เปิดงานวิจัยโลกโซเชียล กับเสียงสะท้อน “คนไทยรักพ่อหลวง”
ปริมาณเนื้อหาพุ่งสูงสุดในวันที่ 14 ตุลาคม 2559 หลังวันการสวรรคต มีการแสดงออกด้วย Messages ถึง 6,425 ข้อความ คนไทยอยากโพสต์ อยากบอกความรู้สึกที่มีต่อพระองค์ จากนั้นค่อยๆ ลดลงเมื่อถึงวันทำงานวันที่ 17 ตุลาคม 2559 โดยช่วงนี้จะมีการติด Hashtag
13 ตุลาคม 2559 นับเป็นช่วงเวลาที่จิตใจคนไทยความอ่อนไหวมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติ กับข่าวการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดระยะเวลา 1 ปี การสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์ นับได้ว่า เป็นพื้นที่หนึ่งที่สามารถสะท้อนอารมณ์ ความยึดโยงของผู้คนที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยได้เป็นอย่างดี
ภาพสะท้อนเชิงอารมณ์ของสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงความโศกเศร้าดังกล่าว คณะผู้วิจัยประกอบด้วย ผศ.พิจิตรา สึ คาโมโต้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และดร.แมททิว ฟิลลิปส์ Aberystwyth University,UK และ บริษัท Thoth Zocial ได้ประยุกต์ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ Social Eyes เพื่อเข้าถึงบทสนทนาของคนไทยในสื่อสังคมออนไลน์ ระหว่างวันที่ 12-17 ตุลาคม 2559 ผ่านแพลตฟอร์มการพูดคุย ได้แก่ เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ยูทูป และเว็บไซต์ข่าวจากสำนักข่าวทุกสำนักข่าว
เราลองย้อนเวลากลับไปเข้าใจบริบท อารมณ์ ความรู้สึกของคนไทย ช่วงเวลานั้นกัน
คณะผู้วิจัยได้ศึกษาในเชิงปริมาณและเนื้อหาผ่านปริมาณคำที่ได้รับการจัดกลุ่มผ่านสัญลักษณ์ Hashtag (#) ตั้งแต่ 12-17 ตุลาคม 2559 พบว่า Engagement (การนับไลค์ การคอมเม้น การแชร์ เห็นข้อมูลแล้วมีปฏิกิริยากับสิ่งนั้น) มากสุดวันที่ 14 ตุลาคม 2559 ขึ้นถึงระดับหลักล้านข้อความ
ส่วนกลุ่มคำที่มีการติด Hashtagในโซเชี่ยวมีเดียจะถูกใช้กันเพื่อกำหนดเป็นหัวเรื่องสำคัญว่า ที่พูดกันยาวๆ เรากำลังพูดถึงเรื่องอะไรอยู่ หากมีการพูดซ้ำ Hashtag จะกลายเป็นประเด็น ซึ่งมีการติด Hashtag ที่กระโดดชัดเจน ระหว่างวันที่ 12-17 ตุลาคม 2559 คือ
1. #ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป
2.#ฉันเกิดในรัชกาลที่ 9
3.#อยากเก็บโพสต์นี้ไว้ในความทรงจำและการแจ้งเตือนไปทุกปี
4.#เรารักในหลวง
5.#longlivetheking
“#ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 12-13 ตุลาคม 2559 มาปรากฏจริงๆ วันที่ 15-16 ตุลาคม 2559 และ#ฉันเกิดในรัชกาลที่ 9 ปรากฏวันที่ 14 ตุลาคม 2559 ซึ่ง Hashtag เปลี่ยนไปสะท้อนอารมณ์ ความรู้สึกและจิตใจของคนไทยช่วงนั้น” ผศ.พิจิตรา กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของบทสนทนาในสื่อสังคมออนไลน์แบ่งออกได้ 3 ช่วง
1.ช่วงเกาะติดสถานการณ์ (Wait and see)
