รักษ์น้ำ The Journey “สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย”
“ตลอดการทรงงาน 70 ปี ท่านสอนเราไว้เยอะพอแล้ว มีบทเรียนเพียงพอแล้ว จะบอกว่า ไม่ทราบไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่ได้เเล้ว วันนี้ท่านเหนื่อย ท่านจากเราไปแล้ว เหลืออย่างเดียว คือต้องสานต่อที่พ่อทำ พ่อทำด้วยมือมา70 ปีเเล้ว เรามารับช่วงจากพ่อของเรา ทำให้ใคร จะทำให้พ่อเราหรือ พ่อไม่อยู่รอให้เราแล้ว เราทำให้ตัวเรา ให้มีชีวิตรอดต่อไป และอย่าลืมว่ามีคนรอรับมรดกต่อจากเรา นั่นคือความยั่งยืน” ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
“งานยังไม่เสร็จ งานยังไม่เสร็จ งานยังไม่เสร็จ” คำบอกเล่าของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ถึงพรสุดท้ายที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ทรงมอบให้ในช่วงเข้าเฝ้าตอนท่านประชวร
ดร.สุเมธ ยังเล่าว่า “ตอนนั้นผมอายุ 72ปี ท่าน84ปี ห่าง12 ปี พระราชทานพรสุดท้าย ผมนึกว่าเป็นคำพร ที่แท้คือคำสั่งเสีย คำสุดท้ายที่พ่อสั่งไว้ คือ งานยังไม่เสร็จ ท่านตรัสถึงสามครั้ง ผมคิดว่า ท่านสั่งเสียประชาชนคนไทยทุกคน ไม่ใช่แค่ผมคนเดียว งานนั่นคืองานรักษาแผ่นดิน และส่งต่อให้ลูกหลาน ในสภาพที่เขาสามารถใช้ประโยชน์ได้”
เพราะน้ำคือชีวิต
ดร.สุเมธ กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 รับสั่งไว้ว่า “น้ำคือชีวิต” พอมานั่งทบทวนดีๆ แล้ว มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะภูมิภาคไหนก็ตาม เราเกิดในน้ำ เราอยู่ในท้องแม่เก้าเดือน แช่น้ำอยู่ มนุษย์นั้นแปลกประหลาด ไม่ใช่มนุษย์บก แต่คือมนุษย์น้ำ เราอยู่ในน้ำเก้าเดือนไม่รู้อยู่ได้ยังไง พอออกมาจากท้องแม่มาสิ่งแรกที่ทำคือเอาเราไปอาบน้ำก่อน พอชีวิตโตมา สิ่งแรกที่เราทำต้องเข้าห้องน้ำ อาบน้ำ ก่อนนอนยังเข้าห้องน้ำ เกิดแก่เจ็บตายเกี่ยวพันกับน้ำทั้งสิ้น จะแต่งงานก็ยังเอาน้ำมารด ตายก็เอาน้ำมารด
ประเด็นคือ เมื่อทุกคนมีความจำเป็นต้องใช้น้ำ แล้วน้ำจะมาจากไหน ดร.สุเมธตั้งคำถามให้ชวนคิดต่อ
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา อธิบายว่า เวลาเราพูดเรื่องต้นไม้ เรื่องน้ำ แท้จริงเรากำลังพูดเรื่องชีวิตเรา หากไม่น้ำไม่มีดิน ไม่มีอากาศ จะมีอะไรมากองบนโต๊ะให้เรากินไหม
“ตอนนี้อายุ 79 ปี ในสมัยเรียนประถม ประเทศไทยมีประชากรทั้งสิ้น 18 ล้านคน ตอนนี้กระโดดไปจะ 70 ล้านคนแล้ว คนที่อายุสมัย 18 ล้านยังไม่ตายก็เยอะ ถามว่าแผ่นดินใหญ่ขึ้นไหม ก็ไม่ ยิ่งเล็กลง ป่าถูกทำลายมากขึ้น น้ำไม่พอ ความเจริญแผ่ออกไป น้ำน้อยลง แต่คนเพิ่ม 5 เท่า การมีศึกษาบอกว่าโลกรองรับคนได้เพียง 1,500 ล้านคนเท่านั้น หมายความว่าประเทศจีนประเทศเดียว แต่วันนี้โลกมีคน 7,400 กว่าล้านคน” ดร.สุเมธ กล่าว และว่า สหประชาชาติเพิ่งประกาศว่า 30 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มถึง 9,000 ล้านคน ในขณะที่หิมะเริ่มละลาย น้ำเริ่มท่วม วันนี้อเมริกา น้ำท่วมหมดเเล้ว แม้กระทั่ง แท็กซัส ไม่มีอะไรจะชนะธรรมชาติได้ ธรรมชาติอยู่เหนือเรา เมื่อโลกเล็กลง ประชากรมากขึ้น ทศวรรษหน้าจะมีสงครามแบบใหม่เกิดขึ้น ไม่มีแล้วสงครามแย่งน้ำมัน ต่อไปจะแย่งน้ำ
ฉะนั้น นี่คือความเป็นจำเป็นที่เราต้องรักษาน้ำ
สานต่องานที่พ่อทำ
ดร.สุเมธ กล่าวว่า เรายังรักษาแผ่นดินนี้ เหมือนที่ในหลวงร.9 รักษาไว้ 70 ปี ในชีวิต ร่างกายคนไม่มีใครทนได้ที่ทำงานตลอด70 ปี สร้างปัจจัยแห่งชีวิตของเราให้กลับคืนขึ้น ป่าที่เคยหายไปกลับมา ดินพังทลายแล้วก็ฟื้นฟูกลับมาอีก น้ำเสียแล้วตามไปบำบัดให้เราอีก ประเด็นสำคัญ 70 ปี ท่านสอนเราไว้เยอะพอแล้ว มีบทเรียนเพียงพอแล้ว จะบอกว่า ไม่ทราบไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่ได้เเล้ว วันนี้ท่านเหนื่อย ท่านไม่ไหวแล้ว ท่านจากเราไปแล้ว เหลืออย่างเดียว คือต้องสานต่อที่พ่อทำ
“พ่อทำด้วยมือมา70 ปีเเล้ว เรามารับช่วง จากพ่อของเรา ทำให้ใคร จะทำให้พ่อเราหรือ พ่อไม่อยู่รอให้เราแล้ว เราทำให้ตัวเรา ให้มีชีวิตรอดต่อไป และอย่าลืมว่ามีคนรอรับมรดกต่อจากเรา นั่นคือความยั่งยืน”
ยั่งยืนคือทำอย่างไร ดร.สุเมธ ขยายความหมายให้ฟังว่า คือให้เรามีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย และต่อเนื่องไปยังลูกหลาน ให้สบายอย่างไม่รู้จบ เรากำลังทำภารกิจอันยิ่งใหญ่ ความสำเร็จที่แท้จริงคือใครอยู่ตรงไหน ก็ให้ทำตรงนั้น ให้กลับคืนมาเพื่อตัวเอง ให้ลูกหลาน
กิจกรรม “รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย” ของเอสซีจี ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมต่อเนื่องที่ดำเนินการสานต่อภารกิจ สืบสานพระราชปณิธานการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในทั่วภูมิภาคของไทย ไม่ว่าจะเป็นที่ลำปาง นครศรีธรรมราช กาญจนบุรี และล่าสุดคือที่จังหวัดขอนแก่น
นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง กล่าวถึงแนวคิดการสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริว่า นับเป็นจุดเริ่มต้นของการบริหารจัดการน้ำของชุมชนในหลายๆ พื้นที่ เพราะฝายชะลอน้ำทำให้พื้นดินชุ่มชื้นและกักเก็บน้ำบางส่วนให้อยู่ในพื้นที่ได้นานที่สุด เมื่อมีน้ำและสามารถเก็บน้ำไว้ได้ ก็ทำให้เพาะปลูกได้ผลผลิตดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามมา เหมือนอย่างชุมชนต้นแบบในจังหวัดลำปางที่เอสซีจีได้พาไปเรียนรู้
ฝายสร้างชีวิต
ณ พื้นที่ตำบลม่วงหวาน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น มีลักษณะเป็นเนินเขาหิน ที่ประกอบไปด้วยลานหิน และป่าเต็งรัง (มีต้นไม้สำคัญ เช่น ไม้พะยูง ไม้แดง) และไม่ได้มีร่องน้ำไหลแบบภูเขาทางภาคเหนือ แต่เป็นน้ำที่ไหลหลากผ่านป่า ไร่นา เนินเขา มารวมกันในลำน้ำ แล้วไหลลงเรื่อยมาผ่านพื้นที่เกษตรของชุมชน โดยมีลำน้ำสาขาบางส่วนถูกบุกรุกไปทำเป็นแปลงนาข้าว ทำให้ลำน้ำไม่ต่อเนื่องกัน กลายเป็นเพียงคลองดักน้ำหลากที่กระจายตัวตามไร่นา แต่ยังมีลำน้ำเส้นหลักที่เชื่อมต่อกันจนไปลำห้วยยาง สระกูด และลงลำน้ำเชื่อมต่อไปบ้านคำแก่นคูณ
ชาวบ้านอาศัยน้ำตามฤดูกาล ทำให้ในช่วงฤดูแล้ง น้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร ชาวบ้านต้องอพยพหนีความแห้งแล้งไปนอกพื้นที่
นายธนวงษ์ กล่าวถึงการมาทำกิจกรรมที่ตำบลม่วงหวาน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมพลังสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อฟื้นคืนความชุ่มชื้นให้ป่าต้นน้ำของชุมชน ซึ่งจากนี้ทางชุมชนก็ได้ร่วมกันวางแผนที่จะจัดทำแก้มลิง และเชื่อมต่อระบบน้ำ เพื่อให้มีน้ำใช้ทำการเกษตรอย่างพอเพียงในอนาคตอีกด้วย ซี่งตรงตามแนวทางพระราชดำริ “หาน้ำให้ได้” “เก็บน้ำไว้ใช้” และ “ใช้น้ำให้เป็น”
