คำพิพากษาฉบับเต็ม!ไฉนศาลไร้อำนาจชี้จำนำข้าวถูกหรือผิด-ป.ป.ช. สอบ‘ปู’ลำพังได้
“…แม้โครงการรับจำนำข้าวจะเป็นการดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา แต่หากปรากฏว่า ในขั้นตอนการปฏิบัติตามโครงการมีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ย่อมถูกตรวจสอบโดยกระบวนการยุติธรรมได้ … คดีนี้เป็นการกล่าวหาจำเลย ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ มิใช่เป็นการตำหนิขอบกพร่องหรือการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดที่จำเลยและคณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐสภา จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยได้…”
หลายคนอาจทราบไปแล้วว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 5 ปี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในข้อหาผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว
ปัจจุบันศาลฎีกาฯ ได้ออกหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้นำตัวกลับมารับโทษตามคำพิพากษา เนื่องจาก ‘นารีขี่ม้าขาว’ ได้หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2560 และที่เลื่อนอีกรอบในวันที่ 27 ก.ย. 2560 (อ่านประกอบ : จำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา ศาลฎีกาฯ พิพากษา 'ยิ่งลักษณ์' คดีจำนำข้าว, บรรทัดสุดท้ายคดีจำนำข้าว!ล้วงเหตุผลสำคัญไฉนศาลสั่งคุก5ปี‘ยิ่งลักษณ์’ละเลยปัญหาทุจริต?)
ท่ามกลางแอ็คชั่นของฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ออกมาโหมกระพือหาตัว ‘บิ๊กสีกากี’ ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการพา ‘ยิ่งลักษณ์’ หลบหนี ความคืบหน้าล่าสุดคือ มีการจับกุมนายตำรวจได้ 3 นาย แต่ทั้ง 3 นายอาจส่อเค้า ‘หลุด’ ไม่มีความผิดทางวินัย เนื่องจากรถที่ถูกอ้างว่าพาหลบหนีนั้น ไม่มีดีเอ็นเอของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ ?
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเรื่องการพาหลบหนี หรือการเดินเกมของฝ่าย ‘ชินวัตร’ เกี่ยวกับกรณีนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป
แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกตัดสินว่ามีความผิดจากการละเลยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการนี้ โดยเฉพาะการละเลยไม่ตรวจสอบอย่างจริงจังในโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่พบว่า มีการทุจริตมโหฬาร นำข้าวมาเวียนขายภายในประเทศอย่างโจ๋งครึ่ม พบเช็คที่จ่ายมูลค่าสะพัดกว่า 7 หมื่นล้านบาท
ที่ผ่านมาการต่อสู้ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มักไม่ค่อยต่อสู้ในข้อเท็จจริง แต่เน้นการหาช่องกฎหมายเพื่อแก้ต่าง เช่นเดียวกันกับในชั้นศาลฎีกาฯ ที่ต่อสู้ว่า การฟ้องของโจทก์ (พนักงานอัยการ) และการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลฎีกาฯ เคยวินิจฉัยแล้วว่า ไม่สามารถบอกได้ว่าโครงการรับจำนำข้าวดีหรือไม่ดี แต่การกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สามารถถูกไต่สวนได้โดย ป.ป.ช. และอัยการสามารถส่งฟ้องต่อศาลฎีกาฯได้
อย่างไร ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปคำพิพากษาฉบับเต็มคดีนี้ สกัดเฉพาะข้อต่อสู้ทางกฎหมายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ดังนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลย (น.ส.ยิ่งลักษณ์) ต่อสู้ว่า โครงการรับจำนำข้าวข้าวเปลือกเป็นนโยบายของรัฐบาล คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจไต่สวนจำเลย ในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารในการใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) จึงไม่อาจดำเนินคดีแก่จำเลยโดยลำพังได้
องค์คณะผู้พิพากษา ได้วินิจฉัยแบ่งเป็นประเด็นสำคัญ ได้แก่
@รธน.ระบุชัดอำนาจ ‘นิติบัญญัติ-ตุลาการ-บริหาร’ ถูกสอบได้ทั้งทางการเมือง-ตุลาการ-ศาล
รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 3 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุบัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ แสดงว่าองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยแบ่งแยกออกเป็น 3 ฝ่าย คือ บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และที่แบ่งให้แต่ละฝ่ายมีอำนาจหน้าที่แตกต่างกันไป มีเจตนารมณ์เพื่อให้กลไกตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน
เมื่อพิจารณาวรรคสองของบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ที่ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม แสดงว่า การใช้อำนาจขององค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแต่ละฝ่ายย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ย่อมถูกตรวจสอบการใช้อำนาจที่ว่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบทางการเมือง โดยองค์กรทางการเมืองด้วยกันเอง หรือการตรวจสอบโดยองค์ตุลาการหรือศาล
