และประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านทราบ
ส่วนมาตรการช่วยเหลือทางการเงินผ่าน 8 สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้าแห่งประเทศไทย, บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม, บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จะยืดระยะเวลาชำระหนี้ตลอดจนให้วงเงินกู้อัตราพิเศษในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน.