30 องค์กรชาวบ้าน จี้เลิกแผนแม่บทโลกร้อน โยนความผิดคนอยู่กับป่า-เกษตรกร
30 องค์กรภาคประชาชน เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน-ประมงพื้นบ้าน-ชนเผ่า-กลุ่มอนุรักษ์ ยื่นนายกฯ เลิก “แผนแม่บทโลกร้อน” แนวคิดแย่ โยนความผิดให้ชาวนา-คนอยู่กับป่า เอื้อตัวการทำโลกร้อนอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า ปิโตรเคมี บริษัทปุ๋ยเคมี ขอร่างใหม่โดยภาคประชาชน
วันที่ 1 พ.ย. 53 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เครือข่ายภาคประชาชน 30 เครือข่ายร่วมแถลงข่าวกรณีจะยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ยกเลิก “แผนแม่บท 10 ปีเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยเรียกร้องให้จัดทำร่างใหม่โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
นายพฤ โอ่โดเชา สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือและเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชาวบ้านไม่ใช่สาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่เป็นผู้ได้รับผลกระทบ เพราะภาวะดังกล่าวทำให้ฝนตกน้อยลง ทำให้ผลผลิตการเกษตรลดลง นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่หน่วยงานรัฐฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้านข้อหาบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทำให้โลกร้อน ทั้งที่ชาวบ้านอยู่อาศัยกับป่ามาก่อนแล้วอุทยานฯประกาศภายหลังและทับซ้อนที่ดินชาวบ้าน ทั้งนี้ควรยกเลิกแผนแม่บทโลกร้อนเพราะมีแนวคิดแก้ปัญหาที่โยนความผิดให้ชาวบ้าน
“ยิ่งแผนแม่บทดังกล่าว คิดวิธีแก้ปัญหาแบบโยนความผิดให้ชาวบ้านที่อยู่กับป่าและเกษตร ทั้งที่สาเหตุหลักของโลกร้อนเกิดในภาคอุตสาหกรรม พอรัฐไปทำข้อตกลงกับต่างประเทศ หมู่บ้านผมจะมีหลักประกันอย่างไรว่าจะไม่เดือดร้อน สิทธิ วัฒนธรรมจะอยู่อย่างไร โลกร้อนจะแก้อย่างไรถ้าสาเหตุหลักไม่ได้แก้ แผนแม่บทที่ออกมาล้มไปได้เลย” นายพฤ กล่าว
นายเกรียงไกร ชี้ช่วง เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อวิถีชีวิตและการทำมาหากินของชนเผ่า โดยเฉพาะหากรัฐขาดความเข้าใจ ทั้งนี้รัฐต้องรับรองสิทธิและยอมรับรูปแบบการใช้และการจัดการทรัพยากรตามประเพณีชนเผ่าพื้นเมืองที่สอดคล้องกับระบบนิเวศน์ มาตรการรองรับหรือแก้ไขของรัฐบาลต้องเป็นธรรม เคารพสิทธิในวิถีวัฒนธรรม ไม่จำกัดสิทธิในการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น
“อย่าโยนความผิดเรื่องการปล่อยคาร์บอนให้ชุมชน ต้องยอมรับองค์ความรู้พื้นบ้าน การแก้ปัญหาต้องเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกส่วน เครือข่ายจะติดตามนโยบายรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพราะจะไม่ยอมให้การพัฒนาในอดีตที่สร้างความเจ็บปวดให้ชุมชนเกิดขึ้นอีก” นายเกรียงไกร กล่าว
