รัฐตั้งเป้าซื้อ "โดรน" กว่าร้อยลำ? คนชายแดนใต้ทั้งหนุนทั้งค้าน
คำสัมภาษณ์ของ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ระหว่างร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2561 เมื่อวันที่ 18 ต.ค.60 สร้างกระแสฮือฮาในวงการยุทโธปกรณ์ได้ไม่น้อย
เพราะ "บิ๊กโด่ง-อุดมเดช" พูดชัดเลยว่าอยากให้มีการใช้ "โดรน" หรือ "ยูเอวี" ตรวจการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อลดการสูญเสียของกำลังพล โดยอยากให้มีการใช้ถึงอำเภอละ 3-4 ตัวเลยทีเดียว
"แม้มีการใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน และยูเอวี ในการตรวจการณ์ แต่ก็ต้องใช้กำลังทหาร ตำรวจ ลาดตระเวนพื้นที่ด้วย เป็นการใช้เพื่อประกอบกับงานการข่าว ซึ่งการใช้โดรนและยูเอวีเพื่อป้องกันการถูกซุ่มยิงและวางระเบิดซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่หลังก่อเหตุรุนแรงอย่างอื่นแล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่มีความมั่นใจมากขึ้นในการทำงาน ผมตั้งใจอยากให้มีการใช้โดรนและยูเอวีอำเภอละ 3-4 ตัวใน 37 อำเภอของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อใช้ลาดตระเวน ตามงานการข่าวว่าจะก่อเหตุ และตรวจตราก่อนเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ ซึ่งผู้ก่อเหตุจะซุ่มโจมตีไม่ไกลนัก เช่น จุดชนวนระเบิด หากมีอุปกรณ์นี้บินสำรวจก่อนก็น่าจะเห็นความเคลื่อนไหว" เป็นคำอธิบายของ "บิ๊กโด่ง"
นโยบายที่ออกจากปากของคนระดับ "หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล" ถือว่าน่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง เพราะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมกับ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาที่มีปัญหาความไม่สงบ และประกาศใช้กฎหมายพิเศษทางความมั่นคง มีทั้งสิ้น 37 อำเภอ คิดแค่อำเภอละ 3 ตัว ก็ต้องจัดซื้อ "โดรน" หรือ "ยูเอวี" ถึง 111 ตัวเข้าไปแล้ว!
แค่ "แนวคิด" ยังไม่ได้ "จัดซื้อ"
หลังมีข่าวออกมา มีสื่อบางสำนักรายงานทำนองว่ารัฐบาลเพิ่งปิ๊งไอเดียเตรียมใช้ "โดรน" ในภารกิจดับไฟใต้ ทั้งที่จริงๆ แล้วกองทัพมี "โดรน" ในรูปแบบ "มินิ-ยูเอวี" ใช้มาหลายปีแล้วในพื้นที่ปลายด้ามขวาน (อ่านประกอบ...รู้จัก "มินิ-ยูเอวี" อากาศยานไร้คนขับในภารกิจดับไฟใต้)
แต่การใช้ "มินิ-ยูเอวี" หรือ "อากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก" อาจไม่ค่อยแพร่หลายมากนัก เพราะจากการสอบถามหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ หลายคนแสดงท่าทีอยากได้ แสดงว่ายังไม่มีใช้งาน หรืออาจไม่อยากให้สัมภาษณ์ล้ำเส้นผู้บังคับบัญชา จึงรีรอดูทิศทางลมก่อนก็เป็นได้...
