ยลนิทรรศน์ ‘ศาสตรา สถาปัตย์:พระเมรุมาศฯ’ สะท้อนเอกลักษณ์ชาติ งานชั้นครู
กรมศิลปากร จับมือ ก.วัฒนธรรม ม.ศิลปากร จัดแสดงนิทรรศการ ‘พระเมรุมาศ’ ศิลปกรรม-สถาปัตยกรรม ชั้นครู สะท้อนเอกลักษณ์ชาติ ชมฟรีถึง ม.ค. ปี 61
หุ่นจำลองพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สีเหลืองทองอร่าม ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ขนาด 1:50 เป็นหนึ่งในไฮไลท์ที่ถูกจัดแสดงไว้ในนิทรรศการครั้งประวัติศาสตร์ของชาติ ที่ชื่อว่า “ศาสตรา สถาปัตย์:พระเมรุมาศ จุดเชื่อมจักรวาล และการออกแบบ” ณ ห้องแกลอรี่ ชั้น 1 อาคารส่วนหลัง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center:TCDC) อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก
ทั้งนี้ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ศิลปะวิทยาการ และความคิดสร้างสรรค์ ทางด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมไทย ผ่านกรณีศึกษาพระเมรุมาศ และพระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมชั่วคราวในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ซึ่งจะสามารถสะท้อนถึงเอกลักษณ์และวัฒนธรรม เพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาความคิดเชิงสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต
บรรยากาศ โซนที่ 1 คติจักรวาลและงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทย
ที่ผ่านมา การออกแบบพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (สมเด็จครู) ได้รับการยกย่องเป็นต้นแบบ เนื่องจากพระองค์ทรงออกแบบพระเมรุและพระเมรุมาศหลายหลังตามหลักสถาปัตยกรรมไทย โดยเฉพาะพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ได้รับการยกย่องว่างดงามมากที่สุด
ส่วนพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงบุษบก 9 ยอดได้รับการออกแบบโดย นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ซึ่งเป็นผู้ได้รับการถ่ายทอดวิชามาจาก พล.ต.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติ ผู้เคยออกแบบพระเมรุมาศ 3 ครั้ง ได้แก่ พระเมรุสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
หุ่นจำลองพระเมรุมาศ ขนาด 1:50
รศ.ดร.ชัยสิทธิ์ ด่านกิตติกุล คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร ระบุถึงกระบวนการทำงานด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมการก่อสร้างพระเมรุมาศอย่างภาคภูมิใจ และอยากให้ประชาชนได้เห็นและเกิดความภาคภูมิใจเช่นกัน เพราะงานเหล่านี้ถือเป็นศิลปะ ที่ใช่ว่าใครจะทำก็ได้ เพราะเป็นงานละเอียด และแต่ละยุคสมัยการออกแบบก่อสร้างแตกต่างกัน ต้องมีสัดส่วนเหมาะสม สอดคล้อง และทำงานในระยะเวลาสั้น ฉะนั้นศิลปะแขนงนี้จึงรวมไว้ซึ่งความสุดยอด
สำหรับการจัดนิทรรศการครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 4 โซน ดังนี้
โซนที่ 1 คติจักรวาลและงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทย นำเสนอความเชื่อทางศาสนาและคติจักรวาล ที่เป็นพื้นฐานในการจัดผังของสถาปัตยกรรมไทย โดยจัดให้มีการฉายภาพเคลื่อนไหวของจักรวาลผ่านแบบจำลองพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ที่มีแกนกลางเป็นเขาพระสุเมรุ และมีสัตตบริภัณฑคีรีล้อมรอบ ซึ่งถือได้ว่า เป็นสถาปัตยกรรมไทยที่สะท้อนการวางแผนผังตามหลักคติจักรวาลได้อย่างสมบูรณ์ ตลอดจนมีการจัดแสดงหุ่นจำลองพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพ ร.9 ขนาด 1:50 และเนื้อหาการจัดสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบจากกรมศิลปากร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางหลักวัสดุและเทคโนโลยีการก่อสร้างในรัชกาลก่อน
แบบจำลองพระปรางค์วัดอรุณฯ
โซนที่ 2 โรงขยายแบบเท่าจริง ศิลปกรรม และศิลปสำหรับงานสถาปัตยกรรม โดยจำลองบรรยากาศโรงขยายแบบ หรือวิธานสถาปกศาลา พร้อมวัสดุอุปกรณ์ออกแบบและการขยายลาย รวมไปถึงจัดแสดงแบบร่างมือเท่าขนาดจริง (1:1) ในส่วนงานสร้างพระเมรุมาศ และอาคารประกอบ นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอศิลปะต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมชั่วคราวในงานพระราชพิธีฯ ด้วย เช่น ศิลปะการซ้อนไม้ ศิลปะการฉลุผ้าทองย่น สาบสี สอดแวว แทนการประดับกระจกสีสมัยโบราณในอาคารถาวร
วิธานสถาปกศาลา
ลายท้องเเท่นฉัตร
เเบบพระเมรุมาศเเละอาคารประกอบ
โซนที่ 3 ครูสร้างนักออกแบบให้เป็นคน บอกเล่าแนวคิดและวิถีการถ่ายทอดความรู้จากครูด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม เป็นแรงบันดาลใจให้ศิษย์ ผู้เป็นกลุ่มสถาปนิกอยู่เบื้องหลังการทำงานออกแบบและปฏิบัติการสร้างพระเมรุมาศ ให้เกิดการสร้างสรรค์ในการพัฒนาความรู้ไปสู่กระบวนการทำงาน การใช้ชีวิต และสืบทอดงานศิลป์สู่คนรุ่นหลัง
พล.ต.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น
โซนที่ 4 เวิร์กช้อปตามรอยสถาปัตย์ไทย โดยเปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถศึกษาลักษณะการทำงานด้านจิตรกรรม ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมตามรอยศิษย์มีครู ด้วยการฝึกเขียนแบบร่างลายไทยเบื้องต้น การทำตบสี
ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ฟรี ตั้งแต่วันนี้ -7 ม.ค. 2561 เวลา 10.30-21.00 น. วันอังคาร-อาทิตย์ (ปิดทุกวันจันทร์) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2105-7441 .
ศิลปะการฉลุผ้าทองย่น สาบสี สอดแวว
ศิลปะการตบสี