พลิกคำพิพากษาคดีเลิกจ้างอดีต ผอ.ไทยพีบีเอส สะเทือนผู้บริหาร ธพว.หรือไม่ ?
เปิดคำพิพากษาชัดๆ คดีศาลปกครองยกฟ้อง อดีต ผอ.ไทยพีบีเอสกับพวก 6 คน ถูกเลิกจ้าง ไม่จ่ายค่าทดแทน ข้อเท็จจริงปมอนุมัติจัดหาอุปกรณ์ 4 ครั้ง 582.5 ล. ไม่ผ่านบอร์ด กับกฎเหล็ก ธปท.ว่าด้วยคุณสมบัติ ผู้บริหารสถาบันการเงิน ท้าทายหลักธรรมาภิบาล ผู้บริหาร ธพว.หรือไม่?
กรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ บ.216/2560 วันที่ 25 ก.ย. 2560 ยกฟ้องคดีที่ นายสมชัย สุวรรณบรรณ อดีตผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ผอ.ส.ส.ท. กับพวก 6 คน ยื่นฟ้อง องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน กรณีมีมติและหนังสือที่ สลน.02/126/58 ลว. 9 ต.ค. 2558 บอกเลิกสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีที่ 1 โดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้กระทำผิดสัญญาจ้าง และมีผลให้ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ถึงที่ 6 ต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย พร้อมกับให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันหรือเเทนกันชดใช้ค่าเสียหายให้เเก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหก ตามข่าวก่อนหน้านี้ (อ่านประกอบ:ศาลปค.ยกฟ้อง ‘สมชัย’ ปมถูกบอร์ดเลิกจ้าง ผอ.ไทยพีบีเอส)
คดีนี้แม้จะผ่านไปแบบไม่คึกโครมนัก แต่ในคำพิพากษามีข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงคำพิพากษามาเสนอดังนี้
ผู้ฟ้องคดี
นายสมชัย สุวรรณบรรณ ที่ 1 ,นายมงคล ลีลาธรรม ที่ 2 ,นายสุพจ จริงจิตร ที่ 3 ,นายพุทธิสัตย์ นามเดช ที่ 4,นางสมถวิล จรรยาวงษ์ ที่ 5 ,น.ส.วิภา เหลืองมณี ที่ 6
ผู้ถูกฟ้องคดี
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ที่ 1,คณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (หรือ บอร์ด) ที่ 2, ประธานกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ที่ 3
มูลเหตุแห่งการฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีมติเลิกจ้าง นายสมชัย (ผู้ฟ้องคดีที่ 1) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ตามหนังสือ สลน. 02/126/58 ลงวันที่ 9 ต.ค.2558 เมื่อนายสมชัยพ้นจากตำแหน่ง มีผลให้ผู้ฟ้องคดีที่ 2-6 ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 จึงยื่นฟ้องต่อศาล
ข้อเท็จจริงในการรับฟัง
คณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) มีมติในการประชุม (วาระลับ) เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2560 เลิกจ้างนายสมชัย โดยไม่จ่ายค่าเสียหายหรือสินไหมทดแทน ด้วยเหตุผล 2 ข้อ
1.อนุมัติโครงการที่มีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท โดยที่ไม่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) จำนวน 4 ครั้ง เป็นการขัดต่อระเบียบองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยว่าด้วยพัสดุ พ.ศ.2553 และฝ่าฝืนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 นอกจากนี้ยังไม่ให้ความร่วมมือกับสำนักตรวจสอบภายในที่ได้ทักท้วงและขอให้ชี้แจงหลายครั้งซึ่งเป็นการจัดต่อหลักธรรมาภิบาลที่ดีขององค์กร
2.ไม่จัดทำรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทุกสามเดือน ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง
ประเด็นการพิจารณาของศาล
เหตุผลที่ผู้ถูกฟ้องกล่างอ้างมาเป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญาตามหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยชอบหรือไม่
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 มิได้โต้แย้งคัดค้านข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งสามที่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงตามรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (บอร์ด) ว่าในการจัดหาอุปกรณ์โครงการโทรทัศน์ดิจิทอล มีการอนุมัติการจัดหาที่มีวงเงินเกินกว่า 50 ล้านบาท จำนวน 4 รายการ รวมเป็นวงเงิน 582,505,000 บาท ซึ่งอนุมัติโดยผู้ฟ้องคดีที่ 1 (นายสมชัย) ในฐานะผู้อำนวยการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จำนวน 3 รายการ วงเงินรวม 509,005,000 บาท และอนุมัติโดยผู้ฟ้องคดีที่ 2 (นายมงคล ลีลาธรรม) ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จำนวน 1 รายการ วงเงิน 73,500,000 บาท
กรณีจึงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (นายสมชัย) ในฐานะผู้อำนวยการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ ผู้ฟ้องคดีที่ 2 (นายมงคล) ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้อนุมัติการจัดหาอุปกรณ์โครงการโทรทัศน์ดิจิทอล มีการอนุมัติการจัดหาที่มีวงเงินเกินกว่า 50 ล้านบาทต่อครั้งจริง แต่โดยที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกล่าวอ้างว่า ไม่ปรากฎว่ามีมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (บอร์ด) ที่อนุมัติหรือให้การรับรองว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (บอร์ด) ได้มีมติให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 มีอำนาจอนุมัติการจัดหาพัสดุที่มีวงเงินเกินกว่า 50 ล้านบาท ในขณะที่ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 กล่าวอ้างว่า กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาในการตีความมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (บอร์ด) ในการประชุม ครั้งที่ 18/2556 เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2556 โดยผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (บอร์ด) ได้มีการประชุมครั้งดังกล่าวอนุมัติงบประมาณและการใช้งบประมาณในโครงการโทรทัศน์ดิจิทอล จำนวนรวม 862,236,000 บาท และอนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะ จัดหา ตรวจรับ สำหรับโครงการโทรทัศน์ดิจิทอลที่มีวงเงินเกิน 50 ล้านบาทได้ ซึ่งหลังจากที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีมติอนุมัติแล้ว ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นสามชุด และได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไปตามขั้นตอน โดยได้รายงานผลการดำเนินงานให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (บอร์ด) ทราบโดยตลอด และไม่ปรากฎว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ทักท้วงหรือโต้แย้งผู้ฟ้องคดีทั้งหก จึงเห็นว่าผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้ดำเนินการในกรณีดังกล่าวโดยชอบตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการประชุม ครั้งที่ 18/2556 เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2556 แล้ว
ผลการวินิจฉัย
เมื่อพิจารณารายงานการประชุมผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ครั้งที่ 18/2556 เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2556 ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีมติดังนี้
(1) อนุมัติงบประมาณและการใช้งบประมาณโครงการโทรทัศน์ดิจิทัล จำนวนเงิน 862,236,000 บาท ทั้งนี้ในการใช้ในงบประมาณเพื่อการจัดจ้างให้ดำเนินการตามระเบียบองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2553
(2) อนุมัติให้ผู้อำนวยการมีอำนาจอนุมัติการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะ จัดหา ตรวจรับ สำหรับโครงการโทรทัศน์ดิจิทัลที่มีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท เพื่อให้ดำเนินการตามระเบียบองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2553 ต่อไป
กรณีจึงเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีมติอนุมัติแต่เพียงวงเงินงบประมาณและอนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะผู้อำนวยการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะ จัดหาตรวจรับ สำหรับโครงการโทรทัศน์ดิจิทัลที่มีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท โดยให้ดำเนินการตามระเบียบองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2553 เท่านั้น
ข้อเท็จจริงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีมติให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะผู้อำนวยการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีอำนาจอนุมัติจัดหาพัสดุที่มีวงเงินเกินกว่า 50 ล้านบาท ดังที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกกล่าวอ้างแต่อย่างใด
ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะผู้อำนวยการของถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะรักษาการณ์ผู้อำนวยการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้อนุมัติการจัดหาอุปกรณ์โครงการโทรทัศน์ดิจิทัลที่มีวงเงินเกินกว่า 50 ล้านบาทต่อครั้ง โดยไม่ได้รับความเห็นชอบและไม่ได้รับการอนุมัติจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จริง ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อข้อ 12 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ของระเบียบองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2553 ประกอบข้อ 44 ของระเบียบองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยว่าด้วยการเงิน การงบประมาณ และการบัญชี พ.ศ. 2551 จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 มิได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับที่กำหนดไว้ในส่วนที่กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะผู้อำนวยการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 8 วรรคหนึ่ง
ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกล่าวอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 มิได้จัดทำรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทุกสามเดือน นั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งหกกล่าวอ้างว่า ในช่วงแรกที่ผู้ฟ้อง คดีที่ 1 เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้จัดทำรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานทุกสามเดือน แต่เพื่อให้มีการติดตามการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง น.ส.มาลี บุญศิริพันธ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในขณะนั้น ได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 นำเสนอรายงานการปฏิบัติทุกคราวที่มีการประชุมผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยไม่ต้องจัดทำรายงานเป็นรูปเล่ม ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงได้รายงานผลการปฏิบัติงานในการประชุมผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เรื่อยมาโดยไม่มีการทักท้วงหรือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีที 1 จัดทำรายการปฏิบัติงานในลักษณะที่เป็นรูปเล่มทุกสามเดือน
จากข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งหกดังกล่าว กรณีจึงรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีที่ 1 มิได้จัดทำรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทุกสามเดือนตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกล่าวอ้างจริง เมื่อข้อ 13.3 ของสัญญากำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะผู้อำนวยการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต้องจัดทำรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทุกสามเดือน ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามข้อสัญญาอย่างเคร่งครัดตราบเท่าที่ยังไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาโดยชัดแจ้ง ดังนั้น ไม่ว่า น.ส.มาลี ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในขณะนั้น จะได้แจ้ง ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 นำเสนอรายงานการปฏิบัติงานทุกคราวที่มีการประชุมผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยไม่ต้องจัดทำรายงานเป็นรูปเล่มจริงหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อยังมิได้มีการแก้ไขข้อสัญญาให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ไม่ต้องจัดทำรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 การที่ น.ส. มาลีในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในขณะนั้นแต่เพียงผู้เดียวก็หามีอำนาจอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 นำเสนอรายงานการปฏิบัติงานทุกคราวที่มีการประชุมผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยไม่ต้องจัดทำรายงานเป็นรูปเล่มแต่อย่างใด
การที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 มิได้จัดทำรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทุกสามเดือน จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามข้อ 13.3 ของสัญญา เมื่อผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะผู้อำนวยการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้อนุมัติการจัดหาอุปกรณ์โครงการโทรทัศน์ดิจิทอลที่มีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท โดยไม่รับอนุมัติจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในข้อสัญญาข้อ 8