ช่วงนี้คนไทยไม่ค่อยกล้าโพสต์อะไร ทำให้ไม่มีปริมาณข้อความที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์มากนัก การเคลื่อนไหวของบทสนทนาในสื่อสังคมออนไลน์จึงมีลักษณะเป็นรูประฆังคว่ำ นับตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2559 เริ่มมีกระแสข่าวลือเกี่ยวกับพระอาการของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยการขอพรให้พระองค์หายจากอาการประชวร
#ขออำนาจคุณรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์และพระสยามเทวาธิราชจงดลบันดาลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหายจากพระอาการประชวรทั้งสิ้นทั้งปวงเทอญ
#ทรงพระเจริญ
ความน่าสนใจวันที่ 12 ตุลาคม 2559 ผศ.พิจิตรา ระบุว่า ไม่มีสื่อกระแสหลักไหนรายงานข่าวดังกล่าว ขณะที่ความเคลื่อนไหวของสังคมออนไลน์มีเพียง 125 ข้อความ ความพีคของข้อมูลเริ่มในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 หลังมีแถลงการณ์จากสำนักพระราชวังอย่างเป็นทางการ ก็จะเห็นปริมาณของการโพสต์ที่เพิ่มขึ้นกว่า 15 เท่าของปริมาณข้อความในวันที่ 12 ตุลาคม 2559
และมาพีคที่สุด คือวันที่ 13 ตุลาคม 2559 Engagement ที่ผ่านมาไลค์ แชร์ คอมเมนต์ พุ่งขึ้นจากประมาณ 43,000 ไปสู่ 1.4 ล้านข้อความอย่างก้าวกระโดด
2.ช่วงขอมีส่วนร่วมและแสดงออก (Emotional Articulation)
ปริมาณเนื้อหาพุ่งสูงสุดในวันที่ 14 ตุลาคม 2559 หลังวันการสวรรคต คนไทยแสดงออกด้วย Messages พุ่งถึง 6,425 ข้อความ อยากโพสต์ อยากบอกความรู้สึกที่มีต่อพระองค์ จากนั้นค่อยๆ ลดลงเมื่อถึงวันทำงานวันที่ 17 ตุลาคม 2559 โดยช่วงนี้จะมีการติด Hashtag ทุกคนพร้อมที่จะโพสต์หมด โพสต์สูงกว่า Engagement การไปแชร์ของคนอื่นมา
“แม้เฟชบุ๊คเป็นแพลตฟอร์มที่คนไทยเข้าไปโพสต์ และใส่ข้อความมากที่สุด แต่วันที่ 14 ตุลาคม 2559 วันที่พีคมากนั้น ตั้งแต่เวลา 8-10.00 น.และเวลา 14.30 น. ซึ่งเป็นเวลาของการเคลื่อนขบวนพระบรมศพ แพลตฟอร์ม อินสตราแกรม ได้รับความนิยมสูงสุด แซงเฟชบุ๊ค โดยมีการนำเสนอรูปภาพ และผู้คนที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชนชั้นกลางถึงสูง และกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้ใช้ในเขตเมือง โดยเนื้อหาที่โพสต์ในช่วงนั้นจะเป็นเนื้อหาที่สะท้อนอารมณ์ ความรู้สึก และแสดงออกซึ่งความห่วงหาที่มีต่อพระองค์ท่านผ่านรูปภาพ”
3.ช่วงระลึกถึง (Consigning to Memory)
อารมณ์ของคนไทยเริ่มคลี่คลายพอสมควร ปริมาณข้อความในช่วงนี้เริ่มลดลง โดยวันที่ 15 ตุลาคม 2559 ปริมาณข้อความลดลงจากวันที่ 14 ตุลาคม 2559 เกือบ 3 เท่า ซึ่งแพลตฟอร์มเฟซบุ๊คกลับขึ้นมาเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุดเช่นเคย
ขณะที่วันที่ 16 ตุลาคม 2559 ข้อความลดลงจากเดิมไม่มาก ซึ่งทั้งสองวันข้างต้นเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ทำให้ปริมาณข้อความโพสต์เท่าๆ กันตลอดวันอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อเข้าสู่วันที่ 17 ตุลาคม 25559 วันทำงานปริมาณข้อความกระจุกวันอยู่ในช่วงเวลา 10.00 น.
