ชาวบ้านอุดรฯฉะ กพร.จัดเวทีแหกตา ฉวยโอกาสรังวัดเอื้อโปรเจ็คเหมืองโปแตซ
กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯโวยกรมเหมืองแร่ฯ ตระบัดสัตย์จัดเวทีแหกตาสร้างการมีส่วนร่วม ฉวยโอกาสปักหมุดรังวัดโปรเจ็คยักษ์เหมืองแร่โปแตซเอื้อบริษัท ไม่ผ่านเอสอีเอ หนำซ้ำจัดตั้งมวลชนปะทะในพื้นที่ เกรงรุนแรงบานปลาย นักสิทธิมนุษยชนอีสานท้า กพร.จริงใจรีบเปิดเผยข้อมูลเหมืองโปแตซอีสานทั้งหมด
วันที่ 31 ต.ค. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีประมาณ 300 คน ยังคงปักหลักชุมนุมเป็นวันที่สอง โดยกระจายกำลังกันตรึงพื้นที่ในเขต ต.ห้วยสามพาด ต.นาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม และ ต.หนองไผ่ ต.โนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเมืองแร่(กพร.) ได้ทำหนังสือแจ้งว่าจะลงมาปักหมุดรังวัดสำรวจขอบเขตพื้นที่เหมืองแร่โปแตซระหว่างวันที่ 30 ต.ค.-1 พ.ย. โดยวันนี้เกิดการปะทะกันระหว่างชาวบ้านกลุ่มที่คัดค้านกับอีกกลุ่มที่เห็นด้วยกับการทำเหมืองโปแตซประมาณ 70 คน
สืบเนื่องจากกรณีที่ กพร.จัดประชุมชี้แจงการขออนุญาตประทานบัตรตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2(ประเภทโครงการรุนแรง) ที่โรงแรมเซ็นทาราโฮเต็ลแอนด์คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ จ.อุดรธานี วันที่ 29 ต.ค. โดยระบุว่าเป็นการชี้แจงแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์โครงการเหมืองแร่โปแตซ(เอสอีเอ) และขั้นตอนการขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน โดยมีชาวบ้านประมาณ 1,500 คนจาก 4 ตำบลเข้าร่วม และนายสมเกียรติ์ ภู่ธงชัยฤทธิ์ อธิบดี กพร.ได้กล่าวย้ำถึงแนวทางต่อไปที่ต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน รวมทั้งความร่วมมือกับนักวิชาการในการศึกษาและทำเอสอีเอ และเปิดเวทีประชาคมในพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นชาวบ้าน แต่บ่ายวันเดียวกันชาวบ้านกลับได้รับหนังสือแจ้งจาก กพร.ว่าจะเข้ามาปักหมุดรังวัด ทำให้กลุ่มอนุรักษ์ฯ ออกมาคัดค้านว่าไม่ชอบธรรม ลัดขั้นตอน และขัดกับการชี้แจงในที่ประชุมอย่างสิ้นเชิง โดยเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทผู้ขอสัมปทาน(บริษัทเอเชียแปซิฟิกโปแตซโคเปอเรชั่น จำกัด)
ด้านนายปัญญา โคตรเพชร แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า การประชุมชี้แจงเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการทำงาน ยังไม่ถือเป็นเวทีประชาคมรับฟังความเห็นชาวบ้าน แต่ กพร.กลับฉวยโอกาสใช้สร้างภาพเพื่อความชอบธรรมในการลงมาปักหมุดรังวัด ที่สำคัญได้ใช้มวลชนจัดตั้งมาปะทะกับชาวบ้านที่คัดค้าน ซึ่งอาจเป็นการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง
“กพร.จัดเวทีครั้งนี้เกณฑ์คนมาเป็นจำนวนมาก หวังผลให้เกิดความคืบหน้าคือการรังวัดปักหมุด ซึ่งจะเกิดความรุนแรงแน่นอน อย่างไรก็ตามกลุ่มอนุรักษ์ยืนยันที่จะต่อสู้เพื่อขัดขวาง” นายปัญญา กล่าว
นายปัญญา โคตรเพชร ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มอนุรักษ์ฯได้เฝ้าระวังพื้นที่ไม่ให้มีการรังวัดปักหมุด และเกิดปัญหาขัดแย้งมาโดยตลอดเนื่องจากการทำผิดขั้นตอนของ กพร.ถึงขั้นที่บริษัทเหมืองแร่ฟ้องร้องชาวบ้าน 5 คน แต่ศาลยกฟ้องเพราะชาวบ้านต่อสู้ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องชุมชนสิ่งแวดล้อมจากโครงการรุนแรง
ส่วนนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพภาคอีสาน(ศสส.) กล่าวว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับ กพร.ที่ดึงดันจะเข้ามารังวัดโดยไม่ฟังเสียงชาวบ้าน กระทั่งมีการผลักดันเรื่องการทำเอสอีเอโดยมีนักวิชาการและนักพัฒนาเอกชนสิบกว่าคนเข้าร่วมเพื่อหาทางออกเรื่องเหมืองแร่โปแตซในอุดรฯ ทั้งนี้ กพร.เองก็รับปากว่าจะหยุดทุกกระบวนการผลักดันโครงการจนกว่าจะทำเอสอีเอเสร็จ แต่การกระทำล่าสุดทำให้ กพร.ขาดความน่าเชื่อถือและจะกลายเป็นผู้สร้างความรุนแรงในพื้นที่เสียเอง
“วันนี้มันเหมือนการปล้นหรือลักไก่เข้ามารังวัดโดยไม่ชอบธรรม ล่าสุดชาวบ้าน 300 คนกำลังตรึงพื้นที่ ขณะที่ กพร.มากับตำรวจและมีชาวบ้านอีกกลุ่มประมาณ 70 คน จึงเกิดการปะทะระหว่างชาวบ้าน 2 กลุ่ม มีด่าทอตบตี กระชากคอ ตอนนี้เพิ่งเริ่มต้น ต่อไปจะรุนแรงขึ้น” นายสุวิทย์ กล่าว
นายสุวิทย์ ยังกล่าวว่า ตนจะขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้ามาประสานให้ กพร.เปิดเวทีชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น รวมทั้งขั้นตอนกระบวนของโครงการทำเหมืองแร่โปแตซในอีสานทั้งหมดอย่างโปร่งใส และหาก กพร.ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการมีความจริงใจจริงต้องทำได้ จะเรียกว่าเป็นเวทีประชาคมก็ได้ แต่ไม่ขอให้มีการผูกมัดทางกฏหมายใดๆเพราะกลัวชาวบ้านโดนหลอกอีก
ทั้งนี้สถานการณ์ล่าสุดในพื้นที่ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีประมาณ 300 คนกระจายกำลังกันตรึงพื้นที่ 8-9 บริเวณที่ถูกระบุว่าจะมีการเข้ามารังวัด ขณะที่เจ้าหน้าที่ กพร.พยายามเข้ามารังวัด โดยในพื้นที่ อ.ประจักษ์ศิลปาคม มีตำรวจ 4 คันรถพยายามกันชาวบ้านออกจากจุดที่จะมีการรังวัด รวมท้ั้งมี อส.และ อพปร. 30 คนพยายามคุ้มกันเจ้าหน้าที่ กพร. และสามารถปักหมุดไปได้บ้างในพื้นที่ ต.หนองไผ่.