ย้อนเวลา 13 ตุลาฯ 59 คนไทยบอกเล่าอะไร ผ่านทวิตเตอร์
การรีทวิต ข้อความทางทวิตเตอร์ ที่ถูกรีทวิตมากที่สุด กว่า 1 แสนรีทวิต คือ ข้อความว่า "ตอนสมเด็จย่าพระประชวร พระองค์มาเล่าให้ลูกๆฟังว่า สมเด็จย่าเคยรับสั่ง ตายแล้วห้ามร้องไห้ เพราะเป็นของธรรมดา คนเราก็ต้องตาย"
"ผมมาจากฝั่งตรงข้าม ตรงข้ามนิเทศศาสตร์ หรือเรียกว่า ผมมาจากอีกโลกที่แข็งกระด้างมาก" ผศ.ดร.สุกรี สินธุภิญโญคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอมุมมองระหว่างร่วมเวทีของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งจัดงานเสวนา“สถิตอยู่ในใจตราบนิรันดร์ ความผูกพันของคนไทย จากสมเด็จย่าสู่ในหลวงรัชกาลที่ 9” ณ ศูนย์ประชุม ศ.บำรุง สุข สีหอำไพ ชั้น 10 ห้อง 1001 อาคารมงกุฏสมมติวงศ์
ซึ่งในเวทีดังกล่าว มีการนำเสนอผลงานเรื่อง ข่าวการสวรรคตของสมเด็จย่าผ่านหนังสือพิมพ์จากสามัญชนสู่พระราชมารดา โดย ดร.ประภัสสร จันทร์สถิตย์พร คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ คนไทย 4.0 กับความระลึกถึงในความโศกเศร้าเปิด Social Listening แล้วเราจะรู้ว่าคนไทยรักพ่อหลวงเพียงใด โดย ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ Dr.Mattew Philips Aberystwyth University, UK และคุณกล้า ตั้งสุวรรณ บริษัท Thoth Zocial (อ่านประกอบ:เปิดงานวิจัยโลกโซเชียล กับเสียงสะท้อน “คนไทยรักพ่อหลวง”)
ผศ.ดร.สุกรี ยอมรับถึงการได้ร่วมเวทีกับนักนิเทศศาสตร์ ทำให้เขาได้รับรู้ถึงประเด็นปลีกย่อย ที่ทางฝั่งวิศวะจะมองแค่ฮาร์ดแวร์แข็งๆ แต่การอยู่กับนิเทศศาสตร์ เหมือนเราเอาฮาร์ดแวร์ไปต่อเชื่อมกับมนุษย์ เข้าใจความเป็นมนุษย์
"มีงานวิจัยของนางสาวอารยา พุดตาล นิสิตปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อยู่ชิ้นหนึ่ง ชื่อ การวิเคราะห์ทวิตเตอร์ในเหตุการณ์สวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่เข้าไปศึกษาปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ในโลกโซเชี่ยลมีเดีย ทั้งเฟชบุ๊ค และทวิตเตอร์ ขณะที่งานวิจัยของผศ.พิจิตรา และคณะ วิจัยนั้น ทำให้ผมเห็นช่วงต่างๆ ของปรากฎการณ์ เช่น ช่วงที่ไม่มีใครพูดอะไรเลย ช่วงของความเศร้าโศกเสียใจ และช่วงระลึกถึง"
ผศ.ดร.สุกรี ชี้ว่า โดยทั่วๆ ไป การบันทึกประวัติศาสตร์ ส่วนใหญ่ค่อนข้างเป็นทางการ จากหน่วยงานที่รับผิดชอบ จากคนที่มีความรู้ แต่การใช้โซเชี่ยลมีเดียหรือสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อช่วงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สวรรคตถือได้ว่า เป็นเหตุการณ์ใหญ่ครั้งแรกที่โซเชี่ยลมีเดีย เข้ามามีบทบาทในการบันทึกเรื่องราวการสวรรคต
งานวิจัยของนางสาวอารยา ก็พบข้อมูลคล้ายๆ กัน โดยมีการไปดึงข้อมูลจากย้อนหลัง ไม่ได้ศึกษาช่วงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ วันนั้น
การวิเคราะห์ทวิตเตอร์ในเหตุการณ์สวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 พบว่า การรีทวิต ข้อความทางทวิตเตอร์ ที่ถูกรีทวิตมากที่สุด กว่า 1 แสนรีทวิต คือ ข้อความว่า
"ตอนสมเด็จย่าพระประชวร พระองค์มาเล่าให้ลูกๆฟังว่า สมเด็จย่าเคยรับสั่ง ตายแล้วห้ามร้องไห้ เพราะเป็นของธรรมดา คนเราก็ต้องตาย"
นี่คือสิ่งที่พบ และด้วยข้อมูลดิบที่หยาบกระด้างมากๆ ผศ.ดร.สุกรี บอกว่า "หากผมรู้ ผมจะรวมข้อมูลดิบกับช่วงเวลาของคนไทย ว่า ข้อความที่ทวิต และถูกรีทวิต อยู่ในช่วงที่คนไทยปลอบใจกัน ช่วงที่เราช่วยเหลือกันหลังกลับมาจากสถานการณ์ ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่เคยมองเห็นข้อมูลแบบนี้ในวงวิศวกรรมศาสตร์"
ผศ.ดร.สุกรี ชี้้ให้เห็นงานวิจัยของนิสิตปริญญาโท ก็พบหลายอย่างในทำนองคล้ายกัน โดยพบว่า วันที่ 13 ตุลาคม 2559
- Hashtag (#) ที่ถูกรีทวิตมากที่สุดคือ #เรารักในหลวง ถึง 10 ล้านรีทวิต (นับถึงวันที่เก็บข้อมูล 1 ตุลาคม - -31 ธันวาคม 2559)
- วันที่ 14 ตุลาคม 2559 วันที่เรากำลังเล่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับพระองค์ ข้อความที่ถูก Hashtag คือคำว่า #KingBhumibol จำนวน 6.3 ล้านรีทวิต
นอกจากนี้ยังมี Hashtag อื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น คำว่า #ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป #ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป รวมกันกว่า 6 ล้านรีทวิต
เนื่องจาก ทวิตเตอร์อาจเป็นสื่อที่เร็วที่สุด ตอบสนองเร็วที่สุดต่อสถานการณ์ ผู้ทำวิจัยยังได้ไปดูข้อมูลเป็นรายชั่วโมงของวันที่ 13 ตุลาคม 2559 พบข้อความที่ถูกรีทวิต และเป็น Hashtag ที่สูงที่สุด เกิดขึ้นในตอนสองทุ่ม คือ #เรารักในหลวง ควบคู่กับคำว่า #ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป
ผศ.ดร.สุกรี ระบุว่า ข้อมูลดิบเหล่านี้ บอกว่า คนไทยบอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างจากเหตุการณ์อื่นๆ อย่างมากมายในโลกใบนี้
และยังพบ มีจำนวนรีทวิต ที่ถูกรีทวิตสูงต่อเนื่องช่วง 13 -14 ตุลาคม 2559 และหายไป กลับมาอีกทีช่วงวันที่ 22 ตุลาคม 2559 พสกนิกรไทยหลั่งไหลเดินทางร่วมร้องเพลง 'สรรเสริญพระบารมี' ที่สนามหลวง Hashtag จะมีคำว่า #สรรเสริญพระบารมี
นี่คือ เหตุการณ์ที่คนบนโลกออนไลน์ร่วมกันบันทึกไว้
ทั้งนี้ ยังมีเหตุการณ์ย่อยๆ อีกมากมายที่ไม่ได้อยู่ในแถลงการณ์สำนักพระราชวังอย่างเป็นทางการ เช่น เหตุการณ์แปรอักษรถวายความอาลัย ขบวนช้างถวายความอาลัย เหล่านี้ ผศ.ดร.สุกรี เรียกว่า Small Trend หรือเทรนด์ย่อยที่เกิดขึ้น ซึ่งหากมองภาพใหญ่เราจะไม่เห็นสิ่งเรานี้
"มีหลากหลายความรู้สึกที่ผมคิดว่าคนไทยบอกเล่าผ่านทวิตเตอร์ เป็นงานที่บอกเล่าถึงสิ่งที่คนไทยอยากรู้"
อย่างไรก็ดี งานวิจัยชิ้นนี้ ยังได้นำข้อมูลดิบ มาจัดกลุ่ม เราพบ "คำ" "กลุ่มคำ" ที่คนไทยทวิต โดยการตัดคำ และนับคำ พบว่า คำที่คนไทยใช้กันมากๆ ในช่วงนั้นคือ
- พ่อ
- พระองค์
-รัก
-เกิด
อีกทั้ง มีการจัดกลุ่มคำ ออกมาได้หลายๆ กลุ่ม ด้วยเทคนิกทางด้านคอมพิวเตอร์ แบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม
1.เทวดา สวรรค์ สู่ กลับ บน เสด็จ สวรรคาลัย ท่าน พ่อ (กลุ่มที่แทนความรู้สึกในการส่งเสด็จ)
2.ร้องเพลง สรรเสริญพระบารมี สนามหลวง สรรเสริญ จุดเทียน ร้อง 22
3.พ่อ รัก ลูก ตลอดไป เหนื่อย ท่าน อยู่ในใจ คนไทย ทุกคน
4.ในหลวง พระองค์ ทรง ท่าน วันนี้ ใจ ร้องไห้
5.เกิด ภูมิใจ รัชกาลที่9 ลูก แผ่นดิน คนไทย
และนี่คือ "คำ" ที่คนไทยใช้กันมากๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ช่วงที่เราเศร้าโศก พร้อมกันทั้งแผ่นดิน..
ขอบคุณภาพจาก:http://www.chula.ac.th/