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวว่า การใช้โดรนในภารกิจรักษาความปลอดภัยและลาดตระเวนล่วงหน้า เป็นแนวคิดของผู้บังคับบัญชาที่เป็นห่วงในเรื่องของความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ จึงคิดหาเครื่องมือเพื่อนำมาใช้ในพื้นที่ และ "โดรน" คือเครื่องมือหนึ่งที่น่าจะนำมาใช้ป้องกันเหตุรุนแรงได้
"เวลาเกิดเหตุ ตอนนี้ก็จะใช้เครื่องตัดสัญญาน (ตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ วิทยุสื่อสาร และรีโมทคอนโทรล เพื่อป้องกันการจุดระเบิด) และใช้รถหุ้มเกราะในการเข้าตรวจสอบเหตุ ฉะนั้นถ้ามีโดรนเข้ามาก็ถือว่าดี แต่ก็ยังไม่ได้จัดหาอะไร ยังเป็นแค่แนวคิด ยังไม่ได้เป็นนโยบาย อีกอย่างจะต้องมีการศึกษาอีกหลายด้าน ทั้งขั้นตอนและวิธีใช้"
ผบ.ฉก.หนุนใช้ "โดรน"
พ.อ.สิทธิศักดิ์ เจนบรรจง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 (ผบ.ฉก.ทพ.41) กล่าวสนับสนุนการมีและใช้โดรนในภารกิจทางความมั่นคง เพราะถือเป็นเครื่องทุ่นแรงในการลาดตระเวนของกำลังพล
"ผมว่าดีนะ อย่างน้อยผู้ก่อเหตุรุนแรงก็ต้องชะงักบ้างแหละ ที่ผู้ก่อเหตุรุนแรงกลัวมาก ก็คือกลัวเรารู้ว่าเขาเป็นใคร ยิ่งถ้าเพิ่มขีดความสามารถของโดรน เช่น ประกอบตัวสแกนสัญญาณเข้าไป แล้วบล็อคไม่ให้ระเบิดทำงาน หรือสั่งให้ระเบิดทำงานได้เอง ถ้าทำได้จะดีมากๆ แต่ไม่รู้ว่าจะมีเทคโนโลยีแบบนี้หรือเปล่า" ผบ.ฉก.ทพ.41 กล่าว และว่า
"ผมคิดว่าอะไรที่ทุ่นแรงน้องๆ (หมายถึงทหารระดับปฏิบัติที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา) ก็น่าจะดีทั้งหมด เพราะการเดินลาดตระเวนมันเหนื่อย ไม่สงสารน้องๆ ทหารเลยหรือ" พ.อ.สิทธิศักดิ์ ตั้งคำถามเชิงขอความเห็นใจ
"ระดับปฏิบัติ"ขอที่ใช้งานได้จริง
เจ้าหน้าที่ทหารระดับปฏิบัติการนายหนึ่ง ให้ความเห็นในเชิงสนับสนุนการจัดซื้อและใช้โดรนในภารกิจชายแดนใต้เช่นกัน แต่ขอแบบที่ใช้งานได้จริง ไม่ใช่แค่ถ่ายภาพยังไม่ชัด เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่รู้จะเอามาทำไม
"โดรนถือเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาใช้กับพื้นที่นี้ได้ เพราะตอนนี้ในพื้นที่ไม่มีเครื่องมือชนิดไหนที่จะสามารถช่วยลดการสูญเสียของกำลังพลได้เลย เวลาเกิดเหตุหรือพบวัตถุต้องสงสัย เจ้าหน้าที่ก็ต้องใช้กำลังพลเข้าไปตรวจสอบ ฉะนั้นถ้ามีโดรนจะช่วยได้มาก แต่โดรนที่จะนำมาใช้งาน ควรมีกล้องที่บันทึกภาพความละเอียดสูง และสามารถใช้งานได้จริง ไม่ใช่นำโดรนที่แม้ถ่ายภาพยังไม่ชัดว่าคืออะไรมาใช้งาน เพราะถ้าเป็นแบบนั้นก็ไม่มีประโยชน์"
คนพื้นที่เสียงแตก "หนุน-ค้าน"
ด้านความเห็นของคนในพื้นที่เองมีทั้งสนับสนุนและคัดค้าน...