@กม.ประสงค์ให้สภาเท่านั้นสอบนโยบาย รบ.-ศาลไร้อำนาจชี้ถูกหรือผิด
รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 178 บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า การบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ตามมาตรา 176 และต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตน รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี
ยิ่งแสดงให้เห็นชัดว่า การกระทำของฝ่ายบริหารทั้งสองส่วนย่อมต้องถูกตรวจสอบการใช้อำนาจเช่นเดียวกันกับองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐทั่วไป หาใช่ว่าจะอยู่นอกเหนือการตรวจสอบจากองค์กรใดไม่ แต่กลไกในการตรวจสอบด้วยวิธีไหน อย่างไร ย่อมเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ เช่น บทบาทของรัฐสภาในการตรวจสอบ หรือตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือการถอดถอนออกจากตำแหน่ง เป็นต้น
การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เช่นนี้ แสดงว่ากฎหมายสูงสุดประสงค์ให้รัฐสภาเท่านั้นที่สามารถตรวจสอบการกระทำทางรัฐบาล ไม่ใช่ให้องค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ เช่น ศาล เข้าไปตรวจสอบ ดังนั้นศาลจึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่า นโยบายของรัฐบาลใดชอบด้วยกฎหมาย หรือมีความเหมาะสมหรือไม่
@‘ยิ่งลักษณ์’เป็นหัวหน้าฝ่ายปกครอง ย่อมถูกสอบโดยตุลาการ-ศาล-ป.ป.ช.ได้
การกระทำในฐานะฝ่ายปกครอง หรือการดำเนินการปกครอง โดยเฉพาะจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้าฝ่ายปกครอง มีหน้าที่กำกับโดยทั่วไป ซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน และบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่งตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 11 (1) และ (3) ย่อมจะต้องถูกตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการ หรือศาลได้ ตามบทบัญญัติหมวด 10 ศาล
หากการดำเนินการทางปกครองดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย หรือมีลักษณะเป็นการกระทำความผิดซึ่งอาจมีความรับผิดทั้งทางกครองหรือทางแพ่ง หรือทางอาญา แล้วแต่กรณี รัฐมนตรีนั้น ๆ ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณา และพิพากษาคดี โดยศาลมีอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย หาใช่ว่าคงมีเพียงความรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐสภาเท่านั้นไม่
แม้โครงการรับจำนำข้าวจะเป็นการดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา แต่หากปรากฏว่า ในขั้นตอนการปฏิบัติตามโครงการมีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ย่อมถูกตรวจสอบโดยกระบวนการยุติธรรมได้
โดยเฉพาะคดีนี้เป็นการกล่าวหาจำเลย ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ มิใช่เป็นการตำหนิขอบกพร่องหรือการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดที่จำเลยและคณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐสภา จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยได้ตามบทบัญญัติมาตรา 250 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศใ2542 มาตรา 19
@ไม่จำเป็นต้องเอาผิดทั้ง ครม. เหตุเป็นความผิดเฉพาะตัว-ดูตามเจตนา
การที่บุคคลใดจะรับผิดทางอาญาหรือไม่ ต้องพิจารณาจากการกระทำและเจตนาของบุคคลนั้นเป็นสำคัญ หากปราศจากการกระทำหรือกระทำไปโดยขาดเจตนาแล้ว บุคคลนั้นย่อมไม่ต้องรับผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 อันเป็นความรับผิดชอบเฉพาะตัวบุคคล แม้บุคคลนั้นจะอยู่ร่วมในคณะบุคคล และกระทำความผิดโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ของคณะบุคคล ก็หาได้มีกฎหมายบัญญัติว่า จะต้องดำเนินคดีแก่บุคคลทั้งคณะด้วยแต่อย่างใดไม่
ดังนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีอำนาจกล่าวหาและดำเนินคดีแก่จำเลยโดยลำพังได้
ในตอนหน้า สำนักข่าวอิศราจะสกัดคำวินิจฉัยของศาลฎีกาฯ เกี่ยวกับข้อต่อสู้ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่อ้างว่า การรวมคดีสำนวนคดีจำนำข้าว กับระบายข้าวจีทูจีเข้าด้วยกัน ไม่เป็นธรรมแก่จำเลย
แต่ทำไมศาลฎีกาฯ จึงมีความเห็น ‘อนุญาต’ ให้รวมสำนวนคดีเข้าด้วยกันได้ โปรดติดตาม !
อ่านประกอบ :
กาง กม.-ชนักติดหลังคนสกุล‘ชินวัตร’ เดิมพันสุดท้าย‘ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ’สู้ต่อ-หนีตลอดชีวิต?
เปิดสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนสยาม-อังกฤษ ช่องนำ‘ปู'กลับไทยติดคุกคดีข้าว กรณีอยู่ลอนดอน?
‘ยิ่งลักษณ์’ล่องหนไม่มีผลคดีค้างในชั้น ป.ป.ช. ‘วัชรพล’ยันไต่สวนปกติ-ปัดเร่งรัด
ชนักติดหลัง‘ยิ่งลักษณ์’ รวยผิดปกติ-สารพัดข้อหาใน ป.ป.ช.-ไม่จบแค่คดีข้าว?