สปสช.น้อมรำลึก 'ในหลวง ร.9' ห่วงใยผู้สูงอายุไม่มีฟัน สู่ความสำเร็จ 'โครงการฟันเทียมพระราชทานฯ'
สปสช.น้อมรำลึก 'ในหลวง ร.๙' จากกระแสพระราชดำรัสห่วงใยผู้สูงอายุไม่มีฟัน สานพลังสู่ 'โครงการฟันเทียมพระราชทานฯ' 7 ปี ช่วยผู้สูงอายุทั่วประเทศเข้าถึงบริการใส่ฟันเทียม 2.58 แสนคน ลดปัญหาสุขภาพและโรคเรื้อรัง ยกระดับคุณภาพผู้สูงอายุไทย
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของ“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ทรงห่วงใยพสนิกรชาวไทย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และกระแสพระราชดำรัสความว่า “เวลาไม่มีฟันกินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง” ก่อให้เกิดการรวมพลังโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนิน “โครงการฟันเทียมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ตั้งแต่ปี 2548 ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้สูงอายุได้รับฟันเทียมเพื่อให้มีฟันบดเคี้ยวอาหารเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยหนึ่งในการทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เพื่อสนองตอบกระแสพระราชดำรัสให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการใส่ฟันเทียมอย่างทั่วถึง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงกำหนดให้บริการใส่ฟันเทียมเป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2551 และร่วมมือกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ดำเนิน “โครงการฟันเทียมพระราชทาน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา
จากการดำเนินการตั้งแต่ปี 2554 ถึง 30 มิ.ย. 2560 หรือประมาณ 7 ปี มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับการใส่ฟันเทียม ทั้งใส่ฟันเทียมบางส่วนและใส่ฟันเทียมทั้งปาก และยังครอบคลุมถึงผู้ที่อายุต่ำกว่า 60ปี ที่จำเป็นต้องใส่ฟันเทียม โดยมีผู้ที่ได้รับการใส่ฟันภายใต้โครงการทั้งสิ้น 433,538 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 258,193 คน และผู้ที่ต่ำกว่า 60 ปีจำนวน 175,345 คน
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติครั้งที่ 7 พ.ศ. 2555 ของกรมอนามัย พบว่า ผู้สูงอายุที่มีฟันน้อยกว่า 20 ซี่ คิดเป็นร้อยละ 42.2 มีการสูญเสียฟันทั้งปากลดลงจากร้อยละ 8.2 เหลือร้อยละ 7.2 และความต้องการใส่ฟันเทียมทั้งปากลดลงจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2.5 แต่ด้วยจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉลี่ยประเทศไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 200,000 คน ทำให้มีผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใส่ฟันเทียมทั้งปากเพิ่มขึ้นอีกเฉลี่ยปีละ 5000 คน จากปี 2555- 2560 เมื่อคิดคำนวณเป็นจำนวนผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใส่ฟันเทียมทั้งปาก จึงยังมีจำนวนสูงถึง 236,000 ราย
ด้วยความร่วมมือร่วมใจของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงความร่วมมือจากคณะทันตแพทยศาสตร์ 9 สถาบัน ได้แก่ 1) คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล 2) คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3) คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ 4) คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ 5) คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.รังสิต 6) คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ 7) คณะทันตแพทย์ศาสตร์ ม.นเรศวร 8) คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น และ 9) คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ และการสนับสนุนจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ทำให้ผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใส่ฟันเทียมทั้งปากหรือด้านใดด้านหนึ่ง(ด้านบนหรือล่าง) ได้รับบริการนับแต่ปี 2554 ถึงสิงหาคม 2560 จำนวน 227155 คน หรือมากกว่าร้อยละ 95 ของที่คาดการณ์ นับแต่นี้ไป ผู้สูงอายุที่มีความจำเป็นต้องใส่ฟันเทียมทั้งปาก น่าจะได้รับบริการที่รวดเร็ว ไม่ต้องรอคิวนาน
“การสูญเสียฟันบดเคี้ยวอาหารนับเป็นสาเหตุสำคัญที่นำมาสู่ปัญหาสุขภาพและโรคเรื้อรังต่างๆ ในผู้สูงอายุ โดยองค์การอนามัยโลกให้ข้อเสนอแนะว่าหากลดปัจจัยเสี่ยงและป้องกันโรคเรื้อรังได้จะทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและอายุยืนยาวขึ้น จากกระแสพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงใส่ใจต่อปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง สปสช.จักได้น้อมนำมาปฏิบัติสู่ความสำเร็จให้ผู้สูงอายุได้รับบริการใส่ฟันเทียมอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว โดยประชาชนชาวไทยทุกคนขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านทรงห่วงใยต่อพสกนิกรไทยอย่างหาที่สุดมิได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว