เชฟรอนนำทัพตามรอยพ่อ จัดกิจกรรม 'เอามื้อสามัคคี' ครั้งที่ 3
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผนึกกำลัง สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เดินหน้าจัดกิจกรรม 'เอามื้อสามัคคี' ครั้งที่ 3 ณ พื้นที่ของนายแสวง ศรีธรรมบุตร เครือข่ายโครงการฯ แห่งลุ่มน้ำชี เกษตรกรบ้านนาเรียง ผู้พลิกฟื้นผืนดินจากที่เป็นดินลูกรัง จนเป็นพื้นที่เขียวขจีอุดมสมบูรณ์ตามแนวทางศาสตร์พระราชา และพื้นที่เครือข่ายสภาคริสตจักรนาเรียง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี ภายใต้การดำเนินโครงการ "พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 5 เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชา ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สู่การลงมือปฏิบัติ และขับเคลื่อนความสำเร็จของโครงการฯ จากลุ่มน้ำป่าสักสู่ลุ่มน้ำอื่นๆ ด้วยความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง อย่างยั่งยืน
นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด แกนนำภาคเอกชนในการขับเคลื่อนโครงการฯ กล่าวว่า “จากจุดเริ่มต้นในการฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก วันนี้โครงการฯ ได้ขยายผลการแก้ไขปัญหาระดับลุ่มน้ำอย่างมีส่วนร่วมไปเกือบทั่วทุกลุ่มน้ำในประเทศไทยแล้ว ด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วน โดยโครงการฯ ในปีที่ 5 ได้ดำเนินงานภายใต้แนวคิด ‘แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี’ มีเป้าหมายจัดกิจกรรมตามแนวคิด ‘โคก หนอง นา’ โมเดล ใน 4 พื้นที่ ให้ป็นตัวแทนในแต่ละภาค
โดยครั้งแรกจัดขึ้นที่พื้นที่แปลงเกษตรสาธิต คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. ตัวแทนภาคกลาง เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้สำหรับการทำเกษตรในเมือง ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่ จ.ราชบุรี ตัวแทนภาคตะวันตก เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการขับเคลื่อนโครงการฯ สู่ลุ่มน้ำแม่กลอง ที่ได้แตกตัวและขยายผลอย่างต่อเนื่องจาก 16 รายมาเป็น 30 ราย สำหรับครั้งที่ 3 ซึ่งก็คือกิจกรรมในวันนี้ ที่ จ.อุดรธานี อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนโครงการฯ สู่ลุ่มน้ำชี ส่วนครั้งสุดท้ายจะไปที่ จ. เชียงใหม่ ในภาคเหนือ ทั้งนี้ ก็เพื่อสร้างตัวอย่างความสำเร็จในพื้นที่ที่มีความยากลำบากให้เห็นในแต่ละพื้นที่ และเป็นการพิสูจน์ว่าศาสตร์พระราชานั้นช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้จริง และจะเป็นหนทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้”
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวว่า “โครงการฯในปีที่ 5 นี้ เรานำภารกิจของการ ‘เอามื้อสามัคคี’ หรือ การลงแขกตามประเพณีดั้งเดิมของคนไทยมาเป็นกลวิธีในการขับเคลื่อน เพื่อประสานความสามัคคี เชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ ยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้จากการปรับปรุงพื้นที่ตามแนวทางศาสตร์พระราชาในสภาพภูมิสังคมที่แตกต่างกัน สอดคล้องกับแนวคิดหลัก ’แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี’ ซึ่งกิจกรรม ‘เอามื้อสามัคคี’ ที่จ.อุดรธานี ในครั้งนี้ ก็เป็นการ ‘แตกตัว’ ของโครงการฯ ที่ขยายผลจากลุ่มน้ำป่าสักไปยังลุ่มน้ำชี โดยกิจกรรมมี 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นกิจกรรมเอามื้อสามัคคีในพื้นที่ของนายแสวง ศรีธรรมบุตร เกษตรกรแห่งบ้านนาเรียง ด้วยการปลูกต้นดาวเรืองเป็นรูปเลขเก้าไทย (๙ ) เพื่อเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้พระราชทานแนวทางศาสตร์พระราชาแก่เกษตรกรไทย รวมถึงมีการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง การปลูกหญ้าแฝก และการหยอดเมล็ดถั่วเขียว ส่วนที่สอง เป็นกิจกรรมเอามื้อโดยร่วมกันทำฝายและซ่อมคันกั้นน้ำที่เสียหายจากพายุฝนที่คลองประชารัฐในพื้นที่เครือข่ายสภาคริสตจักรนาเรียงอีกด้วย”
ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. หนึ่งในภาคีเครือข่ายภาควิชาการที่ร่วมออกแบบในหลายพื้นที่ของโครงการฯ กล่าวว่า “คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. ได้เข้าร่วมโครงการฯ ด้วยการร่วมให้คำแนะนำและสอนวิธีการออกแบบพื้นที่ทำการเกษตรของเครือข่ายและประชาชนที่สนใจตามแนวทางศาสตร์พระราชาในรูปแบบ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ โดยคำนึงถึงขนาดของพื้นที่ ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ สภาพของดิน รวมถึงความต้องการ และกำลังทุนทรัพย์ของเจ้าของพื้นที่ ทำให้เกิดการยอมรับเป็น วงกว้างในแนวทางการจัดการน้ำที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยมุ่งหวังให้แต่ละพื้นที่สามารถเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาไว้ให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น สจล. ยังต่อยอดทำโครงการวิจัย ‘การออกแบบเชิงภูมิสังคมไทย การติดตามและประเมินผลเพื่อบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างมีส่วนร่วม’ ขึ้น ในนาม ‘ศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สจล.’ (ITOKmitl) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเชฟรอนตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา เพื่อจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบและเป็นมาตรฐานในทางวิชาการ ใน 3 พื้นที่ คือ จังหวัดลำปาง จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดตาก รวม 300 ไร่ โดยบ้านนาเรียง จ.อุดรธานี นั้น คือ หนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของโครงการวิจัยฯ จึงได้จัดแสดงวิธีการจัดเก็บตัวอย่างดิน น้ำ และการตรวจวัดสภาพอากาศ รวมทั้งเก็บภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อแสดงให้เห็นว่างานวิจัยชิ้นนี้ มีการจัดเก็บข้อมูลทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณที่ครอบคลุมทุกประเด็นสำคัญ ซึ่งจะช่วยยืนยันความสำเร็จของทฤษฎีการจัดการทรัพยากร ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมิทร-มหาภูมิพลอดุลยเดช ในการแก้ไขปัญหาครบทุกมิติได้”
ด้าน นายแสวง ศรีธรรมบุตร เครือข่ายโครงการฯ แห่งลุ่มน้ำชี เกษตรกรผู้พลิกฟื้นผืนดินที่เป็นหิน ให้กลายเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ จนได้รับฉายา “ลุงแสวงผู้มั่งคั่ง (ความสุข) แห่งลำน้ำปาว” ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาสำคัญของแม่น้ำชี กล่าวว่า “ผมเคยหมดหวังกับที่ดินของตัวเอง เพราะเป็นดินลูกรัง ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ถึงขนาดมีคนพูดว่าถ้าที่ดินลุงแสวงปลูกได้ ประเทศไทยก็ไม่จนหรอก เคยประกาศขายที่ราคาถูกก็ไม่มีใครซื้อ จึงไปอบรมเรื่องศาสตร์พระราชาที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง พอกลับมาบ้านนาเรียง รู้สึกร้อนวิชานอนไม่หลับลุกขึ้นมาตั้งแต่ตีสี่เพื่อไปขุดดินด้วยมือเปล่า เพราะที่ดินเป็นหินไม่สามารถขุดด้วยจอบได้ พอดีมีคนต้องการดินลูกรังเพื่อไปทำถนน เลยให้เขาขุดดินไปฟรีๆ แลกกับขุดบ่อน้ำให้ 9 บ่อ เพราะแต่ก่อนไม่รู้ว่าต้องเก็บน้ำอย่างไร เวลาฝนตกได้แต่มองดูน้ำไหลไปหมดภายในเวลาแค่ 30 นาที หลังจากนั้นเริ่มทำตามศาสตร์พระราชา ใช้เวลาแค่ปีกว่าจากผืนดินที่เป็นหินดินดานปลูกอะไรก็ตาย สามารถปลูกพืชผักผลไม้ได้อุดมสมบูรณ์ มีปลาเต็มบ่อ แม้แต่สตรอเบอรี่ยังสามารถปลูกได้ในเดือนเมษายน ที่สำคัญครอบครัวได้กลับมาอยู่อย่างพร้อมหน้ากับลูกชาย ลูกสะใภ้ เป็นครอบครัวที่อบอุ่นอีกครั้ง และในอนาคตก็หวังจะพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาการเกษตร เพื่อแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้ให้แก่ผู้สนใจต่อไป”
ทั้งนี้ กิจกรรม ‘เอามื้อสามัคคี’ ในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากทั่วประเทศกว่า 300 คน ได้แก่ เครือข่ายเอามื้อสามัคคีสภาคริสตจักรในประเทศไทย เครือข่ายชาวนาธรรมชาติธรรมธุรกิจ เยาวชนกสิกรรมธรรมชาติและคณะอาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. เครือข่ายลุ่มน้ำป่าสัก เครือข่ายลุ่มน้ำแม่กลอง กลุ่มอบรมออกแบบพื้นที่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล.(รุ่นที่1) กลุ่มลูกรัชดาโรงเรียนละหานทรายรัชดาภิเษกจังหวัดบุรีรัมย์ กลุ่มเยาวชนโรงเรียนบ้านโป่งเกตุจังหวัดสระบุรี อาจารย์และนักศึกษาคณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ และผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมสมัครผ่านทางเฟซบุ๊กของโครงการฯ
อนึ่ง โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน”ปี 5 ยังคงเดินหน้าเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่การลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ในอีก 1 พื้นที่ โดยกิจรรมครั้งถัดไปจะขึ้นในระหว่างวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2560 ที่วัดบรมธาตุดอยผาส้ม ต.ยั้งเมิน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ต้นแบบความสำเร็จของ “บวร” ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking