พลิกหนังสือ จดหมายเหตุชาวบ้าน ข่าวสมเด็จย่าสวรรคต...เล่มที่ลูกสาวทำให้แม่
“สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ระบุในข้อสังเกตไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วยว่า ด้วยสมเด็จย่า เป็นแม่ของกษัตริย์ถึง 2 พระองค์ ดังนั้นสื่อต้องการนำเสนอบทบาทนี้ จึงต้องมีภาพที่พระมหากษัตริย์ร่วมอยู่ด้วยเสมอ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ท่านเป็นนักเขียน”
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สวรรคตเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2537 เวลา 21.17 น. วันรุ่งขึ้นและวันต่อๆไป หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวการสวรรคตและพระประวัติอย่างละเอียด นักหนังสือพิมพ์ได้แสดงความเคารพและอาลัยของตนเองและของประชาชนอย่างจริงใจ ข่าวฆาตกรรมและเหตุร้ายอื่น ๆ หายไปจากหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ไทยอยู่นาน ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจและประสงค์จะเก็บหนังสือพิมพ์เหล่านี้ไว้เป็นที่ระลึก
อุปสรรคคือ กระดาษหนังสือพิมพ์เหลืองเร็ว ขาดง่าย และอ่านยาก เพราะขนาดใหญ่และเรื่องต่อๆ กันหลายหน้า ต้องพลิกค้นหาด้วยความยากลำบากกว่าจะจบ ข้าพเจ้าจึงเอามาถ่ายสำเนาไว้และตัดต่อเป็นเรื่องๆ ปิดลงบนแผ่นกระดาษ
เมื่อสองสามวันผ่านไป ข้าพเจ้ามีความคิดว่า น่าจะจัดให้เรียบร้อยและพิมพ์เป็นหนังสืออาจมีผู้ที่ได้อ่านหนังสือเหล่านี้แล้ว แต่ไม่สามารถเก็บไว้ด้วยเหตุผลต่างๆ หรืออยากอ่านอีกครั้งอย่างครบถ้วนเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศได้ร่วมทุกข์กันเป็นใจเดียวกัน ข้าพเจ้าจึงปรึกษาผู้ที่เคยทำหนังสือด้วยกันมาหลายครั้ง และโรงพิมพ์เพื่อทราบว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ เมื่อปรึกษาออกความเห็นน่าจะทำ ข้าพเจ้าก็เริ่มจัดรูปเล่ม
หนังสือที่ใช้ก็คือหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับที่รับอยู่เป็นประจำ 3 ฉบับเป็นภาษาไทย อีก 2 ฉบับเป็นภาษาอังกฤษ 3-4 สัปดาห์ ต่อมามีผู้นำหนังสือพิมพ์ “มติชน” มาให้ ข้าพเจ้าเห็นว่า รูปถ่ายและการวางบทความส่วนหนึ่งน่าดูข้าพเจ้าจึงเลือกมาลงในบทที่ 1 และที่2 และได้ใช้ภาพสำหรับปกด้วย บริษัทและองค์กรต่างๆ ได้แสดงการไว้อาลัยเป็นจำนวนมากได้เลือกมาเพียงจำนวนน้อย เฉพาะที่ประทับใจ เลขที่ของบทนั้นนับไปตั้งแต่หลังวันสวรรคตหนึ่งวัน เช่น วันที่ 19 กรกฎาคม 2539 คือบทที่ 1 สำหรับหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับที่รับประจำข้าพเจ้าได้พิมพ์ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ ถึงแม้ว่าเรื่องจะซ้ำกันบ้าง แต่ก็เพราะอยากให้ผู้อ่านสามารถเปรียบเทียบหนังสือพิมพ์ด้วยกันเอง
ทั้งภาพและบทความได้ใช้ตัวหนังสือพิมพ์เป็นต้นฉบับ มิได้ขอรูปจริงมา หรือพิมพ์ใหม่ อยากให้มีความรู้สึกว่าเป็นหนังสือพิมพ์จริงๆ ดังนั้นบางรูปอาจไม่ชัดนัก สีก็เป็นไปตามสีของต้นฉบับ ตัวสะกดอาจมีผิด และการแยกอักษรในปลายและต้นบรรทัดอาจแปลกๆ หน่อย ข้อความก็อาจมีผิดพลาดไปบ้าง ส่วนมากจะไม่ได้แก้ แต่บางครั้งก็ได้เขียนข้อสังเกต เมื่อเห็นว่า ผิดมาก ในขั้นแรกคิดว่าจะทำจนถึง 50 วัน หรือ 100 วัน แต่เมื่อได้จัดหน้าตามขนาดหนังสือแล้ว 16 วัน ก็เกือบ 600 หน้าแล้ว จึงต้องหยุดแค่นั้น ภาพและเรื่องที่น่าสนใจยังมีเหลืออีกจำนวนมาก ซึ่งคงจะต้องใช้ทำหนังสืออีกแบบหนึ่ง
นิตยสารและหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับได้ลอกหนังสือ “แม่เล่าให้ฟัง” ของข้าพเจ้ามากกว่า 3 บรรทัดเพื่อเป็นอัญญพจน์ โดยมิได้ขออนุญาต ข้าพเจ้าไม่อยากทำเช่นเดียวกัน จึงโทรศัพท์ไปถามหนังสือพิมพ์ต่างๆ ว่าจะต้องขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ ได้รับคำตอบว่า ไม่ต้องและยินดี เว้น The Nation ซึ่งขอให้เอ่ยที่มาเมื่อใช้รูปภาพของเขา ข้าพเจ้ามิได้เขียนให้เป็นพิเศษแต่ทุกครั้งที่มีภาพของหนังสือพิมพ์นี้ ข้าพเจ้าได้ทิ้งชื่อของหนังสือพิมพ์หรือของผู้ถ่ายไว้บนขอบของภาพ
โดยที่หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือสำหรับชาวบ้าน ข้าพเจ้าตั้งใจที่จะมอบให้ห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศ และให้ทุกตำบลมีสถานที่อ่านหนังสือ
กัลยาณิวัฒนา
มกราคม 2539
ข้างต้น คือคำนำ จดหมายเหตุชาวบ้าน ข่าวสมเด็จย่าสวรรคต จากหนังสือพิมพ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรวบรวม และจัดพิมพ์ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี วันที่ 10 มีนาคม 2539 ความหนากว่า 600 หน้า
ดร.ประภัสสร จันทร์สถิตย์พร อาจารย์ประจำภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะผู้ศึกษาสาระสำคัญของพระนิพนธ์เล่มนี้ 16 วัน 16 บท กับข่าวการสวรรคตของสมเด็จย่าผ่านหนังสือพิมพ์จากสามัญชนสู่พระราชมารดานั้น แบ่งช่วงเวลาได้ 3 ช่วง
ช่วงที่ 1
บทที่ 1-5 วันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2538 ถึงวันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม 2538 ช่วงต้นหลังจากสิ้นพระชนม์เพียง 1 วัน ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ (เดลินิวส์ ไทยรัฐ สยามรัฐ Bangkok Post The Nation และมติชน ) ที่ปรากฏในหนังสือ
การนำเสนอข่าวการสิ้นพระชนม์ เป็นข่าวหลักเหมือนกันทั้งหมด บริบทช่วงนี้คือการถือเอาประกาศสำนักพระราชวังเป็นหัวเรื่องสำคัญในการนำเสนอข่าวการสิ้นพระชนม์ ซึ่งสะท้อนการเคารพและยึดถือพระราชประเพณีปฏิบัติ เกี่ยวกับการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์
การปฏิบัติพิธีการที่ประชาชนสามารถเข้าร่วมได้ขณะนั้นคือ การเข้าถวายน้ำสรงพระบรมศพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ในกรณีนี้จะเห็นบริบทราชประเพณีที่มีข้อจำกัด แต่ก็เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ส่วนระยะสองถึงสามวันถัดมา ก็จะเป็นบทของภาพรวมกิจกรรมต่างๆ ที่ประชาชนในส่วนภูมิภาคได้กระทำ เพื่อเป็นการถวายสักการะ เช่นการประกาศลดธงครึ่งเสา ประกาศการแต่งกายไว้ทุกข์ งดงานรื่นเริง เป็นต้น
ช่วงที่ 2
บทที่ 6-10 วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม 2538-วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม 2538 เป็นช่วงเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ของการสิ้นพระชนม์
การประกอบพระพิธีธรรม บำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน 7 วัน และมีการเปิดให้เข้ากราบพระบรมศพในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายหลังพ้นเจ็ดวันไปแล้ว มีการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับพระราชพิธีสำคัญๆ ที่จะตามมา การตระเตรียมงาน องค์ประกอบของเครื่องประกอบพระราชพิธีต่างๆ นี้จะเริ่มมีการถวายสักการะจากหน่วยงานบริหารบ้านเมือง หน่วยงานราชการสำคัญๆ บุคคลสำคัญจากต่างประเทศ ชนชั้นนำ ภาคธุรกิจ และผู้มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ
