เปิดรับสมัครกกต.วันที่สองยังเงียบเหงา
เปิดรับสมัครกกต. วันที่สองยังเงียบเหงายังไม่มีบุคคลเดินทางมายื่นสมัครเข้ารับการสรรหา
วันที่ 20 ต.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในสัดส่วน ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ-ภาคประชาสังคม ที่จะเป็นประโยชน์แก่การบริการ และจัดการเลือกตั้ง จำนวน 5 คน จาก 7 คน ในวันนี้ซึ่งเป็นวันที่สอง ก็ยังคงเป็นไปอย่างเงียบเหงา หลังการรับสมัครวันแรก เมื่อวานนี้ (19 ต.ค.) ยังไม่มีบุคคลเดินทางมายื่นสมัครเข้ารับการสรรหา
สำหรับคุณสมบัติผู้ที่จะสมัครเข้ารับการสรรการ กกต. ในสัดส่วนดังกล่าว จะต้อง รับราชการ หรือ เคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า ไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศ มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังจะต้องมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ด้วย หรือเคยประกอบวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 20 ปี หรือเคยทำงานในภาคประชาสังคมมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 20 ปี ที่สำคัญจะต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระใดๆ มาก่อน หรือพ้นจากการดำรงตำแหน่งทางการเมือง-พรรคการเมืองมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 10 ปี
โดยผู้ที่จะเข้ารับการสรรหา จะต้องกรอกรายละเอียด และคุณสมบัติของตนเอง บรรยายถึงประสบการณ์การทำงาน ประวัติการศึกษา และตอบแบบสอบถามความเกี่ยวพันธ์ทางการเมือง และอธิบายความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ ซึ่งผู้ที่สนใจ สามารถสมัครเข้ารับการสรรหาได้ ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม ถึง วันที่ 10พฤศจิกายน ที่อาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน และอาคารสุขประพฤติ ถนนประชาชื่น โดยคาดว่า จะได้ชื่อบุคคลที่สมควรเข้าดำรงตำแหน่ง กกต. ไม่เกินวันที่ 12 ธ.ค.นี้ ก่อนจะส่งให้ สนช. ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ในฐานะคณะกรรมการสรรหาฯ เชื่อว่า แม้รัฐธรรมนูญ จะกำหนดผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง กกต. ไว้สูง จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการสรรหา และคณะกรรมการสรรหาฯ เอง ก็ยังไม่มีการพูดคุยถึงการไปทาบทามบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนมาเข้าสมัครสรรหา แม้กฎหมายจะเปิดช่องไว้ให้
ส่วน กกต. อีก 2 คนนั้น จะมาจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย เคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา หรืออธิบดีอัยการมาแล้ว ไม่ต่ำกว่า 5 ปี โดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จะเป็นผู้คัดเลือก