ก่อนดราม่าน้ำท่วม!คุ้ยงบย้อนหลัง20ปี กทม.ขุดลอกคูคลอง-ทำอุโมงค์1.5 หมื่นล.
คุ้ยงบประมาณขุดลอกคูคลอง-ทำอุโมงค์ระบายน้ำ กทม. 20 ปี ผ่านผู้ว่าฯ กทม. 5 คน-7สมัย ใช้ไปรวมกว่า 1.5 หมื่นล้าน เฉพาะทำอุโมงค์ 36 สัญญา 1.4 หมื่นล้าน ขุดคลอง 394 สัญญา 791 ล้าน
ไม่ใช่แค่วันที่ 13-14 ต.ค. 2560 ที่ผ่านมาเท่านั้น ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพมหานคร ภายหลังฝนกระหน่ำยาวนานหลายชั่วโมง ถึงกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ‘ประทาน’ ถึงกับหล่นคำพูดว่า ปริมาณน้ำฝนที่เกิน 200 มม. ต้องย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน สมัย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง สวมหมวกเป็นผู้ว่าฯ กทม. (อ้างอิงข่าวจาก เดลินิวส์ออนไลน์)
ขณะที่คำถามจากประชาชนยังคงดังขึ้นทุกครั้ง เวลาเกิดปัญหา ‘น้ำรอการระบาย’ แม้ผ่านการบริหารงานจากผู้ว่าฯ กทม. มาหลายยุคหลายสมัย ยังคงไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไม่ว่าจะเป็นสมัยเมื่อหลายปีก่อนที่ ส.ส. ยังมีอำนาจแปรญัตตินำงบประมาณลงมาแก้ไขปัญหา มีการขุดลอกแหล่งน้ำ-คูคลองต่าง ๆ ก่อนจะติดป้ายชื่อตัวเองขนาดใหญ่เสียเรี่ยม หรือมาในยุคหลังที่หน่วยงานราชการจัดสรรงบประมาณลงมาดำเนินการก็ตาม ?
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังภายในพื้นที่ กทม. ปฏิเสธไม่ได้ว่า คู-คลองตื้นเขิน และท่อระบายน้ำเต็มไปด้วยขยะ แต่คงไม่อาจโยนความรับผิดชอบมาที่ประชาชนฝ่ายเดียวได้ เนื่องจาก กทม. ได้รับงบประมาณในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่แล้วที่ถูกตั้งไว้ในงบประมาณประจำปี แต่ทำไมถึงไม่มีการแก้ไขให้ดีขึ้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 จนถึงปัจจุบัน (17 ต.ค. 2560) พบว่า กทม. โดยสำนักการระบายน้ำ ว่าจ้างเอกชนเข้ามาดำเนินการขุดลอกแหล่งน้ำ รวม 30 ครั้ง วงเงินกว่า 85 ล้านบาท (อ่านประกอบ : 30ครั้ง85ล.!โชว์งบขุดคลอง กทม.10 เดือนปี60 ก่อน‘ผู้ว่าฯอัศวิน’ออกโรงขอโทษ)
แต่เชื่อหรือไม่ ย้อนหลังกลับไป 20 ปีที่แล้ว ผ่านผู้ว่าฯ กทม. มา 5 ราย 7 สมัย นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2540 เป็นต้นมา กทม. โดยสำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขตต่าง ๆ ได้ว่าจ้างเอกชนเข้ามาขุดลอกคูคลอง-แหล่งน้ำ รวมถึงเก็บขยะ รวมจำนวน 394 สัญญา วงเงินทั้งสิ้น 791,915,031 บาท
โดยวงเงินงบประมาณที่ถูกจัดสรรสูงสุดเพื่อว่าจ้างนิติบุคคลเข้ามาขุดลอกแหล่งน้ำเกิดขึ้นเมื่อปี 2559 (สมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม.) โดยสำนักการระบายน้ำ ดำเนินโครงการขุดลอกคลองจำนวน 15 รายการ ว่าจ้างองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ดำเนินการ วงเงิน 43,490,000 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2559