นายสายัณห์ อุทธาสม เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า ปัจจุบันฤดูกาลเปลี่ยนแปลงมาก ช่วงหน้าร้อนยาวนานขึ้นเป็น 5 เดือน เบียดให้หน้าฝนเหลือแค่ 3 เดือน มีผลทำให้พืชผลการเกษตรลดลง แต่ปริมาณน้ำฝนเท่าเดิม ทำให้ฝนตกมากขึ้นในแต่ละครั้ง จึงเกิดน้ำท่วม แต่แผนแม่บทที่ออกมากลับไม่ได้รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และไม่มีแผนรองรับหรือหนุนเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน และวิถีชุมชนท้องถิ่น ไม่ได้พูดถึงความหลากหลายของพันธุ์พืชท้องถิ่น พูดถึงแต่พืชเศรษฐกิจแค่ 4 อย่าง
“ขณะที่การใช้ปุ๋ยเคมีโดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน ทำให้เกิดโลกร้อนกระบวนการผลิตปุ๋ยก็ใช้พลังงานมหาศาล องค์ความรู้ปัจจุบันของชาวบ้านสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์มาทดแทนปุ๋ยเคมี แต่ในแผนแม่บทไม่ได้พูดถึงการสนับสนุนเรื่องนี้เลย” นายสายัณห์ กล่าว
นางจินตนา แก้วขาว เครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ปัญหาแผนแม่บทเกิดจาก สผ.ไม่ใส่ใจว่าสาเหตุเกิดจากอะไรทั้งๆที่มีข้อมูลอยู่แล้วว่าอุตสาหกรรมทั้งเหล็กและปิโตรเคมีเป็นสาเหตุของโลกร้อนถึง 70% แต่รัฐบาลกลับไปตามการชี้นำของกลุ่มทุน ทำให้พัฒนาเละเทะ ภาคใต้ทั้งภาคถูกกำหนดให้เป็นเขตอุตสาหกรรมหนัก ทั้งๆที่โรงไฟฟ้าที่จะนะเกิดปัญหามาก
“เราเห็นว่าแผนไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง วันนี้เกิดโรงไฟฟ้ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นประจวบฯ ทับสะแก ชุมพร นครศรีธรรมราช เกิดปิโตรเคมีมากมาย ซึ่งสร้างปัญหาโลกร้อน แต่รัฐกลับเบี่ยงเบนประเด็นไปใส่ว่าป่าไม้สร้างโลกร้อน เราเสนอว่าให้ยกเลิก และร่างใหม่โดยภาคประชาชนเพื่อจะแก้ไขปัญหาตามความเป็นจริง และจะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง” นางจินตนา กล่าว
นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี สมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ กล่าวว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับประมงตอนนี้คือ หนึ่ง-หน้าร้อนสำหรับชาวประมงหาปลาไม่ค่อยได้ เกิดปรากฎการณ์ปลาตายในช่วงที่ร้อนมากๆ ช่วงมีนาคม-เมษายน และยังมีปรากฏการณ์ประการังฟอกขาว สอง-การกัดเซาะชายฝั่ง เกิดมากโดยเฉพาะในอ่าวไทย บางหมู่บ้านหายไปทั้งหมู่บ้าน ด้านหนึ่งโลกร้อนเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ แต่อีกด้านเกิดจากน้ำมือมนุษย์ เช่น การสร้างเขื่อนกั้นกระแสน้ำ สาม-ภัยธรรมชาติ เช่น สึนามิ ที่คนตายเป็นแสนและมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอีกได้ แผนแม่บทไม่สามารถตอบโจทย์สามเรื่องนี้ได้เลย แต่กลับอ้างว่าเป็นทิศทางการแก้ปัญหาของประเทศไทยในอีกสิบปีข้างหน้า
“หลายเรื่องที่เขียนออกมากยิ่งไปซ้ำเติม เช่น การลดโลกร้อนโดยการทำท่าเรือ หรือถนนเลียบชายฝั่ง เกี่ยวตรงไหน เราไม่ได้พูดๆไปเฉยๆ แต่เราพูดบนซากศพเกือบแสนศพ ขณะนี้ภาคใต้กำลังน้ำท่วม ฝนยังตกไม่หยุด แผนแม่บทรับรองตรงนี้ได้ไหม ไม่ได้ก็ต้องเลิก” นายวิโชคศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ตัวแทนเครือข่ายประชาชนระบุว่า หลังจากยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้ว หากยังไม่มีความคืบหน้า อีก 1 เดือนข้างหน้า 30 เครือข่ายภาคประชาชนจะไปทวงคำตอบที่หน้าทำเนียบรัฐบาล.