ช่วงที่ 3
บทที่ 11-16 วันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม 2538-วันที่ 3 สิงหาคม 2538 เป็นห้วงเวลาของการนำเสนอภาพชนชายขอบ หรือคนในส่วนภูมิภาค กลุ่มชนเผ่า ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสเดินทางเข้าถวายสักการะ รายงานจำนวนพสกนิกร ประชาชนที่หลั่งไหลมาสักการะพระบรมศพ การเดินทางที่ยากลำบาก สภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว แต่ไม่เป็นอุปสรรค การบริหารจัดการขั้นตอนต่างๆ เกี่ยวกับการสักการะ และเริ่มรายงานข้อมูลเกี่ยวกับพระราชพิธี พระพิธีจะดำเนินการต่อไป
ประเด็นที่ปรากฎในหนังสือ "จดหมายเหตุชาวบ้าน ข่าวสมเด็จย่าสวรรคตจากหนังสือพิมพ์" เป็นชุดข้อมูลด้านต่างๆ ดังนี้
1.สาเหตุของการสิ้นพระชนม์ คือ ข้อมูลที่เกี่ยวกับการแจ้งถึงพระอาการประชวรตั้งแต่แรกเริ่ม ในอดีต ลำดับการพระอาการ และพระอาการสุดท้ายที่นำมาซึ่งการสิ้นพระชนม์
2.ความโศกเศร้าและความสูญเสีย คือ ข้อมูลเกี่ยวข้องกับความรู้สึก อารมณ์ของกลุ่มคนต่างๆ ที่มีต่อการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จย่า
3.พระราชประวัติ คือ ข้อมูลที่เกี่ยวกับพระประวัติของสมเด็จย่า ตั้งแต่ต้นจนถึงปลายของชีวิต รวมทั้งการเล่าถึงการเปลี่ยนผ่านจากสามัญชนสู่พระบรมวงศานุวงศ์
4.พระราชกรณียกิจ คือ ข้อมูลที่แสดงถึงพระกรณียกิจ ผลงาน งานอดิเรก สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระกรณียกิจ บุคคลที่ถวายงานสมเด็จย่า
6.พระราชพิธี คือ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธี พระพิธี ที่จะเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้น สืบเนื่องจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จย่า
สรุปได้ว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในฐานะผู้เล่าเรื่อง มีจุดมุ่งหมายในการผลิตสารเพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงความประทับใจที่มีต่อเหตุการณ์ ส่วนหนึ่งในฐานะพระธิดา พร้อมกันนี้ดร.ประภัสสร ตั้งข้อสังเกตให้เห็นช่วงที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวการสวรรคตของสมเด็จย่าฯ เราจะพบว่า ภาพที่ถูกนำมาใช้ จะมีภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 พระพี่นางฯ และสมเด็จย่า ร่วมอยู่เสมอ ภาพเดี่ยวๆ ของสมเด็จย่า จะไม่พบช่วงเยาว์วัย แต่จะพบช่วงสูงวัยโดยเป็นภาพพระราชกรณียกิจ เยี่ยมพสกนิกร
“สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ระบุในข้อสังเกตไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วยว่า ด้วยสมเด็จย่า เป็นแม่ของกษัตริย์ถึง 2 พระองค์ ดังนั้นสื่อต้องการนำเสนอบทบาทนี้ จึงต้องมีภาพที่พระมหากษัตริย์ร่วมอยู่ด้วยเสมอ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ท่านเป็นนักเขียน”