นักวิชาการอิสระใน จ.ยะลา (ขอสงวนนาม) มองว่า การใช้ "โดรน" ในพื้นที่ชายแดนใต้น่าจะไร้ประโยชน์ เพราะปัญหาที่มีอยู่ทุกวันนี้ หลักๆ เป็นเรื่องของกลุ่มที่มีอุดมการณ์ ส่วนภัยแทรกซ้อนเป็นเรื่องเหลวไหล ฉะนั้นการมีโดรนจึงน่าจะไม่ช่วยอะไรได้มากมายนัก ซ้ำยังต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการจัดซื้ออีกด้วย
ขณะที่ นายอาแว กือจิ ชาวบ้านใน จ.ปัตตานี บอกว่า สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทำอยู่เวลาเจอวัตถุต้องสงสัย คือใช้ชาวบ้านหรือไม่ก็ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เข้าไปเขี่ยๆ วัตถุต้องสงสัยนั้น ถ้าพบว่าเป็นระเบิดจริง ก็จะปิดกั้นพื้นที่ แล้วตามเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ (อีโอดี) มาดำเนินการ แต่ถ้าเป็นของปลอม ก็จะเคลียร์กันเอง
"ฉะนั้นถ้ามีโดรนมาเป็นเครื่องมือในการเข้าตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยก็น่าจะดี และน่าจะสามารถช่วยลดความสูญเสียได้ ถือว่าดีกว่าวิธีที่ใช้อยู่ตอนนี้มาก" ชาวบ้านจาก จ.ปัตตานี กล่าว
รู้จัก "โดรน-ยูเอวี"
อากาศยานไร้คนขับ หรือ ยูเอวี ในภาษาอังกฤษ ย่อมาจาก Unmanned Aerial Vehicle (UAV) เรียกง่ายๆ ว่า "โดรน" หมายถึงอากาศยานที่ควบคุมจากระยะไกล แบ่งได้กว้างๆ 2 แบบ คือ แบบควบคุมจากระยะไกล และแบบที่บินได้ด้วยตนเองโดยอาศัยการโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ส่วน "มินิ-ยูเอวี" (Mini UAV) หรืออากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก เป็นยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ถูกนำมาใช้ในภารกิจสอดแนมหาข่าว ช่วยสนับสนุนการทำงานของกำลังพลในการลาดตระเวน โดย "มินิ-ยูเอวที" มีขนาดเล็กกว่ายูเอวีทั่วไป ทำให้กำลังพลเดินเท้าสามารถนำพาไปใช้งานได้ โดยการทำงานของ "มินิ-ยูเอวี" เจ้าหน้าที่จะส่งขึ้นไปบินอยู่บนอากาศบริเวณพื้นที่เป้าหมาย และที่ตัวของมันจะมีกล้องสำหรับเก็บภาพ และจะส่งภาพกลับมายังผู้ควบคุมที่บังคับอยู่ในระยะไกลได้
เมื่อปี 2555 กองทัพบก (ทบ.) ในยุคที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้มีการจัดซื้อ "มินิ-ยูเอวี" ยี่ห้อ "ราเวน" (Raven) จากประเทศอิสราเอล จำนวน 120 ระบบ ระบบละ 16 ล้านบาท รวม 1,920 ล้านบาท และบางส่วนถูกนำไปใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
---------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 อากาศยานไร้คนขับ หรือ ยูเอวี ที่สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ องค์การมหาชนของกระทรวงกลาโหม พัฒนาขึ้นเอง
2 การฝึกใช้ "มินิ-ยูเอวี" ของกำลังพล และเชื่อว่า "มินิ-ยูเอวี" นี้ถูกส่งลงไปใช้ปฏิบัติการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
ขอบคุณ :
1 ภาพแรกจากสถานีโทรทัศน์ NOW26
2 ภาพที่ 2 จากเว็บไซต์ http://thaidefense-news.blogspot.com/2012/03/raven-rq-11-b.html
อ่านประกอบ :