นายประสาท จันทรวิเศษ ผู้ช่วยกำนัน หมู่ 2 บ้านสระกุด ต.ม่วงหวาน เล่าว่า เดิมทีเมื่อพูดถึงฝาย ชาวบ้านส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเป็นฝายกักเก็บน้ำไว้ใช้ ต่างคนต่างสร้างฝายกันเองตามภูมิปัญญาชาวบ้าน พอได้ไปเรียนรู้กับทางเอสซีจี จึงเกิดความเข้าใจ “ฝายชะลอน้ำ” รวมถึงเห็นประโยชน์ของการสร้างฝายชะลอน้ำ ซึ่งเป็นอีกแนวทางของการอนุรักษ์น้ำ ที่สามารถช่วยชะลอน้ำและเก็บกักความชื้น คืนความสมบูรณ์ให้น้ำใต้ดิน
“พอไปเห็นพื้นที่จังหวัดลำปาง ที่เคยเป็นเขาหัวโล้นแห้งแล้งสามารถกลับเป็นพื้นที่สีเขียวได้ ทำให้มีความหวัง อยากให้ป่าบ้านเรามีความอุดมสมบูรณ์ มีความชุ่มชื้นแบบเขาบ้าง ชาวบ้านจะได้ไปหาของป่าและมีรายได้เสริม ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในต.ม่วงหวาน ที่ชาวบ้านจะร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ ตั้งเป้า65ฝาย ในรูปแบบฝายฝายผสมผสาน (วัสดุธรรมชาติ) และจากนี้ผมก็จะรวมพลังชุมชนหาแนวร่วมต่อไป ”
นายพิชาญ ทิพวงษ์ ผู้ประสานงานลุ่มน้ำชี คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนป่า ภูถ้ำ ภูกระแต มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เสริมว่า พื้นที่อีสานส่วนใหญ่มีปัญหาน้ำแล้ง และปัญหาน้ำหลาก ต้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำเป็นภาพรวม ต้องศึกษาภูมิประเทศ เข้าใจปัญหา โดยพื้นที่ตำบลม่วงหวานควรเริ่มต้นจากทำฝายชะลอน้ำ หรือฝายชะลอความชุ่มชื้น สู่การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อย่างยั่งยืน
“สิ่งที่สำคัญต้องทำให้ชุมชนเห็นภาพรวมร่วมกัน รู้ว่าเขาทำแล้วได้อะไร ให้ความรู้ความเข้าใจเขา เชื่อว่าองค์ความรู้และประสบการณ์จากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในการทำผังน้ำ การสำรวจเส้นทางน้ำ และวิเคราะห์ตัวเลขการใช้น้ำ จะช่วยเหลือให้ต่อยอดไปสู่การพัฒนาการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในอนาคต” นายพิชาญกล่าว
ก้าวต่อไปเพื่อลูกหลาน
จากที่ได้นำตัวแทนชุมชนและเยาวชนคนรุ่นใหม่ของจังหวัดขอนแก่น กาญจนบุรี และนครศรีธรรมราช ไปศึกษาเรียนรู้ชุมชนที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างฝายชะลอน้ำที่จังหวัดลำปาง และแนวทางการสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริจากศูนย์การศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้มีความรู้แล้วนำกลับมาดำเนินการต่อในพื้นที่บ้านเกิดตัวเอง
ตั้งแต่ปี 2550 ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ป่ารอบโรงงานปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) ภายใต้โครงการ “SCG รักษ์น้ำ…เพื่ออนาคต” และขยายผลไปสู่อำเภออื่นๆ ในจังหวัดลำปาง รวมถึงจังหวัดอื่นๆ อาทิ เชียงใหม่ แพร่ น่าน ระยอง กาญจนบุรี ราชบุรี สระบุรี ขอนแก่น และนครศรีธรรมราช
ในปี 2559 เอสซีจีได้ร่วมกับชุมชนเครือข่ายโครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต” ทั่วประเทศ สานต่อการสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริให้ครบ 70,000 ฝาย ซึ่งทำให้ปัจจุบันมีเครือข่ายชุมชนในโครงการฯ มากกว่า 80 ชุมชน ใน 12 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาค
การเดินทางของ “รักษ์น้ำ The Journey” ยังไม่จบเพียงเท่านี้ แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่เอสซีจีสนับสนุนจุดประกายชุมชนต่างๆ ในประเทศไทย ส่งเสริมสร้างความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากรในชุมชน เสริมความเข้มแข็ง สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนต่อไป