ขณะที่ในมุมมองนักประวัติศาสตร์อย่าง รศ.ดร.สุเนตร ชุติธรานนท์ ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จุฬาฯ ระบุถึงความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ว่า ไม่ได้เพียงแต่นำข่าวมานำเสนอเท่านั้น แต่ได้มีการทำสิ่งหนึ่ง เรียกว่า ชำระ ผ่านกระบวนการคัดเลือกข่าว การปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาด มีการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในภาคคำนำ
“เราเห็นข้อเด่น ลูกสาวทำให้แม่ ฉะนั้นข้อเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือข้อมูลเชิงลึก ที่คนนอกหลายๆ คนจะเข้าไม่ถึงคนที่เป็นคนใน เป็นส่วนหนึ่งของสมเด็จย่าที่สามารถดึงข้อมูลเบื้องลึกนำเสนอได้ หากอนาคตคนรุ่นใหม่อยากศึกษาพระราชประวัติสมเด็จย่า หนังสือเล่มนี้ที่ต้องใช้ ต้องศึกษา ค้นคว้า ขาดไม่ได้เลย”
ดังคำส่งท้าย ตอนหนึ่ง
"การผิดพลาดอีกแบบหนึ่งคือการที่นักหนังสือพิมพ์ หรือคนทั่วไปเว้นพระญาติสนิท แพทย์ พยาบาลไม่สามารถเข้าไปในส่วนที่เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ ในกรณีนี้นักหนังสือพิมพ์ต้องอาศัยประสบการณ์ จินตนาการ หรือมีตาทิพย์ เมื่อเขียนถึงผู้ที่เฝ้าสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ อยู่ในห้องบรรทม แต่ก็ต้องชมว่า เขียนอย่างถูกต้องตามราชประเพณีที่สุด มีบางครั้งเวลาคอยอยู่ที่ชั้นล่างของตึกที่โรงพยาบาลที่อาศัยตาของตัวเองจริงๆ แต่ก็เข้าใจผิด เช่น นานๆ ทีเห็นข้าพเจ้ามาถึงโรงพยาบาล ก็เขียนว่า ข้าพเจ้ามาเฝ้าเยี่ยม ซึ่งอันที่จริงข้าพเจ้าและลูกสาวค้างอยู่ที่โรงพยาบาลทุกครั้งที่เสด็จเข้า เพียงแต่ต้องออกไปปฏิบัติภารกิจที่คงมีอยู่เสมอ"
รศ.ดร.สุเนตร ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า หนังสือเล่มนี้พิเศษกว่าหนังสือเล่มอื่นๆ เพราะมีอินไซด์ที่ส่วนอื่นแทบเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะพระราชพิธี เป็นข้อมูลสำคัญมากๆ สำหรับงานพระศพ
“ผู้วิจัยสามารถจำแนกแจกแจงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กระบวนการนำเสนอข่าวว่าด้วยการสูญเสียเจ้านายคนสำคัญ เขามีขนบประมาณไหน เช่น การนำเสนอข่าวต้องตามข่าวจากสำนักพระราชวังก่อน นี่คือสิ่งที่สื่อไม่สามารถบิดซ้ายบิดขวาไปได้ และยังทำให้เราเห็นว่า ที่ผ่านมาสื่อแทบไม่มีความรู้หรือประวัติของสมเด็จย่าเลย ทั้งๆที่ท่านทรงงานไว้มากมาย จึงต้องก๊อปปี้งานของพระพี่นางแทบทั้งนั้น จากหนังสือแม่เล่าให้ฟัง” รศ.ดร.สุเนตร ให้ทัศนะ และตั้งคำถามทิ้งท้าย ในด้านการข่าวของสื่อมวลชนไทย ไม่ได้มีการจัดระบบข้อมูลว่าด้วยบุคคลสำคัญเท่าที่ควร ใช่หรือไม่ จึงทำให้พระพี่นางฯ ใส่ไว้ในคำนำของหนังสือเล่มนี้
ถัดจากนั้นอีก 1 ปี คือปี 2540 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ นิพนธ์ หนังสือภาคต่อจากเล่มแรก ชื่อ "ส่งเสด็จสมเด็จย่า ประมวลเรื่องจากหนังสือพิมพ์" ประกอบด้วยเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระองค์ พระดำริ พระภารกิจ โครงการที่ผู้อื่น หรือองค์กรต่างๆ ได้ตั้งขึ้น หรือทำขึ้นเพื่อสนองพระปณิธาน และยังได้รวบรวมเหตุการณ์ที่ประชาชนธรรมดาๆ ได้เห็นด้วยตนเองเป็นจำนวนแสน หรือได้ชมทางโทรทัศน์ หรืออ่านในหนังสือพิมพ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้รวบรวมภาพพระราชพิธีตั้งแต่การเตรียมการต่างๆ ตลอดจนถึงนิทรรศการภายในสนามหลวง หลังพระราชพิธี และการรื้อพระเมรุุมาศตามที่นักหนังสือพิมพ์ได้เห็นและสังเกต โดยมีการเรียงภาพถูกต้องตามลำดับเหตุการณ์..