เปิด 10 คดีค้างกรุ ‘เอาเปรียบการค้า’ ลุยสอบภายใต้ กม.แข่งขันฯ ฉบับใหม่
เปิด 10 คดีค้างกรุ เอาเปรียบทางการค้า ก่อนใช้ กม.แข่งขันทางการค้า ฉบับใหม่ ลุยสอบ อธิบดีกรมการค้าภายใน มั่นใจดำเนินการรวดเร็ว ขณะที่ประชุมนัดแรก ตั้งคณะทำงานกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ บุคลากร งบฯ
ทันทีที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค. 2560 คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า จึงประชุมนัดแรกเพื่อวางกรอบยุทธศาสตร์ โดยเบื้องต้น ได้แต่งตั้งคณะทำงาน 3 คณะ ได้แก่ คณะทำงานเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การทำงานของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12, คณะทำงานดูแลโครงสร้างของ สขค. เกี่ยวกับอัตราบุคลากรและงบประมาณ และคณะทำงานดูแลเรื่องที่มาของอัตราบุคลากร
นายบุญยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ระบุ สขค.ที่จะจัดตั้งขึ้นแทนใหม่นั้น มีบทบาทเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของรัฐ เหมือนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งกรรมการจะต้องทำงานเต็มเวลา
ขณะที่เรื่องร้องเรียนการเอาเปรียบทางการค้าที่มีอยู่เดิมประมาณ 10 เรื่องนั้น จะถูกถ่ายโอนมาอยู่ภายใต้อำนาจของกฎหมายใหม่ ซึ่งจะใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย ปี 2542 แต่ให้ใช้บทลงโทษตามกฎหมายใหม่ โดยจะมีทั้งโทษอาญาและปกครอง จากเดิมมีเฉพาะโทษอาญาเท่านั้น ยกเว้น คดีใหม่หลังวันที่ 5 ต.ค. 2560 จะใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายใหม่ และยืนยันกระบวนการจะไม่ล่าช้า
โดยตามพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ฉบับใหม่ ได้ปรับลดโทษอาญา และเพิ่มโทษปกครอง และต้องสอดคล้องกับพฤติกรรมความร้ายแรง อีกทั้งการฟ้องคดีอาญาและเรียกค่าเสียหายให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
ด้าน ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เชื่อว่า พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ฉบับใหม่ ที่บังคับใช้ จะช่วยให้กระบวนการดำเนินการพิจารณาเรื่องร้องเรียนเร็วขึ้น เพราะปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า มีนักกฎหมายแล้วอย่างน้อย 3-4 คน จากเดิมต้องพึ่งพานักกฎหมายของกรมการค้าภายใน
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ยังปลดล๊อคความผิดทางอาญา โดยลดโทษความผิดอาญา และเพิ่มโทษทางปกครองและแพ่งแทน เหลือโทษอาญาเพียง 2 เรื่อง คือ การฮั้วและใช้อำนาจเหนือตลาด เท่านั้น ส่วนอื่น ๆ เช่น การควบรวมธุรกิจ การกระทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับราคา ปริมาณสินค้า จะไม่มีโทษอาญาแล้ว
สุดท้าย การฟ้องคดีอาญาและเรียกค่าเสียหายอยู่ในการพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ จากเดิมศาลยุติธรรม ซึ่งน่าจะมีความรู้ความเข้าใจมากกว่า เพราะศาลทรัพย์สินฯ มีความชำนาญเรื่องการค้าระหว่างประเทศและทรัพย์ทางปัญญา
“10 คดีที่ค้างอยู่ในกระบวนการดำเนินการ หากไม่เกี่ยวข้องกับการฮั้วและการใช้อำนาจเหนือตลาด จะปลดล๊อคได้เร็วขึ้น แต่หากเกี่ยวข้องกับ 2 กรณี อาจล่าช้า เพราะติดกระบวนการทางอาญา” นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ระบุ
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนการเอาเปรียบทางการค้าที่ยังดำเนินการไม่ยุติ ตั้งแต่ปี 2543-59 มีดังต่อไปนี้
ปี 2554
1.วันที่ 8 ก.พ. 54 เรื่อง การแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของห้างค้าส่ง ค้าปลีก กรณีส่งเสริมการขาย โดยใช้คูปองของห้างค้าส่งค้าปลีกรายอื่น
2.วันที่ 25 ก.ค. 54 เรื่อง พฤติกรรมการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกรณีโฆษณาบัตรสมาชิกห้างค้าส่งค้าปลีก
ปี 2556
3. วันที่ 28 มี.ค. 56 เรื่อง โรงน้ำแข็งตกลงร่วมกันในการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำแข็ง
4. วันที่ 20 พ.ค. 56 เรื่อง ผู้มีอำนาจเหนือตลาดสินค้ายางพารา แอสฟัลท์ อิมัลชั่น ปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
5. วันที่ 17 ต.ค. 56 เรื่อง การค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจเครื่องจักรปรับปรุงคุณภาพเกษตร
ปี 2557
6. วันที่ 12 ธ.ค. 57 เรื่อง กรณีการปรับขึ้นค่า Terminal handing change (THC) และการลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน
7. 12 ธ.ค. 57 เรื่อง กรณีปัญหาสายเรือปรับขึ้นค่า THC
ปี 2558
8. วันที่ 30 ม.ค. 58 เรื่อง การตกลงร่วมกันในธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายคอมพิวเตอร์
ปี 2559
9. วันที่ 11 เม.ย. 59 เรื่อง ผู้ผลิตบล๊อกแก้วชนิดใสรายเดียวในประเทศไทยกำหนดเงื่อนไขทางด้านราคาและการตลาดอย่างไม่เป็นธรรม
10. วันที่ 9 มิ.ย. 59 เรื่อง การปฏิบัติการค้าไม่เป็นธรรมในธุรกิจน้ำแข็ง จ.อำนาจเจริญ
ส่วนกระบวนการดำเนินการอยู่ในขั้นตอนใดนั้น สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลลับ ซึ่งมีระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับทางราชการ พ.ศ. 2544 บังคับใช้อยู่ .