ระหว่างปี 2558-2559 อผศ. เป็นหนึ่งองค์กรของรัฐสำคัญ ที่กระทรวงการคลังนำเสนอ คสช. ให้ได้รับสิทธิพิเศษ เข้าไปดำเนินงานขุดลอกแหล่งน้ำทั่วประเทศ วงเงินรวมหลายพันล้านบาท โดยเฉพาะกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ของกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานที่ว่าจ้าง อผศ. ไปดำเนินการมากที่สุดหลายร้อยสัญญา วงเงินหลายพันล้านบาทเช่นกัน
ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และปรากฏข้อเท็จจริงว่า อผศ. ว่าจ้างเอกชนเข้าไปดำเนินการแทน ซึ่งขัดกับการได้รับสิทธิพิเศษจากกระทรวงการคลัง นอกจากนี้เอกชนที่ทำแทน อผศ. ได้ขายช่วงสัญญาให้กับเอกชนรายย่อยหลายราย จนท้ายสุดวงเงินงบประมาณถูกหักเป็นทอด ๆ ทำให้เอกชนรายย่อยไม่สามารถดำเนินการได้ ปัจจุบันผลการสอบข้อเท็จจริงเสร็จแล้ว โดยไม่มีคนในหรือเจ้าหน้าที่ของ อผศ. ทำผิด แต่ยังไม่เผยแพร่ต่อสาธารณะแต่อย่างใด (อ่านประกอบ : อผศ.สอบปมขุดลอกคลองทั่ว ปท.เสร็จแล้ว! อ้างไม่พบ'คนใน'เอี่ยว, โชว์ชัดๆ หนังสือผู้รับเหมาทวงเงิน อผศ.! หลักฐานใหม่มัดปมจ้างช่วงขุดคลอง, เปิดพฤติการณ์ 'นายหน้า'จ้างช่วงขุดคลองอผศ. นัดที่เปลี่ยวเคลียร์เงินผู้รับเหมาอีสาน, แกะรอยข้อมูล เจ๊ 'น.' กับ เจ๊ 'ร.' มือกระจายงานขุดคลองอผศ.ผู้รับเหมาอีสาน, INFOGRAPHIC: ผ่าสัมพันธ์ปมขุดคลอง ‘อผศ.’ เชื่อม ‘บิ๊กปภ.’- ‘คุณนาย อ.’)
ส่วนสัญญาที่มีวงเงินสูงอีก 9 สัญญา ดูรายละเอียดได้ตามตาราง
ชื่อโครงการ |
วงเงิน (บาท) |
เอกชนถูกว่าจ้าง |
ทำสัญญา |
สมัยผู้ว่าฯ กทม. |
จ้างขุดลอกคลองเกาะกลางพระราม 3 จากแยกนางลิ้นจี่ถึงสถานีพระราม 3 |
10,435,000 |
บริษัท อาร์ทีพีววัสดุครุภัณฑ์คอนกรีต จำกัด |
1 มิ.ย. 2560 |
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง |
จ้างขุดลอกคลองสนามชัยจากสถานีสูบน้ำคลองสนามชัยถึงสุดเขต กทม. |
10,160,000 |
บริษัท 448 จำกัด |
29 พ.ค. 2560 |
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง |
จ้างขุดคลองช่องนนทรีจาก ถ.สุรวงศ์ถึง ถ.พระราม 3 |
9,360,000 |
อผศ. |
23 ก.ย. 2558 |
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร |
จ้างขุดลอกคลองเตยจาก ถ.พระราม 4-สถานีสูบน้ำคลองเตย |
8,090,000 |
อผศ. |
9 พ.ย. 2558 |
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร |
จ้างเหมาก่อสร้างที่จอดรถเก็บขยะขนมูลฝอย อาคารสำนักงานและห้องเก็บพัสดุพร้อมขุดลอกคลอง |
7,064,000 |
บริษัท เวิลด์ เดสคอน จำกัด |
20 ก.พ. 2546 |
นายสมัคร สุนทรเวช |
จ้างขุดลอกคลองพระยาสุเรนทร์จากคลองหกวา-คลองบางชัน |
6,800,000 |
บริษัท กรุงไทยสถาปัตย์ จำกัด |
29 พ.ค. 2560 |
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง |
จ้างขุดลอกคลองกลุ่มที่ 1 จำนวน 3 คลอง |
6,515,000 |
บริษัท พี.วาย.เอส 1994 จำกัด |
29 ก.ย. 2549 |
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน |
จ้างขุดลอกคลองกลุ่มที่ 3 จำนวน 2 คลอง |
