ภาคประชาสังคมหนุนไทยทำตามแผนยกเลิกโทษประหารชีวิต
แอมเนสตี้และเครือข่ายหนุนรัฐบาลยกเลิกโทษประหารชีวิตตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในเวทีโลก เนื่องในวันยุติโทษประหารชีวิตสากล ระบุไทยใกล้เป็นประเทศยกเลิกโทษประหารตามเกณฑ์ของ UN
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมที่รณรงค์เพื่อยุติโทษประหารชีวิตแถลงสนับสนุนรัฐบาลไทยให้ปฏิบัติตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 เพื่อนำสู่การยกเลิกโทษประหารอย่างเป็นระบบในอนาคต ตลอดจนยึดคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในการพิจารณาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UPR) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา ว่าจะเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต
แถลงการณ์ฉบับนี้มีขึ้นเนื่องใน “วันยุติโทษประหารชีวิตสากล” ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี เครือข่ายรณรงค์เพื่อยุติโทษประหารชีวิตซึ่งนำโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยืนยันว่าแนวความคิดที่อ้างว่าโทษประหารชีวิตสามารถช่วยป้องกันอาชญากรรมและคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียหายและครอบครัวได้นั้นไม่เป็นความจริง โดยปัจจุบัน ไม่มีหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่าโทษประหารชีวิตมีส่วนช่วยป้องกันอาชญากรรมได้ งานวิจัยมากมายทั่วโลกพบว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอาชญากรรม
ตามมาตรฐานระหว่างประเทศ โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตเป็นความรุนแรงประเภทหนึ่งที่โหดร้าย ป่าเถื่อน ไร้มนุษยธรรม และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การยอมรับการประหารชีวิตเท่ากับรัฐส่งเสริมให้คนในสังคมใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงในการประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยื่อของความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วหลายกรณี
ทางเครือข่ายเห็นว่าการใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตกับอาชญากรรมร้ายแรงเป็นโทษที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพเกือบทุกด้านของผู้กระทำผิด ซึ่งถือเป็นการลงโทษที่ได้สัดส่วนและสามารถป้องกันอาชญากรรมได้จริง นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้ประเทศไทยพักการใช้โทษประหารชีวิตเป็นบทลงโทษในคดีต่างๆ ต่อไป
ทั้งนี้ ประเทศไทยใกล้จะเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติแล้ว เนื่องจากไม่มีการประหารชีวิตประชาชนติดต่อกันมาแล้วแปดปี โดยหากไม่มีการประหารชีวิตติดต่อกันครบ 10 ปี สหประชาชาติจะถือว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติทันที ซึ่งถือเป็นพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของไทย