กรธ. ส่ง ร่าง พ.ร.ป.ปราบโกง ให้ ป.ป.ช. ดูเนื้อหา
กรธ. ส่ง ร่าง พ.ร.ป.ปราบโกง ให้ "ป.ป.ช." ดูเนื้อหา พร้อมปรับหากมีเหตุผล แจง ปมให้อำนาจ "สตง." สอบ จนท. ป.ป.ช. เพื่อถ่วงดุล แต่ไม่แย่งอำนาจ
12 ต.ค. 2560 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่าขณะนี้ กรธ. ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้กับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้พิจารณาเนื้อหา รวมถึงเสนอความเห็นเพิ่มเติมหรือข้อแก้ไขเนื้อหา โดยคาดว่าสัปดาห์หน้า กรธ.จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมมาทบทวนเนื้อหาร่าง พ.ร.ป.ปราบปรามการทุจริตได้ ส่วนกรณี ป.ป.ช. มีข้อทักท้วงต่อระยะเวลาตรวจสอบทุจริต ที่กำหนดกรอบให้เสร็จภายใน 2 ปี นั้น หาก ป.ป.ช.มองว่าไม่สามารถทำคดีได้ทัน อาจเสนอเวลาที่เหมาะสมได้ และหากเป็นประเด็นที่มีเหตุผลสมควร กรธ.พร้อมแก้ไขให้
"ส่วนใหญ่ข้อเสนอของหน่วยงานหากมีเหตุผลอันสมควรเราก็แก้ไขให้ ยกเว้นบางเรื่องที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ส่วนระยะเวลา 2 ปีนั้น ที่จริง กรธ. เขียนให้ขยายเวลาได้ แต่ต้องแจ้งต่อสาธารณะ ไม่ใช่ปล่อยเรื่องเงียบหายไป และในหน้าที่ตรวจสอบทุจริตนั้น กรธ.เขียนให้ ป.ป.ช.สามารถมอบบางเรื่องให้หน่วยงานต้นสังกัดทำได้ เช่น ถูกร้องเรื่องใช้รถหลวงส่งลูกเมีย สามารถส่งให้กระทรวงพิจารณาได้ แทนที่ป.ป.ช.จะทำเองทุกเรื่อง" นายมีชัย กล่าว
นายมีชัย กล่าวด้วยว่า ส่วนประเด็นการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ที่ถูกร้องเรียน ที่กำหนดให้ส่งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุล ไม่ใช่การแย่งอำนาจ เพราะหากมีเรื่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. แล้วให้เจ้าหน้าที่ในองค์กรเดียวกันตรวจสอบอาจมีปัญหาได้ ส่วนที่กำหนดให้ส่ง สตง. ตรวจสอบนั้น ไม่ได้ยกอำนาจให้ สตง. เพราะ สตง. มีอำนาจเพียงตรวจสอบข้อเท็จจริง ขณะที่การพิจารณาหรือลงโทษ ยังเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.