5,800,000 |
บริษัท ต สุวรรณ จำกัด |
29 ก.ย. 2549 |
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน |
จ้างขุดลอกคลองกลุ่มที่ 2 จำนวน 2 คลอง |
5,640,000 |
บริษัท พี.วาย.เอส 1994 จำกัด |
29 ก.ย. 2549 |
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน |
นอกเหนือจากงบประมาณจากสำนักการระบายน้ำ กทม.-สำนักงานเขตต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว นับตั้งแต่ปลายปี 2544 เป็นต้นมา กทม. ยังมีโครงการทำอุโมงค์ระบายน้ำอีก 36 สัญญา วงเงินรวม 14,214,003,045 บาท (ราว 1.4 หมื่นล้านบาท)
โดยโครงการที่ใช้วงเงินงบประมาณสูงสุดคือ โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา วงเงิน 4,925,665,000 บาท ว่าจ้างกิจการร่วมค้า เอสทีเอสจี joint venture เป็นผู้ดำเนินการ ทำสัญญาเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2558
ส่วนสัญญาที่มีวงเงินสูงเกิน 100 ล้านบาทอีก 4 สัญญา ดูรายละเอียดได้ตามตาราง
ชื่อโครงการ |
วงเงิน (บาท) |
เอกชนถูกว่าจ้าง |
ทำสัญญา |
สมัยผู้ว่าฯ กทม. |
จ้างก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อจากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา |
2,442,400,000 |
บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการจำกัด (มหาชน)
|
12 ก.ย. 56 |
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร |
สัญญาจ้างโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา |
2,166,000,000 |
บมจ.ช.การช่าง
|
30 เม.ษ. 47 |
นายสมัคร สุนทรเวช |
โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าววลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา |
2,094,995,800 |
กิจการร่วมค้า ไอ เอ็น |
22 ก.ค. 46 |
นายสมัคร สุนทรเวช |
จ้างโครงการก่อสร้างเขื่อน คลส.ประตุระบายน้ำ คลองลาดพร้าว คลองบางบัว คลองถนน คลองสอง และคลองบางซื่อ จากเขื่อนเดิมอุโมงค์ยักษืพระรามเก้า รามคำแหงไปทางตคลองสายใต้ |
1,645,000,000 |
บริษัท ริเวอร์เอินจิเนียริ่ง |
14 ม.ค. 59 |
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร |
จ้างโครงการเดินระบบบำรุงรักษาและบริหารจัดการอุโมงค์ระบายน้ำ บึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา (ระยะ2) |
488,000,000 |
บ ยูทิลิตี้ บิสิเนส อัลายแอนซ์ จำกัด |
29 เม.ษ. 59 |
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร |
อย่างไรก็ดีข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้งบประมาณของ กทม. เท่านั้น ที่ปรากฏข้อเท็จจริงให้เห็นว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการหว่านวงเงินงบประมาณในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วมไปนับหมื่นล้านบาท
ส่วนจะคุ้มค่า-เห็นผลอย่างไร ประชาชนคงเห็นเป็นที่ประจักษ์กันไปแล้ว !
หมายเหตุ : ภาพประกอบน้ำท่วมจาก www.dmc.tv