อย่างไรก็ตาม ข้อความในช่วงนี้จะมีลักษณะที่คลี่คลายอาการโศกเศร้า แต่ยังรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 อยู่
ทั้งนี้ ผศ.พิจิตรา ฉายภาพที่ Engage สูงมาก มีการแชร์ อาทิ ภาพการร่วมไว้อาลัยของประเทศต่างๆ ภาพระลึกถึงพระองค์ ภาพที่ไปอยู่จุดตรงนั้นแล้วแชร์
ส่วนข้อความ ที่พบมากในสื่อสังคมออนไลน์แชร์กัน เช่น ฉันเกิดในรัชกาลที่ 9,ในหลวงไม่ทิ้งประชาชน, 9 คำพ่อสอน, ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป
เหล่านี้เป็นเนื้อหาที่คนไทยยังจดจำพระองค์ท่านอยู่ โดยเฉพาะภาพครอบครัวพระองค์ท่าน
“วันนี้สามพระองค์คงประทับร่วมกันยังสรรคาลัยแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบบังคมทูลลาส่งเสด็จสวรรคต”
รวมถึง ภาพของเช้าวันแรกในแผ่นดินรัชกาลที่ 10 โดยมีการติด Hashtag ข้อความให้กำลังใจ #พ่อไม่อยู่แล้วแม่ต้องเข้มแข็ง
ซึ่งดร.แมททิว หนึ่งในนักวิจัย มองว่า แพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ทำหน้าที่แทนสื่อกระแสหลัก (จอดำ) ในช่วงสภาวะวิกฤติทางจิตใจของคนไทย และงานวิจัยชิ้นนี้ยังได้เห็นผู้คนมีความระมัดระวังการโพสต์ โดยการใช้คำที่เหมาะสมในช่วงเวลาดังกล่าว เรียกว่า สื่อสังคมออนไลน์มีการให้แบบแผน (pattern) กับการนำเสนอข่าวที่สำคัญที่สุดของประเทศ
“คนใช้อินสตราแกรม หรือไอจี 7 ล้านคน ขณะที่เฟชบุ๊ค 44 ล้านคน แต่กลายเป็นว่า วันที่ 14 ตุลาคม 2559 ไอจีกลับมีบทบาทนำ อาจเป็นเพราะคนเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์เป็นคนในเมือง เข้าถึงเทคโนโลยีได้มากกว่า และเรายังพบว่า Online Influencer กลายเป็นฮับ หรือศูนย์กลางกระจายข่าว ส่งสาร ซึ่งไม่จำกัดแต่สื่อกระแสหลักเท่านั้นแล้ว”
สุดท้าย รศ.ดร.สุเนตร ชุติธรานนท์ นักประวัติศาสตร์จากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จุฬาฯ ระบุถึงข้อเด่นของงานวิจัยชิ้นนี้ที่ใช้ DATA ในการศึกษาบทสนทนาในสื่อสังคมออนไลน์ช่วงเวลาเศร้าโศก ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นทางการ มีลักษณะเฉพาะ มีความหลากหลาย สามารถสะท้อนความคิดของคนไทยกลุ่ม Urban Middle Class ได้ ซึ่งสื่อสังคมออนไลน์ได้ทำให้คนตัวเล็กตัวน้อย มีที่ยืนที่จะแสดงจุดยืนของตัวเองออกไป พร้อมกับการเข้ามาเติมเต็มความเข้าใจเหตุการณ์การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เป็นอย่างดี...