และการที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะผู้อำนวยการผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มิได้จัดทำรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทุกสามเดือน จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามข้อสัญญาข้อ 13.3 ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงกระทำผิดข้อกำหนดหรือเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งในสัญญาตามข้อ 14.3.7 ซึ่งข้อ 14.3 ให้สิทธิผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการบอกเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีที่ 1 โดยไม่จ่ายค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงเป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างโดยชอบตามสัญญาและชอบด้วยมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 และผู้ถูกฟ้องที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียงหายหรือค่าสินไหมทดแทนตามฟ้องให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 แต่อย่างใด
ประเด็นสืบเนื่องต่อผู้ฟ้องคดีที่ 2
ผลจากคดีนี้ อีกด้านหนึ่ง หนึ่งในผู้บริหาร ส.ส.ท.หลังจากพ้นตำแหน่งในคราวนั้น หรือเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2558 คือ นายมงคล ลีลาธรรม ได้ไปสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ทันทีในปลายเดือนเดียวกัน ซึ่งมีผู้สมัครเข้ารับการสรรหาทั้งหมด 6 คน โดยมีผู้ไม่ผ่านคุณสมบัติ 1 คน คงเหลือ 5 คน นายมงคล เป็น 1 ใน 5 คนที่ผ่านคุณสมบัติเข้าไปแสดงวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์โดยคณะกรรมการสรรหาของ ธพว. และได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการ ธพว. โดยได้รับอนุมัติให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธพว.เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2559 ซึ่งสำนักข่าวอิศราได้นำเสนอข่าวก่อนหน้านี้าว่ากระบวนการแต่งตั้งนายมงคล เป็นกรรมการผู้จัดการ ธพว.ส่อเค้ามีปัญหา ในประเด็นคณะกรรมการสรรหาจำนวนหนึ่งเป็นผู้ที่มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 นอกจากนี้ยังมีกรรมการสรรหาอีก 2 คน ที่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการในนิติบุคคลที่มีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการ ธพว.ทำนองเดียวกัน
ขณะที่คดีของอดีต ผ.อ.สสท.นั้น ศาลปกครองกลาง รับฟังได้ว่านายสมชัยฯ ผอ.ส.ส.ท.ได้อนุมัติจัดหาอุปกรณ์โครงการโทรทัศน์ดิจิทอลที่มีวงเงินเกินกว่า 50 ล้านบาท จำนวน 3 รายการ วงเงินรวม 509 ล้านบาท และนายมงคลฯ ในฐานะรักษาการ ผอ.ส.ส.ท.อนุมัติในลักษณะเดียวกันอีก 1 ครั้ง วงเงิน 73.5 ล้านบาท โดยไม่ได้รับความเห็นชอบและไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. จริง ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อข้อ 12 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ของระเบียบ ส.ส.ท.ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2553 ประกอบข้อ 44 ของระเบียบ ส.ส.ท.ว่าด้วยการเงิน การงบประมาณ และการบัญชี พ.ศ.2551
เปิดกฎเหล็กแบงก์ชาติ ท้าทาย คุณสมบัติ หลักธรรมาภิบาล ผู้บริหาร ?
ประเด็นที่ท้าทาย หลักธรรมาภิบาลต่อตำแหน่ง ผู้บริหาร ธพว. คือ ประกาศ ธปท. ที่ สกส.4/2559 ในเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 ซึ่งกำหนดลักษณะต้องห้ามทางด้านความซื่อสัตย์ สุจริต และชื่อเสียง ไว้ ว่า “มีหรือเคยมีพฤติกรรมที่แสดงถึงการทำงานอันส่อไปในทางไม่สุจริต ..”
กรณีของนายมงคลในการอนุมัติจัดหาอุปกรณ์ เกิน 50 ล้านบาท ตามที่ปราฎในคำพิพากษาศาลปกครองข้างต้น จะเข้าองค์ประกอบในเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามฯหรือไม่ ขึ้นอยู่กับจะตีความกันอย่างไร? ธนาคารแห่งประเทศไทย จะดำเนินการอย่างไร และกระทรวงการคลังซึ่งเป็นต้นสังกัด จะจริงจังกับเรื่องนี้หรือไม่ เพียงใด? ขึ้นอยู่กับดุลพินิจอย่างกว้างหรืออย่างแคบ ทั้งหมดอยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาลซึ่งเป็นหลักใหญ่ของผู้บริหารทุกองค์กรต้องยึดหลักนี้ไว้เป็นกรอบในการบริหารงาน
หรือ ไม่มีอะไร? ต่างวาระ ต่างองค์กร
นับเป็นประเด็นพิจารณา ท้าทายยิ่ง!